สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประจานขายข้าวขาดทุน ชาวนารับเคราะห์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

หากเกาะกระแสโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยามนี้ หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าจาก 1.2 หมื่นบาทต่อตันหรือไม่ ในขณะที่ทีมงานของ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเดินหน้าลุยตรวจสต๊อกข้าว 2,506 จุดทั่วประเทศ เป็นการตรวจสอบ “รวดเดียว” รู้ผลในวันเดียวในวันที่ 27 มิ.ย.นี้

ทว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ “ส่อทุจริต” สุดท้ายชาวนาต้องรับเคราะห์กรรมถูกลดราคารับจำนำข้าวเหลือ 1.2 หมื่นบาท ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ไม่มีทางลดลงตามราคารับจำนำข้าว เช่นเดียวกับฐานะการคลังและกระเป๋าเงินของประเทศที่อ่อนยวบลง เพราะผลการขาดทุนจากโครงการ

แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะประเด็นการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าตลาดเป็นเงิน หลายหมื่นล้านบาท ทั้งในรูปแบบ “จีทูจีเก๊” และทำ “ข้าวถุงล่องหน” ซึ่งเงินก้อนโตกระเด็นหล่นกระเป๋าขบวนการพ่อค้านักการเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงหลักฐานใบเสร็จการขายข้าวขาดทุน ต้องยกความดีความชอบให้อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มี สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่คลี่เงื่อนปมผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก “ปีแรก” ที่ปรากฏผลขาดทุนรวม 136,896 ล้านบาท

เพราะภายใต้การตรวจสอบของวราเทพ และอนุกรรมการฯ อคส.และ อ.ต.ก.รายงานหนังสือที่มีความสำคัญ 2 ฉบับ ที่ชี้ให้เห็นว่า กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการรับ จำนำข้าวขาดทุนย่อยยับ กระทั่งไม่มีเงินมาหมุนเวียนใช้ในโครงการรับจำนำข้าว สุดท้ายภาระกรรมทั้งมวลจึงไปตกอยู่กับชาวนา

ได้แก่ หนังสือ อคส. เลขที่ 1082/3374 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2556 และหนังสือ อ.ต.ก. เลขที่ กษ. 2215/2807 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2556 ซึ่งมีการรายงานปริมาณข้าวสารที่เข้าโครงการในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/2556 ณ วันที่ 31 ม.ค. 2556 ตั้งแต่ประเภทข้าว ปริมาณข้าว ปริมาณข้าวที่ขายและสต๊อกคงเหลือ

แม้ว่าวราเทพสรุปตัวเลขผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเพียง 2 ฤดูกาล คือ นาปี 2554/2555 และนาปรัง 2555 โดยระบุเฉพาะ “มูลค่าข้าวที่ระบายไปมีจำนวน 59,141.31 ล้านบาท” โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ต่อสาธารณชน สามารถรู้ได้จากการถอดรหัสจากรายงานของ อคส.และ อ.ต.ก.ทั้งสองฉบับนี้

นั่นก็คือ มีการรายงานว่า ณ วันที่ 31 ม.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 และนาปรัง 2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 21.79 ล้านตัน และสีแปรเป็นข้าวสารได้ 13.42 ล้านตัน เป็นข้าวสารในโกดังของ อคส. 10.17 ล้านตัน และเป็นข้าวสารในโกดัง อ.ต.ก. 3.35 ล้านตัน

อคส.และ อ.ต.ก.ได้ระบายข้าวออกทั้งสิ้น 3.809 ล้านตัน เหลือข้าวสารในสต๊อก 9.61 ล้านตัน

ผลการระบายข้าวปรากฏว่าข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์ระบายออกไป 3.809 ล้านตันนั้น แยกเป็นข้าว 4 ประเภทหลัก คือ ข้าวสาร 5% และข้าวสาร 10% ปริมาณรวม 2,277,874.59 ตัน ข้าวหอมมะลิ 558,562.68 ตัน ปลายข้าวหอมมะลิ 319,350.61 ตัน ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ 503,127.88 ตัน และข้าวอื่นๆ 1.5 แสนตัน

เมื่อนำประเภทข้าวและปริมาณข้าวที่ขายออกไป “คูณ” ราคาขายส่งข้าว ณ ตลาดกรุงเทพฯ เฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งพบว่าข้าวสาร 5% ราคาเฉลี่ย 1.51.53 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 3.253.3 หมื่นบาทต่อตัน ปลายข้าวหอมมะลิ 1.61.63 หมื่นบาทต่อตัน และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ 1.41.45 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวอื่นๆ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน

หากอ้างอิงจากราคาตลาด ณ ราคา “ต่ำสุดของช่วงราคา” ข้าวสาร 3.809 ล้านตัน จะมีมูลค่าข้าวตามราคาตลาด 67,724 ล้านบาท

และหากนำมูลค่าข้าวในตลาดมาเปรียบเทียบข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน วราเทพ ว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. 2556 มูลค่าข้าวที่ระบายออกอยู่ที่ 49,908 ล้านบาท ก็เท่ากับว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่ามูลค่าตลาด 17,834 ล้านบาท

แต่หากอ้างข้อมูลของอนุกรรมการปิดบัญชี ที่ระบุมูลค่าข้าวที่ระบายออกอยู่ที่ 59,141.31 ล้านบาท ก็เท่ากับว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่ามูลค่าตลาด 8,582 ล้านบาท

สรุปแล้วการขายข้าวสารเพียง 3.809 ล้านตัน กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวขาดทุนระหว่าง 8,58217,834 ล้านบาท หรือ 2,2004,600 บาทต่อตัน หากกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวสารที่เหลือในสต๊อก 9.61 ล้านตัน หรือคิดเป็นปริมาณข้าวสาร 2.5 เท่าของข้าวสารที่ขายออกไปแล้ว โดย “ตั้งใจ” ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดเช่นนี้

ผลการขาดทุนที่เกิดจากการ “ขายข้าว”ในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 36 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ หากคำนวณจากข้าวเปลือกที่รัฐบาลรับจำนำข้าวมาจนถึงวันที่ 6 มิ.ย. ที่พบว่ามีข้าวเปลือกเข้าโครงการทั้งสิ้น 40.28 ล้านตัน แปรสภาพเป็นข้าวสารได้ประมาณ 24.16 ล้านตันข้าวสาร ก็เท่ากับว่า 2 ปี ของโครงการรัฐบาลจะมีผลขาดทุนจากการขายข้าวอย่างต่ำก็ 5.3 หมื่นล้านบาท และสูงสุด 1.1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

แต่คงไม่ต้องไปไกลถึงขั้นนั้น เพราะลำพังการขายข้าวสารในช่วง 1 ปีครึ่งของโครงการ ก็พบว่าเงินที่กระทรวงพาณิชย์ส่งคืนกระทรวงการคลังอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท นั่นเพราะข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รวบรวมผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเสนอครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน

พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 มีการระบายข้าวจนถึงเดือนมี.ค.2556 เป็นเงินเพียง 76,001 ล้านบาท และคาดว่าจนถึงเดือนก.ย.2556 จะมีการระบายข้าวเป็นเงิน 73,082 ล้านบาท รวมแล้วจะมีเงินที่คาดว่าจะได้จากการขายข้าว 1.47 แสนล้านบาท

คิดเป็นไม่ถึง 1 ใน 3 ของเงินที่ใช้หมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ส่งเงินคืนคลังแล้ว 1.3 แสนล้านบาท และบังเอิญว่าสิ่งที่ บุญทรง พูดนั้นเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะแม้จะมีการส่งเงินคืนคลัง 1.3 แสนล้านบาท แต่เป็นการขายข้าวตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่สำคัญไม่ระบุปริมาณและชนิดข้าวที่ขายไปเช่นเดิม

นั่นเพราะมีความลับที่ซ่อนไว้เกี่ยวกับประเด็น “ขายข้าวขาดทุน” ให้ต้องคลี่คลายปม เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ให้เงินที่ได้จากการระบายข้าวไหลเข้ามาหมุน เวียนรับจำนำข้าวได้ไม่ทันการณ์ นอกจากการคำอธิบายที่ว่าขายข้าวไม่ได้ เพราะค่าเงินบาทแข็งค่า

ไล่ตั้งแต่การจัดทำโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงราคาถูกขายให้ประชาชน กระทรวงพาณิชย์บอกว่าได้ขายข้าวสารจำนวนไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านตัน ในราคาส่วนลด 50% เพื่อนำมาทำข้าวถุงราคาถูกช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าครองชีพ หากนั่นเป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าขายข้าวขาดทุนเพื่อช่วยประชาชน “ฟังแล้วอาจดูเข้าที”

แต่เมื่อคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้มีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เป็นประธานอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาล และลงไปพื้นที่ตรวจสอบโครงการข้าวถุงราคาถูกของกระทรวงพาณิชย์ กลับพบว่ามีพฤติกรรมพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต

โดยเฉพาะมีการยักยอกข้าวสารราคาถูกไปขายต่อให้พ่อค้าในตลาด โดยข้าวสารราคาถูกที่อนุมัติในโครงการ 2.5 ล้านตัน แต่ไปถึงมือประชาชนจริงๆ เพียง 5 แสนตันเท่านั้น

“อคส.ขายข้าวตันละ 7,625 บาทเพื่อนำไปทำข้าวถุงราคาถูก แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ ตรวจพบสิ่งผิดปกติ เพราะข้าวถึงมือประชาชนเพียง 510% และเราก็พบข้อมูลพอสันนิษฐานได้ว่าข้าวจำนวนที่หายไป ถูกนำไปขายในราคาตลาดตันละ 14,500 บาท รับส่วนต่างตรงนี้ไป 6,875 บาทต่อตัน”ปราโมทย์ วานิชชานนท์ อนุกรรมการฯระบุ

และที่สำคัญการขายข้าวถุงราคาถูก (ข้าวสาร 5 กิโลกรัม ราคา 70 บาท) อคส.ขายข้าวให้ที่ 7,625 บาทต่อตัน แต่มีการแอบนำข้าวสารไปขายต่อในตลาดที่ราคา 1.41.5 หมื่นบาทต่อตัน พบว่ามีส่วนต่าง 1.51.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าเงินส่วนต่างตกอยู่ในกระเป๋าใครบ้าง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวนาและประชาชนทั่วไป

เช่นเดียวกับการขายข้าวสารแบบจีทูจีที่ บุญทรง ระบุว่า ได้ทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีไปแล้ว 7 ล้านตัน ทางอนุกรรมการฯ เรียกผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลพบว่าในปี 2555 ที่ไทยส่งออกข้าว 6.9 ล้านตัน ไม่มีใบอนุญาตส่งออกข้าวจีทูจีแม้แต่สัญญาเดียว

นั่นเท่ากับเป็นการชำแหละแผลเก่าตอกย้ำข้อกล่าวหากรณีขายข้าว “จีทูจีลวงโลก” ที่มีพ่อค้านักการเมืองเข้ามากินส่วนต่างจากขายข้าวแบบจีทูจีราคาถูกๆ หรือเรียกกันว่า “ราคามิตรภาพ” ที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเดี๋ยวจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประหนึ่งยอมขายข้าวขาดทุนเพื่อคนชาติอื่น

เงื่อนปมการขายข้าวขาดทุนเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ “สภาพคล่อง” หรือเงินทุนหมุนเวียนหายไปกระทั่งรัฐบาลไม่มีเงินหมุนเวียนมาต่อ “ลมหายใจ” โครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลที่ 4 หรือนาปรัง 2556

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าคิดต่อคือ การที่รัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกจาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน จะส่งผลให้ราคาข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์ขายได้จะต่ำเตี้ยลงอีก ซึ่งนั่นจะทำให้การขาดทุนจากการขายข้าวพอกพูนขึ้นอีก ส่วนจะขาดทุนเท่าไหร่ยังประเมินไม่ได้ แต่เชื่อว่าตัวเลขจะสูงอย่าง “น่ากลัว”

“วันนี้รัฐบาลมีข้าวสารในมือประมาณ 18 ล้านตัน ไม่ต่างกับระเบิดเวลา (time bomb) เพราะเก็บข้าวไว้นานๆก็จะมีค่าเสื่อม และเมื่อผู้ซื้อข้าวรู้ว่าไทยจะต้องระบายข้าวออกมาแน่ ก็จะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง” สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สถาบันคลังสมองแห่งชาติ ประเมิน

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเดินหน้ารับจำนำข้าว‌เปลือกที่ราคาเท่าใด หากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ‌ชินวัตร ไม่จัดการกับขบวนการโกงทั้งระดับโรง‌สีและการระบายข้าว ก็อย่าหวังว่าชาวนา|จะลืมตาอ้าปากได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประจาน ขายข้าวขาดทุน ชาวนารับเคราะห์

view