สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใครอาสาช่วยลดคอร์รัปชันบ้าง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา



เมื่อวาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ลงนามบันทึกข้อตกลง

"การปฏิบัติและประสานงานการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือพยาน" ระหว่าง ป.ป.ช.กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงมีเป้าหมายหลักที่จะขอความร่วมมือในการให้ความคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2554 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดแนวทางปฏิบัติการคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ดูแล้วเป็นเรื่องยิ่งใหญ่พอสมควรกับการลงนามครั้งนี้

งานนี้ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.บอกชัดว่า "ภารกิจงานคุ้มครองช่วยเหลือพยาน" ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำเรื่องการคุ้มครองพยานมาอยู่ในกฎหมาย ป.ป.ช.โดยครอบคลุมถึงผู้กล่าวหา ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้แจ้งเบาะแสและผู้เสียหาย

รูปแบบการคุ้มครองพยาน แน่นอนต้องปกปิดชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หรือข้อมูลอื่นที่ระบุตัวพยานได้ หากมีความจำเป็นอาจต้องหา "เซฟเฮาส์" ให้อยู่ จะไม่มีการเปิดเผยตัวพยานในชั้นศาลพร้อมให้เบิกความผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ มีสิทธิ์ได้รับรางวัลนำจับเป็นกรณีพิเศษจากทางราชการ

ส่วนบุคคลที่ร่วมกระทำความผิด ป.ป.ช.สามารถกันไว้เป็นพยานได้ หาก "กลับใจ"ให้ข้อมูลต่อป.ป.ช. โดยจะคุ้มครองให้ความปลอดภัยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ถือเป็นกระบวนการพิเศษสุด ไม่มีระบบไหนในประเทศไทย และนี่คือความพยายามของ ป.ป.ช.ที่จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น

นับวันเราจะเห็นปัญหาคอร์รัปชันแพร่กระจายไปทั่วทุก "หัวระแหง" แต่ที่น่าคิด ล่าสุด สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้นำเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "สถานการณ์ทัศนคติอันตรายของสาธารณชนคนไทยว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย" โดย น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์

สิ่งที่น่าเป็นห่วง แนวโน้มทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชน ว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันถ้าตนเองได้ประโยชน์ ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ร้อยละ 65.5 เดือนมี.ค. และร้อยละ 65 เดือน มิ.ย.

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ยังคงยอมรับได้กับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย เป็นผลสำรวจที่สอดคล้องกันตลอดการสำรวจตั้งแต่เดือน พ.ย. 2554 จนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้น หากสิ่งที่ ป.ป.ช.กำลังจะดำเนินการกับ "ภารกิจงานคุ้มครองช่วยเหลือพยาน" หวังว่าจะเป็นสิ่งที่ดี นำไปสู่การที่กลุ่มคนหรือบุคคลจำนวนไม่น้อย กล้าที่จะเป็นตัวแทนให้กับสังคม ช่วยกันตรวจสอบหรือชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสมคบกันคอร์รัปชันในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนสมรู้ร่วมคิดกับหน่วยงานรัฐ

หวังว่าภารกิจของ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ น่าจะมีส่วนช่วยลดละการคอร์รัปชันลงไปได้บ้าง และเชื่อว่าหากทุกฝ่ายมองเห็นประเทศชาติเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ ป.ป.ช.คิดค้นเรื่องการคุ้มครองช่วยเหลือพยานขึ้นมา น่าจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น ลูกหลานก็จะไม่มีความเชื่อผิดๆ ว่า การทุจริตเป็น "เรื่องปกติ" และงบประมาณที่ใช้ในการรณรงค์ต้านทุจริตก็คงไม่ต้องใช้กันมากมาย หากคนในสังคมต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง

ขอเอาใจช่วยกับสิ่งดีๆ ที่ ป.ป.ช. กำลังจะดำเนินการอยู่ ขอให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยากผู้คนในสังคมช่วยกันแจ้งเบาะแส สิ่งที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชัน

เอาง่ายๆ ตอนนี้ใครก็ตาม ที่มีข้อมูลความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ในส่วนราชการ แจ้งมากันเลย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ หน่อยเถอะ...


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใครอาสาช่วย ลดคอร์รัปชัน

view