สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) (2): พฤติกรรมทางการเงินของคนไทย

ความรู้เรื่องทางการเงิน” (financial literacy) (2): พฤติกรรมทางการเงินของคนไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วพูดถึงหลักคิดและวิธีวัดระดับ “ความรู้เรื่องทางการเงิน” เบื้องต้น วันนี้มาดู “พฤติกรรมทางการเงิน” ของคนไทยกันบ้าง

ผู้เขียนโชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย “การเข้าถึงบริการทางการเงิน” (financial inclusion) ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นแม่งาน งานวิจัยนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2013 แต่อยากหยิบเอาข้อค้นพบบางประการจากงานวิจัยเชิงคุณภาพในโครงการนี้มาเล่าสู่กันฟังก่อน

วิธีวิจัยเชิงคุณภาพของเราคือส่งทีมวิจัยและนักศึกษาไปลงพื้นที่ 4 จังหวัด และกรุงเทพฯ สัมภาษณ์ประชาชนกว่า 1,200 คน โดยมุ่งสำรวจความต้องการ ปัญหา อุปสรรค และความรู้ทางการเงินของกลุ่มคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงการเงินกระแสหลัก คือระบบธนาคารพาณิชย์

คนไทยที่ไปสัมภาษณ์นั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่ชาวเขาเผ่าลีซูและอาข่าที่ปลูกกาแฟบนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ชาวนาจังหวัดชัยนาท แรงงานรับจ้างในศรีสะเกษ ชาวมุสลิมรายได้น้อยในชนบทนครศรีธรรมราช แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มนุษย์เงินเดือน ไปจนถึงพนักงานขายบริการทางเพศในซอยพัฒน์พงศ์ กรุงเทพฯ

ข้อค้นพบบางประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “พฤติกรรมทางการเงิน” ของคนไทยมีดังต่อไปนี้

1. ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่เป็น “ปัญหา” คือประเภทที่เกิดกะทันหัน และอาศัยทุนทางสังคมไม่ได้

ชีวิตของคนไทยไม่ว่าจะรวยหรือจนมีภาระทางการเงินก้อนใหญ่คล้ายกัน ต่างกันที่ศักยภาพและความพร้อมในการรับมือ คนจนพูดแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุฉุกเฉินทางสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุร้ายแรง หรือล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นภาระทางการเงินก้อนใหญ่ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษา โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐช่วยแบ่งเบาภาระได้ก็จริง แต่ถ้าหากผู้ป่วยอาการหนักหรือญาติอยากให้หายเร็ว (และใครเล่าจะไม่อยากให้ผู้เป็นที่รักหายป่วยไวๆ) ก็ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือบริการนอกขอบเขตของประกันสุขภาพอยู่ดี ในเมื่อการรักษาพยาบาลคุณภาพดีนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ใช่ธรรมเนียมประเพณีอย่างงานแต่งงานที่จะเรี่ยไรเงินจากคนรู้จักได้ ผู้มีรายได้น้อยซึ่งมักไม่มีเงินเก็บจึงมักจะต้องไปกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ

เหตุฉุกเฉินทางสุขภาพเป็นภาระทางการเงินที่หนักมากสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะไม่เพียงแต่เกิดกะทันหันและต้องหาเงินมารักษาเท่านั้น แต่ญาติๆ ยังต้องเสียเวลามาเยี่ยมไข้หรือดูแลคนป่วย เสียเวลาเท่ากับเสียรายได้ เพราะคนจนมักไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนที่รายได้ไม่ขาดในช่วงลาป่วย แต่มีรายได้เฉพาะวันที่ทำงาน นอกจากนี้ประกันสุขภาพของรัฐก็ยังไม่ครอบคลุมคนไทยที่ไร้สัญชาติ อย่างเช่นแรงงานต่างด้าว ชาวเขา และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ส่งผลให้ภาระด้านนี้ใหญ่มากสำหรับพวกเขา

ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่เราอาจคิดว่าเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนจน อาทิ การสร้างบ้าน การจัดงานแต่งงาน งานบวช และงานศพนั้น พวกเขามองว่าแท้จริงไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ผู้จัดสามารถวางแผนเองล่วงหน้า ยกเว้นงานศพ อีกทั้งปรับขนาดและรูปแบบให้เข้ากับฐานะทางการเงินได้ (“แค่ผูกข้อมือให้ลูกก็พอแล้ว ไม่ต้องจัดงานใหญ่โตมากมาย”) เช่น รอให้เก็บเงินค่าสินสอดได้พอถึงจะไปสู่ขอ หรือเวลาสร้างบ้านก็ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นไปก่อน ใช้แรงงานตัวเองแทนที่จะจ้างผู้รับเหมา เป็นต้น

สำหรับงานศพ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดกะทันหันพอๆ กับเหตุฉุกเฉินทางสุขภาพ และญาติผู้ตายก็อยากจัดให้สมศักดิ์ศรี เพราะ “เป็นสิ่งสุดท้ายที่คนเป็นจะทำให้กับคนตายได้” แต่ความที่งานศพไทยเป็นพิธีกรรมสำคัญในศาสนาพุทธ ประกอบกับความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ว่าควรทำดีต่อผู้ตาย จึงทำให้เจ้าภาพมักจะสามารถ “ถอนทุน” คืนจาก “ซอง” ที่แขกนำมามอบให้ในงานศพ นำเงินไปใช้คืนเจ้าหนี้ได้ไม่ยากนัก ซึ่งก็แปลว่าคนมักจะยินดีปล่อยกู้ให้ไปจัดงานศพ (อีกทั้งเจ้าหนี้ก็มักเป็นญาติของผู้ตาย จะบ่ายเบี่ยงไม่ช่วยเหลือก็กระไรอยู่)

“ความยืดหยุ่น” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่า ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่แบบใดที่จะสร้าง “ปัญหา” ให้กับคนจน ถ้าเป็นภาระที่เกิดอย่างกะทันหันและใช้ทุนทางสังคม (เช่น ความเป็นญาติกับผู้ตาย) ไม่ได้ เหตุการณ์นั้นก็อาจสร้าง “ปัญหา” ทางการเงินได้

2. หนี้ที่สร้าง “ปัญหา” จริงๆ คือหนี้ที่กำหนดยอดชำระสูง และเงินต้นไม่ลดลงระหว่างทาง

ผู้บริโภคทุกคนที่ใช้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์เป็นประจำคุ้นเคยกับการชำระหนี้แบบ “ลดต้นลดดอก” (เงินทุกงวดที่จ่ายนั้นส่วนหนึ่งลดยอดเงินต้น อีกส่วนจ่ายดอกเบี้ย) จนอาจนึกไม่ถึงว่า ไม่ใช่สินเชื่อทุกแหล่งจะลดต้นลดดอกเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด เงินกู้นอกระบบและแหล่งสินเชื่ออื่นที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยมักเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่ดอกเบี้ยระหว่างทาง ไม่นำไปลดยอดเงินต้นด้วย (ที่จริงลูกหนี้เสียเปรียบกว่านั้นอีก เพราะเจ้าหนี้มักจะหักเงินส่วนหนึ่งตั้งแต่ต้น เช่น ขอกู้ 10,000 บาท เจ้าหนี้ให้มาแค่ 8,000 บาท บอกว่า 2,000 หักไว้เป็นค่า “ดอกเบี้ย”)

ผู้มีรายได้น้อยโดยนิยามคือคนที่ชักหน้าไม่ค่อยถึงหลัง ฐานะการเงินเปราะบางมาก ฟีเจอร์ (feature) ของสินเชื่อที่พวกเขาต้องการที่สุดจึงเป็น “ยอดชำระน้อย” ในแต่ละเดือน “ระยะเวลาผ่อนนาน” และ “ยืดหยุ่น” (เจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ได้เวลาที่ผิดนัดชำระ)

สาเหตุหลักที่คนจนจ่ายหนี้นอกระบบไม่ได้ ไม่ใช่การที่หนี้แบบนี้มีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่คือการที่เจ้าหนี้นอกระบบเรียกร้องให้ชำระคืนเงินต้น รวดเดียวทั้งก้อน เมื่อครบกำหนดชำระ เพราะพวกเขามักจะใช้คืนไม่ได้ พอใช้คืนไม่ได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อ ภาระหนี้พอกพูนทับถมไปเรื่อยๆ

มองในแง่นี้ โครงการ “พักชำระหนี้” ของธนาคารรัฐที่ให้จ่ายแต่ดอกเบี้ย พักจ่ายเงินต้นไว้ก่อน จึงมักสร้างปัญหาในระยะยาว เพราะถ้าธนาคารไม่นำเงินที่จ่ายบางส่วนไปลดยอดเงินต้นด้วย ก็แปลว่าภาระทางการเงินของลูกหนี้จะ เพิ่มขึ้น (เพราะเท่ากับจ่ายดอกเบี้ยนานขึ้น บนยอดเงินต้นเท่าเดิม) - เพิ่มความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะชำระหนี้อยู่ดีไม่ได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ

3. คนไทยจำนวนมากเคยทำบัญชีครัวเรือน แต่ไม่ทำต่อเพราะรู้สึก “เครียด”

เวลาพูดถึง “ความรู้เรื่องทางการเงิน” หลายคนมักพูดถึงการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน ว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการจัดการเงินและสร้างวินัยทางการเงิน พอพูดถึงบัญชีครัวเรือนผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐหรือสถาบันอื่นต้อง “สอน” ให้ชาวบ้านทำบัญชีเป็น ทุกวันนี้ที่ชาวบ้านมีปัญหาก็เพราะไม่บันทึกรายรับรายจ่ายของตัวเอง

งานวิจัยเชิงคุณภาพของโครงการเราพบว่า คนไทยจำนวนมากทำบัญชีเป็น แต่พวกเขา เลือก ที่จะไม่ทำต่อหลังจากทำไป 1-2 เดือน กลุ่มตัวอย่างราวหนึ่งในห้าบอกว่า พวกเขารู้สึก “เครียด” ที่เห็นรายจ่ายยาวเป็นหางว่าวมากกว่ารายได้ จำนวนน้อยกว่านั้นรู้สึกว่าตัวเองมี “รายได้ไม่แน่นอน” เลยไม่อยากบันทึก “มองไม่เห็นประโยชน์” ของการบันทึก หรือไม่ก็รู้สึก “ขี้เกียจ” ทำต่อ คนจำนวนน้อยที่จดบันทึกบอกว่า ทำไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง วางแผนการใช้จ่ายสำหรับเดือนหน้า และกันเงินบางส่วนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่รู้กำหนดจ่ายล่วงหน้า อย่างเช่นค่าเทอมลูก

พฤติกรรมทางการเงินเหล่านี้มีความหมายอะไร สำคัญอย่างไรต่อการออกแบบโครงการ “ให้ความรู้ทางการเงิน” ที่ได้ประสิทธิผล?

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความรู้เรื่องทางการเงิน financial literacy พฤติกรรมทางการเงิน คนไทย

view