สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

GPF Risk Symposium

GPF Risk Symposium

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา กบข. ได้จัดงาน GPF Symposium 2013

ในหัวข้อ “New Frontier of Risk Management in the Interconnected World” งานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน นักวิชาการและผู้ที่สนใจ รวมทั้งสื่อสารมวลชนหลายแขนงค่ะ
งานนี้ กบข. ได้รับเกียรติจากนักคิดและนักลงทุนสถาบันระดับโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางในการบริหารเงินลงทุน ท่ามกลางภาวะการลงทุนมีความผันผวนสูง และวิกฤติการณ์ทางการเงินต่างๆ เชื่อมโยงถึงกันอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้บริหารจาก บริษัท MSCI ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำและเผยแพร่ดัชนีเทียบวัดการลงทุนรายใหญ่ของโลก ผู้บริหารจากกองทุนระดับโลก คือ PIMCO และ BlackRock รวมถึงผู้บริหารจาก FRM และที่สำคัญที่สุด กบข. ได้รับเกียรติจาก Professor Robert Merton เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 2540 จากแนวคิดเรื่องแบบจำลอง “Black-Scholes-Merton” มาเป็น Keynote Speaker ให้งานครั้งนี้ด้วย
ในการมาประเทศไทยคราวนี้ Prof. Merton ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้เจ้าหน้าที่ กบข. และผู้บริหารกองทุนเป็นการพิเศษ ในหัวข้อ "Meeting the Global Challenge of Funding Retirement" ซึ่ง วันนี้ ดิฉันจึงอยากจะนำข้อคิดที่ได้จากงานสัมมนาและการบรรยายพิเศษมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังกันค่ะ
เรื่องแรก คือ แนวคิดเรื่องการบริหารการลงทุนของกองทุนบำนาญ Prof. Merton เห็นว่า การจัดสำรับการลงทุน (Asset Allocation) แบบ one size fits all คือ มีเพียงสำหรับการลงทุนแบบเดียวสำหรับสมาชิกทุกคน เป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2523 แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นเพียงวิธีการจัดสัดส่วนการลงทุนในขั้นแรก เพราะมีความไม่เหมาะสมในสภาวะที่สมาชิกมีช่วงอายุและความต้องการที่แตกต่างกัน
การจัดสำรับการลงทุนแบบใหม่ จึงต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสมาชิกแต่ละคน คือ อายุ รายได้ที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนไปตามอายุ เช่น แผนสมดุลตามอายุ หรือ Life Path Choice ของ กบข. หรือ แผนทางเลือกการลงทุนสำหรับสมาชิก (Member Investment Choice) สามารถตอบโจทย์นี้ได้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะตลาดลงทุนปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนอย่างมาก Life Path Choice อาจยังไม่เพียงพอ Prof. Merton ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการบริหารการลงทุนเพื่อการเกษียณแนวใหม่ที่น่าสนใจดังนี้
1)ผู้จัดการกองทุนควรให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายการลงทุนโดยคำนึงถึง “รายได้ที่สมาชิกแต่ละคนต้องการเมื่อเกษียณอายุ” หรือ Terminal Wealth มากกว่าจะตั้งเป้าหมายที่ผลตอบแทนรายปี เพราะผลตอบแทนที่ได้แม้จะถูกใจ หรือตรงกับระดับความเสี่ยงที่สมาชิกแต่ละคนคิดว่ารับได้ แต่ก็อาจไม่เพียงพอใช้หลังเกษียณ
2)การบริหารการลงทุน ควรปรับให้เหมาะกับคุณลักษณะของสมาชิกแต่ละคน (Tailor-made) ซึ่งการจัดสำรับการลงทุนที่เปลี่ยนไปตามอายุก็เป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุนของแต่ละช่วงอายุ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินด้วย (Dynamic not Static Life Path)
3)การบริหารการลงทุนเพื่อเกษียณอายุที่ดี ไม่จำเป็นต้องจัดสำรับการลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่มีโอกาสที่ผลตอบแทนติดลบมากเช่นกัน (Symmetric bell curve) ซึ่งผู้จัดการกองทุนใช้กันในปัจจุบัน ในทางกลับกัน การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Asymmetric ถือเป็นทางเลือกใหม่ คือ ยอมสละโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากๆ หากสามารถช่วยลดโอกาส หรือความรุนแรงของการขาดทุนได้ เพราะท้ายที่สุด ยังสามารถสร้างผลตอบแทนสะสมที่ดีที่บรรลุเป้าหมายรายได้ยามเกษียณอายุได้
เรื่องที่สอง คือ แนวทางการบริหารความเสี่ยงการลงทุนแบบใหม่ ภายใต้สภาวะตลาดที่มีความเชื่อมโยงกัน Prof. Merton ได้แสดงผลการคำนวณจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
โดยวิทยากรอีก 3 ท่านที่เข้าร่วมงาน ได้แนะนำเครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับบริหารความเสี่ยงในสภาวะตลาดเงินตลาดทุนที่มีความเชื่อมโยงสูงในอนาคต ได้แก่ การใช้อนุพันธ์ การลงทุนทางเลือกใน Private Market และการลงทุนใน Absolute Return Fund
วิทยากรจาก Blackrock และ PIMCO เห็นว่าการใช้อนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยงการลงทุนมีความจำเป็นในโลกการลงทุนปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น อนุพันธ์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการบริหารและกระจายความเสี่ยง แต่สิ่งที่ตามมาคือการจัดการความเสี่ยงเรื่องคู่ค้า (Counterparty Risk) ที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินการ เนื่องจากต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นด้านการเตรียมระบบและการจัดการข้อมูลด้านอนุพันธ์
อย่างไรก็ตาม PIMCO เห็นว่าแม้ต้นทุนในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น แต่หากทำให้การติดตามและบริหารความเสี่ยงของการใช้อนุพันธ์และการลงทุนทั้งหมดมีประสิทธิภาพขึ้น ต้นทุนโดยรวม (Total Cost) ของพอร์ตน่าจะลดลง
ในส่วนการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ลงทุนทางเลือกใน Private Market เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานและ Private Equity จำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงแตกต่างจากสินทรัพย์ทั่วไป เนื่องจากการลงทุนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเฉพาะตัวแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ และยากที่จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขทางสถิติ
ดังนั้น นักบริหารความเสี่ยงจำเป็นต้องมีการติดตามประเมินความเสี่ยงในหลากหลายมิติ เช่น ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านองค์กร เป็นต้น โดยนักบริหารความเสี่ยงจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขและการวิเคราะห์ไปตามแต่ละประเภทการลงทุน
สำหรับการลงทุนใน Absolute Return นั้น วิทยากรเน้นย้ำว่าการลงทุนประเภทนี้มีคุณลักษณะทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปตามกลยุทธ์การลงทุนย่อย บางกลยุทธ์อาจใช้ความเสี่ยงมาก แต่บางกลยุทธ์ก็มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำมากเช่นกัน นักลงทุนและนักบริหารความเสี่ยงควรมีการแยกการติดตามและควบคุมความเสี่ยงในแต่ละกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกันไปเหมือนกับกรณีการลงทุนทางเลือกใน Private market

ทั้งหมดนี้ คือ แนวคิดในการบริหารการลงทุนท่ามกลางภาวะตลาดที่เชื่อมโยงถึงกัน ดิฉันหวังว่า ทุกความคิดเห็นในงานครั้งนี้จะช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่มีการเชื่อมโยงถึงกันในโลกปัจจุบันค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : GPF Risk Symposium

view