สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าเงินผันผวน ธปท.ทำได้แค่เตือน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทผันผวนต่อเนื่อง แข็งค่าเร็วและอ่อนค่าลงเร็วมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

ประการสำคัญคาดการณ์ยากว่าจะปรับตัวไปในทิศทางใด เพราะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งสองทิศทาง ไม่ว่าจะแข็งและอ่อน หาความแน่นอนไม่ได้

สถานการณ์ค่าเงินบาทขณะนี้ จะเรียกว่า “แล้วแต่ลมจะพา” ก็ไม่ผิดนัก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจากนอกประเทศที่จะมากระทบเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม

ในช่วงต้นปีค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลังเงินทุนต่างชาติไหลเข้าจำนวนมาก บวกกับนักลงทุนกังวลว่าทางการจะออกมาตรการมาดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่งผลกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 28.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยอมรับเองว่า เงินบาทเริ่มแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศแล้ว

แต่พอผ่านไปไม่นานนัก กระแสข่าวภาวะเศรษฐกิจสหรัฐทำท่าจะผงกหัวก็แพร่สะพัด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณ อาจจะเลิกทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเงิน (คิวอี) ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ตลาดการเงินโลกตีความว่า เฟดอาจจะเริ่มทยอยลดคิวอีที่อัดฉีดเงินผ่านการซื้อคืนในตลาดพันธบัตรเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลงในช่วงเดือน ก.ย.ปีนี้ และอาจจะเลิกคิวอีไปเลยภายในปลายปี

จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้เฟดจะยังไม่ได้ประกาศชัดเจน ว่าจะเลิกหรือไม่เลิกมาตรการคิวอี แต่ผลจากการที่นักลงทุนไม่แน่ใจ จึงเกิดภาวะการอพยพเงินทุนระยะสั้นออกจากไทยกลับไปตั้งหลักในประเทศต้น สังกัดอย่างรวดเร็ว

เมื่อสภาพคล่องที่เคยไหลท่วมระบบการเงินในไทยเหือดหาย ผลก็กลับมากดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงพรวดๆ อีกครั้ง รอบนี้อ่อนค่าลงไปแตะระดับ 31.50-31.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียว

ตอนนั้นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร (บอนด์) ออกไปประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จากหุ้น 4-5 หมื่นล้านบาท จากตลาดพันธบัตร 4 หมื่นล้านบาท บวกลบเบ็ดเสร็จยังออกไปน้อยกว่าที่เคยไหลเข้ามา หรือออกไปยังไม่ถึง 1 ใน 3 ที่เคยไหลเข้ามา เพราะสัดส่วนเงินลงทุนของต่างชาติที่ถือในพันธบัตรทุกอายุมีมากถึง 8 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ เงินที่ไหลออกไปจากไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไทยมีถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สถานการณ์ล่าสุดในบัดนาวที่เฟดเริ่มเปลี่ยนท่าที จะไม่เลิกมาตรการคิวอี เพราะสัญญาณการฟื้นของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ชัดเจน เงินทุนต่างชาติที่เคยอพยพหนีจากไทยไปเมื่อไม่นานก็เริ่มไหลกลับมาที่ไทยอีก ครั้ง

รอบนี้ ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. บอกว่า เริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลกลับมาไทยบ้างแล้ว เมื่อ 3-4 วันก่อน แต่ปริมาณเงินไหลเข้ายังไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่กลับเข้ามาในตลาดบอนด์

สาเหตุที่เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาไทยและภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณเลิกหรือไม่เลิกมาตรการคิวอีไม่ชัดเจน บวกกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่าง ประเทศของประเทศไทย มีแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ

แถมธนาคารพาณิชย์ไทยยังได้รับการยอมรับว่ามีความแข็งแกร่ง มีผลประกอบการดีต่อเนื่อง เลยกลายเป็นปัจจัยทำให้เงินทุนต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง

ภาวะเงินทุนไหลกลับระลอกนี้ เริ่มสะท้อนที่การเคลื่อนไหวของเงินบาทเริ่มกลับไปแข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อย หลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

ช้าก่อนนักลงทุนทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ เพราะถึงเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับมา แต่เงินทุนเหล่านี้ก็พร้อมจะไหลกลับออกไปอีก ภาวะความผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็วของค่าเงินบาทในระยะต่อไปถือเป็นความหนักใจ ของ ธปท.ในการดูแล ทำให้ช่วงนี้จะเห็นผู้บริหาร ธปท.ทุกระดับชั้นจะขยาดกับการให้ความเห็นเรื่องทิศทางค่าเงินบาทเป็นอย่าง มาก แต่คน ธปท.จะบอกตรงกันว่า ภาวะค่าเงินบาทตอนนี้จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้ว่าการ ธปท.เองก็เพียรบอกกับนักลงทุนอยู่เสมอเหมือนกับนกแก้วนกขุนทองว่า “ค่าเงินบาทช่วงนี้ผันผวน เพราะเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายไหลเข้าและไหลออกได้ตลอด ค่าเงินบาทเป็นไปได้ทั้งแข็งและอ่อน ฉะนั้นใครที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ขอให้ทำการซื้อป้องกันความ เสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือบริหารความเสี่ยงไว้ให้เรียบร้อย อย่าประมาทว่าทิศทางค่าเงินบาทจะไปในทางใดทางหนึ่งเด็ดขาด”

“เพราะถึง ธปท.จะพยายามดูแลบ้าง แต่ก็คงไม่อยากนำเงินทุนสำรองซึ่งเป็นสมบัติของประเทศชาติมาดูแลค่าเงินบาท แบบฝืนตลาด” ผู้ว่าการ ธปท. ตอกย้ำแนวทางการดูแลค่าเงินบาทตามกลไกตลาด

สรุปแล้วทิศทางค่าเงินบาทที่ผันผวนอยู่ในตอนนี้ คงทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้าทำกำไรจากค่าเงินไม่ได้ เพราะ ธปท.ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าคงเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทจนฝืนตลาด สะท้อนได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในแต่ละสัปดาห์ขึ้นๆ ลงๆ และยิ่งทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทจากนี้ไปมีโอกาสกลับทิศ จากอ่อนเป็นแข็ง จากแข็งเป็นอ่อนได้ตลอดเวลา โดยที่ ธปท.หรือทางการเองก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก งานนี้คงต้องตัวใครตัวมัน!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค่าเงินผันผวน ธปท. ทำได้แค่เตือน

view