สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มัดมือชกเซ็นสัญญาลงทุนน้ำ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

งานนี้ต้องเรียกว่าดันกันสุดลิ่ม ไม่สนเสียงค้าน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หน้าอินทร์หน้าพรหม สำหรับการเดินหน้าเซ็นสัญญาลงทุนโครงการน้ำ 9 แผนงาน (โมดูล) มูลค่า 2.84 แสนล้านบาท

ล่าสุด พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีการบริหารจัดการน้ำ ส่งสัญญาณไปยังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ว่า สัญญาจ้างเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกโครงการน้ำ 4 ราย สามารถเซ็นสัญญาได้ทันทีที่ยกร่างสัญญาแล้วเสร็จใน 3 เดือน

ไม่จำเป็นต้อง “รอ” ให้การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สำเร็จลุล่วงเสียก่อน

“การยกร่างสัญญาจะทำให้เสร็จใน 3 เดือน จากนั้นจะลงนามสัญญากับ 4 กลุ่มบริษัท” พงศ์เทพ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. พร้อมระบุสาเหตุที่ต้องเร่งเซ็นสัญญาว่าเนื่องจากจะครบกำหนดตามกรอบเวลาการ กำหนดเพดานราคาก่อสร้างสูงสุด (จีเอ็มพี) ที่ กบอ.ได้ตกลงราคาโครงการทั้ง 9 โมดูลกับเอกชน

แต่นั่นน่าจะสมประโยชน์ทั้งฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเอกชนทั้ง 4 ราย คือ เควอเตอร์ จากเกาหลีใต้ กลุ่ม ITDPOWER CHINA JV กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์เอจีที และกลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

เนื่องด้วยฝ่ายรัฐบาลเองต้องการให้การลงทุนโครงการน้ำเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะติดเครื่องยนต์การลงทุนของภาครัฐในการขับ เคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนยวบ อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบริโภคระยะสั้นสิ้นฤทธิ์

ขณะที่เงินกู้ที่จะใช้ในโครงการก็เตรียมพร้อมทั้ง 100% แล้ว รอเพียงการเบิกจ่ายเท่านั้น

เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการ “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกู้เงินสำหรับโครงการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ในปีงบประมาณ 2556” จำนวน 6 ฉบับ ไว้ในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้ พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามสัญญากู้เงินกับ 4 ธนาคาร ไม่เป็นอุปสรรค

ส่วนฝั่งเอกชนเองเร่งวันเร่งคืนให้มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโดยเร็ว โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน กบอ.ได้เรียกเอกชน 4 รายเข้าไปหารือที่ทำเนียบฯ แว่วว่าคุยเรื่องการยกร่างสัญญา

งานนี้ติดเพียงคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่สั่งให้การลงทุนโครงการน้ำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แต่นั่นก็เท่ากับว่าศาลปกครองได้เสนอ “ทางลง” ให้รัฐบาลแล้ว แต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเลือกทางเดินที่เร็วกว่านั้น

นั่นเพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 สัปดาห์ก่อน พงศ์เทพ ยืนยันใน ครม.ว่า การเซ็นสัญญากับเอกชน 4 ราย สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอจนกระทั่งผลการศึกษาอีไอเอและเอชไอเอแล้วเสร็จ เพราะในทีโออาร์คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการน้ำมีการกำหนดให้มีการทำ อีไอเอและเอชไอเออยู่แล้ว

พงศ์เทพ ระบุใน ครม.ว่า ได้รับการเสนอแนะจาก ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพิจารณาคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการน้ำ ที่บอกว่า หากทำอีไอเอและเอชไอเอ “ไม่ผ่าน” ก็สามารถเขียนไว้ใน “เงื่อนไขสัญญา” ให้โครงการนั้นมีอันต้องล้มเลิกไปได้ โดยที่เอกชนไม่ติดใจเอาความได้

แต่เมื่อเอกชนได้เซ็นสัญญาไปแล้ว มีหรือที่โครงการลงทุนจะไม่ผ่านอีไอเอและเอชไอเอ เพราะโครงการก่อสร้างได้ปักธงไว้ล่วงหน้าแล้ว และที่สำคัญหากบางโครงการทำอีไอเอ เอชไอเอ ไม่ผ่านจริงๆ ก็เป็นอันว่ารัฐบาลต้องเสียค่าโง่ไปฟรีๆ เพราะเงื่อนไขทีโออาร์จ้างเอกชนกำหนดให้เอกชนเบิกค่าออกแบบก่อสร้างล่วงหน้า 5% ของวงเงินค่าออกแบบ

นอกจากนี้ การแบ่งงานรองนายกฯ ล่าสุด ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ และประธาน กบอ. ก็ยังนั่งตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไปอีก เชื่อว่างานนี้ “สั่งได้” แม้ว่านั่นอาจทำให้การพิจารณาโครงการมีข้อเคลือบแคลงสงสัย

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา หากขุดคลองสายใหม่ผันน้ำลงอ่าวไทย จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดปรากฏการณ์น้ำเค็มรุกแผ่นดิน โดยเฉพาะจากอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละช่วงเดือน และหากปีไหนมีปัญหาน้ำแล้งจนไม่มีน้ำจืดมาผลักดันน้ำเค็ม ปัญหาน้ำเค็มรุกแผ่นดินจะยิ่งหนักหน่วงขึ้นอีก

ขณะที่การขุดลอกแม่น้ำให้ลึกและกว้างขึ้น ตลอดจนการทำผนังกั้นน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม้จะทำให้ลำน้ำกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น แต่จะมีผลกระทบต่อลำน้ำสาขาหรือไม่ ทั้งความเร็วของกระแสน้ำ ตลอดจนผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีผลการศึกษาออกมารองรับ

เช่นกัน ท่ามกลางการเร่งรัดเซ็นสัญญา ปลอดประสพ ลุยพื้นที่เร่งการทำประชาพิจารณ์ โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน แม้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทำแบบ “รวบรัดตัดตอน” ไม่ฟังเสียงคัดค้าน แต่ที่น่าห่วง คือ หากการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่สมเหตุสมผล มีหวังเกิดม็อบทั่วไทย

ขณะที่การลงทุนก่อสร้างโครงการน้ำที่เป็นรูปแบบดีไซน์ แอนด์ บิวด์ หรือออกแบบไปก่อสร้างไป จะทำให้ไม่สามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะทำการศึกษาอีไอเอและเอชไอเอได้ อย่างชัดเจนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าคิด

“ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นว่ามีโครงการใดบ้างที่ทำอีไอเอและเอชไอเอไป พร้อมๆ กับการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งโครงการลงทุนน้ำที่รัฐบาลจะให้เอกชนก่อสร้าง ผมเชื่อว่าการที่รัฐบาลเขามั่นใจว่าเพราะอย่างน้อยก็ต้องมีแบบก่อสร้างเกือบ ทั้งหมดแล้ว” ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ ระบุ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ทีโออาร์กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับจ้างเป็นผู้ศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน โครงการเอง เพราะแม้โครงการลงทุนน้ำเป็นโครงการเชิงสังคมที่ลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำ ท่วม ผลการศึกษาที่ออกมาย่อมมีความเกิดประโยชน์คุ้มค่าเกินความเป็นจริงอย่างแน่ นอน

ดังนั้น การลงเงินลงทุนเกือบ 3 แสนล้านบาท ไปกับค่าอิฐ หิน ปูน ทราย ค่าเวนคืน และค่าดำเนินการจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับหรือไม่ เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการน้ำ อาจเสนอมุมมองจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การคิดและสั่งการแบบบนลงล่างเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่เมื่อรัฐบาลและเอกชนอยากให้โครงการเกิดขึ้นให้ได้ และทำกันแบบมัดมือชกอย่างนี้ การลงทุนที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย

ที่สำคัญโครงการที่ลงทุนไปแล้วอาจก่อปัญหาตามมา ให้รัฐบาลต้องยุ่งยากเป็นลิงแก้แหในอนาคตก็ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มัดมือชก เซ็นสัญญา ลงทุนน้ำ

view