สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข็นประกันนาล่มกลบจำนำข้าวล้มเหลว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ถึงตอนนี้การเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาท ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในภาวะเดินหน้าก็ตาย จะถอยหลังก็เสียแต้มทางการเมือง ยิ่งในภาวะขาลง การขยับปรับเปลี่ยนในเรื่องราคาก็จะกระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหาร ประเทศ

โครงการรับจำนำข้าวเดินหน้ามา 2 ปี 4 ฤดูกาลผลิต ใช้เงินกู้ดำเนินโครงการกว่า 6 แสนล้านบาท มีผลขาดทุนในปีแรก 2.6 แสนล้านบาท มีข้าวที่ระบายไม่ได้กองใหญ่นอนเสื่อมสภาพลงทุกวันอีกไม่น้อยกว่า 1718 ล้านตัน เพราะขายไม่ได้เนื่องจากรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดจำนวนมาก

ภาวะใช้เงินท่วมหัวและเกิดความเสียหายก้อนใหญ่ การที่รัฐบาลจะฝืนเดินหน้ารับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาทต่อไป ก็เท่ากับลากประเทศเข้าสู่ภาวะหายนะดีๆ นี่เอง

เนื่องเพราะหากลากยาวออกไป โอกาสที่จะมีการใช้เงินมารับจำนำข้าวจะทะลุ 1 ล้านล้านบาทนั้นสูงยิ่ง ที่สำคัญจะเกิดความเสียหายเพิ่มเป็นทวีคูณจากปัจจุบัน ยังไม่ต้องพูดถึงตลาดข้าวไทย รวมถึงคุณภาพข้าวไทยที่จะตกอยู่ก้นเหวของตลาดข้าวโลก

แต่ทว่าการจะถอยหลังโครงการรับจำนำข้าวก็ยากเย็นแสนเข็ญไม่แพ้การเดินหน้าต่อไป

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเคยหักดิบลดราคาจำนำข้าวจากตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำต่อครัวเรือนไม่เกิน 5 แสนบาท แค่ไม่กี่วันปรากฏว่าเกิดคลื่นต่อต้านจากชาวนาอย่างรุนแรงไม่แพ้คลื่นสึนามิ จนรัฐบาลต้องประกาศถอย ปรับขึ้นราคาจำนำมาอยู่ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท หลังจากปรับลดราคาจำนำได้ไม่ถึง 10 วัน

แม้ว่าชาวนาจะยอมรับเงื่อนไขจำกัดข้าวที่จำนำต่อครัวเรือนไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ชาวนาแทบทุกรายที่อยู่ในโครงการก็เสียความรู้สึก แถมผิดหวังกับการกลับลำของรัฐบาลไม่น้อย

เพราะคำสัญญาว่าจะรับจำนำทุกเมล็ด ที่ปรับมาเป็นรับจำนำข้าวแค่เพียงบางเมล็ดเท่านั้น มันสะเทือนไปทุกหย่อมคะแนนเสียง

ล่าสุด รัฐบาลพยายามโยนหินถามทางการลดราคาจำนำรอบใหม่ให้อยู่ที่ตันละ 13,500 บาท แม้มีเสียงตอบรับจากชาวนาบางส่วนว่ารับได้ แต่ก็มีอีกบางส่วนก็ประกาศชัดว่ารับไม่ได้ เพราะเห็นว่าในเมื่อรัฐบาลผิดคำพูด ไม่รับจำนำทุกเมล็ดอย่างที่หาเสียงไว้แล้วก็ไม่ควรผิดคำพูดซ้ำสอง มาลดราคาจำนำข้าวจากที่เคยสัญญาไว้

ภาวะดังกล่าวทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรู้ดีว่าการเดินหน้าโครงการรับจำนำด้วยเงื่อนไขเดิม นอกจากประเทศจะพังแล้ว รัฐบาลจะต้องพังตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือก ต้องหาทางลงโครงการรับจำนำข้าวโดยให้เสียคะแนนทางการเมืองน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยแทรกซ้อน ซ้ำเติมเสถียรภาพการบริหารของประเทศที่อยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

ดังนั้น รัฐบาลจึงหาออปชันมาเสริมในโครงการรับจำนำข้าวเพื่อมัดใจชาวนา ชดเชยกับการที่ต้องหั่นราคารับจำนำ

หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มทำประกันภัยนาข้าวให้กับชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำ

โดยที่รัฐบาลหวังว่า การทำประกันภัยนาข้าวจะมาเติมเต็มในส่วนของราคารับจำนำที่หายไป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นตัวเงินทันทีก็ตาม

เพราะการรับประกันนาข้าวชาวนาจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดผลผลิตเสียหายเท่านั้น

แต่ทว่า การเข็นประกันภัยนาล่มมามัดใจชาวนาให้หายอกหักจากการถูกหั่นราคาจำนำ และการจำกัดปริมาณจำนำจะได้ผลหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่หวังผลไม่ได้ทั้งหมด

เพราะว่าชาวนาส่วนใหญ่อยากได้ราคารับจำนำตันละ 1.5 หมื่นบาท เหมือนเดิม เพราะมีกำไร 40% อยู่ในมือทันที เมื่อเทียบกับราคาต้นทุนที่อยู่ในปัจจุบัน แต่การที่ถูกหั่นราคาจำนำเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท หรือ 13,500 บาท จะทำให้กำไรลดลงเหลือ 2030% เท่านั้น

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาจำนำที่หายไปกับการประกันภัยนาล่มที่รัฐบาลให้มา แทบไม่มีความหมายอะไรกับชาวนาเลย

เพราะหากนาไม่ล่มก็ไม่ได้เงินชดเชย ในทางกลับกัน ก็ไม่มีชาวนาที่ไหนอยากให้นาล่มเพื่อให้ได้เงินประกันชดเชยไร่ละไม่กี่พัน บาท เพราะนอกจากไม่ได้กำไรแล้วยังเข้าเนื้ออีกต่างหาก

ดังนั้น การเข็นประกันภัยนาล่มมาโปะโครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นผลทางจิตวิทยาเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเพิ่มให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น แต่เป็นการช่วยชาวนาให้ขาดทุนน้อยลงหากเกิดปัญหานาล่มจากภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นการลดรายจ่ายของรัฐบาลในการเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่มีภัย ธรรมชาติกับชาวนา เพราะให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงแทน

เช่นเดียวกับการเดินหน้าเพิ่มบัตรเครดิตชาวนาจาก 2 ล้านใบ เป็น 4 ล้านใบ โดยขยายสิทธิการใช้บัตรจากการซื้อปัจจัยการผลิต ให้นำมาซื้อของอุปโภคบริโภค ที่เริ่มต้นจากการซื้อข้าวสาร รวมถึงการลดดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่ การได้รับประกันชีวิตและอุบัติเหตุให้ด้วย ที่แม้ว่าไม่ได้ทำให้รายได้ชาวนาเพิ่มขึ้นโดยตรง แต่ก็มีส่วนทางอ้อมช่วยลดรายจ่ายของชาวนาให้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำประกันภัยนาล่มนั่น จะว่าไปแล้วก็ยังไม่มีความพร้อม เพราะในฝ่ายนโยบายยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง มีแนวคิดที่จะทำประกันชาวนาทั้งประเทศ ทั้งที่เข้าโครงการและไม่เข้าโครงการจำนำทั้งหมด 60 ล้านไร่ โดยให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาทำประกันภัยให้ทั้งหมด และรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันให้กับชาวนาทั้งหมด

แต่ทว่าภาระค่าเบี้ยประกันปีละไม่ต่ำกว่า 23 หมื่นล้านบาท ถือเป็นภาระก้อนโตของรัฐบาล ยิ่งในภาวะที่รัฐบาลถังแตก แม้แต่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจขาลงยังหาไม่ได้ การที่จะต้องเพิ่มภาระเบี้ยประกันชาวนาปีละ 23 หมื่นล้านบาท จึงเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็ออกมาค้านแนวคิดของทนุศักดิ์ทันทีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะนอกจากรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายแล้ว ยังผิดหลักการของการทำประกันภัยที่ผู้ประกันต้องจ่ายเงินร่วมรับความเสี่ยง

แต่กิตติรัตน์เห็นด้วยกับแนวคิดการทำประกันภัยนาข้าวเป็นโซน โดยให้คิดเบี้ยตามความเสี่ยง ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 โซน เริ่มตั้งแต่เสี่ยงน้อยจ่ายค่าเบี้ยประกันไร่ละ 120 บาท และความเสี่ยงมากสุด เบี้ยประกันไร่ละ 475 บาท โดยที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณให้ 500 ล้านบาท เพื่อช่วยจ่ายเบี้ยประกันให้ชาวนาไร่ละไม่น้อยกว่า 60 บาท

จะเห็นว่าแนวทางของกิตติรัตน์ ใช้เงินน้อยกว่าของทนุศักดิ์อยู่มาก

แต่แนวทางของกิตติรัตน์ก็มีปัญหาว่า จะมีผู้เข้ามาทำประกันนาล่มจำนวนไม่มาก แค่ 8 แสนไร่เท่านั้น เทียบกับนาที่มีอยู่ทั้งหมด 60 ล้านไร่ ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนแค่ 10% กว่าเท่านั้น

ในแง่ทางการเมือง ต้องยอมรับว่าไม่สามารถมัดใจหรือเรียกคะแนนเสียงคืนจากชาวนาส่วนใหญ่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเข็นประกันภัยนาข้าวให้เป็นพระเอกมาโอบอุ้มโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ใน อาการโคม่าจึงเป็นเรื่องยาก และมีแนวโน้มว่าจะล้มเหลวแบบเหมาเข่ง ทั้งรับจำนำข้าวและประกันภัยนาข้าวไปพร้อมๆ กันด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประกันนาล่ม กลบจำนำข้าว ล้มเหลว

view