สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อบริษัทเอกชนเดินหน้าต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชัน

เมื่อบริษัทเอกชนเดินหน้าต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมงานประกาศเจตนารมณ์ของบริษัทสมาชิกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จำนวน 51 บริษัท

ที่พร้อมกันลงนามเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต เพื่อแสดงจุดยืนที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาติขณะนี้ โดยปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ การลงนามของ 51 บริษัทนี้ทำให้จำนวนบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 225 บริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

เป้าหมายของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตก็คือ การสร้างมาตรฐานประกอบธุรกิจที่ใสสะอาด การแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม และการดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจเอกชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้น ที่สำคัญการลดคอร์รัปชันในการทำธุรกิจก็คือ การสร้างและรักษาความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะไม่มีนักลงทุนต่างประเทศที่ไหนต้องการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันมาก ดังนั้น เป้าหมายการต่อสู้คอร์รัปชันของบริษัทเอกชนลึกๆ แล้วก็คือ การรักษาความน่าเชื่อถือให้กับตลาดและการทำธุรกิจในประเทศไทย ให้ดำรงอยู่ต่อไปเพื่ออนาคตของธุรกิจเอกชนและอนาคตของประเทศ

บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้มี 225 บริษัท ก็คือ บริษัทที่พร้อมเป็นผู้นำตัวอย่างที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัทที่เข้าร่วมซึ่งก็คือ ประกาศนโยบายการไม่ทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทให้ทราบทั่วกัน และวางระบบควบคุมภายในเพื่อสอดส่องและป้องกันไม่ให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในบริษัทของตน ดังนั้น บริษัทที่เข้าร่วมจึงไม่ได้ลงนามเฉยๆ แต่มีหน้าที่หรือพันธกิจที่ต้องทำ ก็คือ ประกาศนโยบายและวางระบบควบคุมภายในเพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจริง บริษัทที่วางระบบทำตามเงื่อนไขหรือพันธกิจได้ครบถ้วน ก็จะได้การรับรองจากคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายต่อต้านการทุจริต และระบบควบคุมภายในป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่สมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีจริยธรรม และมีการกำกับดูแลกิจการในมาตรฐานขั้นสูงของประเทศ รวมถึงเป็นบริษัทที่มีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาดโปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน

อาทิตย์ที่แล้ว พร้อมกับจำนวนบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็น 225 บริษัท จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และระบบควบคุมภายในป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วนก็เพิ่มขึ้นอีกสามบริษัท คือ

1.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

2.บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติเพิ่มเป็นเจ็ดบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน จำนวนบริษัทที่จะได้รับการรับรองคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะนี้หลายบริษัทในกลุ่ม 225 บริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการการขอรับรองอยู่

ความก้าวหน้านี้ ชี้ชัดเจนว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะออกตัวแสดงตนไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคเอกชน และความสำเร็จของโครงการที่กำลังมีการขับเคลื่อน

ผมมั่นใจว่าจำนวนบริษัทที่ร่วมลงนาม และบริษัทที่ผ่านการรับรองจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ไม่ชอบ และไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมที่จะแสดงออก ถ้ามีบริษัทอื่นเข้ามาร่วมเป็นขบวนการ อันนี้คือหัวใจของโครงการแนวร่วมปฏิบัติ หรือ Collective Action ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนที่ไม่เอาด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชันสามารถแสดงตน ร่วมมือกันอย่างสมัครใจและเปิดเผย และถ้าจำนวนบริษัทเข้าร่วมมีมากพอ พลังที่เกิดขึ้นก็สามารถสร้างแรงกดดันให้บริษัทอื่นๆ และหน่วยงานรัฐเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการคอร์รัปชันลง เพราะในสมการคอร์รัปชัน ถ้าบริษัทไม่จ่าย คอร์รัปชันก็เกิดยาก

ความคิดดังกล่าวที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยอาศัยความร่วมมือของบริษัทธุรกิจเป็นกลไกผลักดัน จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นไปได้ทางหนึ่ง ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาที่อาศัยการทำหน้าที่ของผู้บริหารประเทศและกลไกภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็เพราะแนวทางการแก้ไขตั้งอยู่บนพื้นฐานหรือข้อสมมุติว่าเราจะมีภาคทางการหรือรัฐบาลที่สะอาด ที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของส่วนรวม และต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยจับกุมผู้ที่ทำผิดอย่างจริงจัง แต่ในหลายประเทศข้อสมมุติดังกล่าวไม่จริง ทำให้การแก้คอร์รัปชันล้มเหลว

ข้อสรุปนี้มาจาก บทความวิชาการ เรื่อง ทำไมการปฏิรูปแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันล้มเหลว “Why Anti-Corruption Reform Fails - Systemic Corruption as a Collective Action Problem” เขียนโดย A. Persson, B. Rothstein และ J. Teorell ซึ่งศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ “ผู้เล่น” ในระบบคอร์รัปชันในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงสองประเทศ คือ เคนย่าและยูกันดา ตีพิมพ์ปีที่แล้วซึ่งอธิบายชัดเจนว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเป็นผลจากผู้ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาไม่ทำหน้าที่ แต่เป็นผู้ที่ทำคอร์รัปชันเสียเอง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เกิดขึ้น เมื่อการแก้ไขปัญหาไม่เกิด ทุกคนในระบบก็มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันจะให้ประโยชน์มากกว่าโทษ (เพราะไม่มีการเอาผิดคนคอร์รัปชัน) คนก็เลยคอร์รัปชันกันหมด แม้รู้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันไม่ดีและสร้างความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว แต่ในระยะสั้น เมื่อไม่มีการเอาผิดจับกุม ทุกคนก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ประเทศทั้งประเทศจึงตกอยู่ในกับดักที่เรียกว่า “ดุลยภาพคอร์รัปชัน” ที่สังคมทั้งสังคมไม่มีใครต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมแม้รู้ว่ากำลังทำลายประเทศ ประเทศจึงไม่สามารถหลุดออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้

ดังนั้น ทางออกก็คือ ผู้ที่เสียประโยชน์จริง ก็คือ ประชาชนของประเทศ จะต้องทำหน้าที่แก้ไขปัญหา เพราะผู้มีหน้าที่แก้ไขไม่ทำหน้าที่ การแก้ไขปัญหาจึงต้องมาจากภาคประชาชน สังคม และภาคธุรกิจที่ต้องร่วมมือกัน แสดงบทบาท เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาเอง เหมือนที่บริษัทเอกชนไทย และบริษัทเอกชนในหลายๆ ประเทศกำลังพยายามทำอยู่ขณะนี้

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นเรื่องของพฤติกรรมที่เติบโตจากการวางเฉยของสังคม ที่ในตอนแรกมองว่าอยู่ได้กับระบบที่แย่ แต่เมื่อระบบแย่ลงมากๆ จนทุกคนอยู่ไม่ได้ก็อาจสายเกินไปที่จะแก้ปัญหา แต่ถ้าสังคมส่วนใหญ่ไม่ยอม และพร้อมใจกันลุกขึ้นมาแก้ไข ปัญหาคอร์รัปชันก็ควรลดลง ก็หวังว่าเราจะเห็นประชาชนและบริษัทเอกชนมากขึ้นเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บริษัทเอกชน เดินหน้าต่อสู้ ปัญหาคอร์รัปชัน

view