สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เบื้องหลัง อำพน นั่งประธานแบงก์ชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ต้องอดใจรออีกไม่กี่วัน เราคงจะได้เห็นโฉมหน้า "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" คนใหม่ แบบ "ตัวเป็น"

เพราะกระทรวงการคลังเตรียมเสนอชื่อ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ

วันนี้เราก็ได้เห็นรายชื่อ ผู้ที่ถูกส่งเข้าสู่สนามคัดเลือกตามโควตากันแล้ว ทั้งสายกระทรวงการคลังและสายแบงก์ชาติ
อย่าง อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง

ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกเสนอชื่อโดย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ไม่น่าแปลกใจที่ชื่อ อำพน โผล่ขึ้นมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะได้ฉายา "เสียงข้างน้อย" กรณีเสนอ "ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ไม่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่ในแง่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เขากลับประสบความสำเร็จ และได้ใจในสายตารัฐบาล ที่กล้าเสนอลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ยิ่งไม่แปลกใจ เมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาทำนองว่า อำพน ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง จากการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

สำหรับ อำพน ต้องยอมรับความรู้ความสามารถ ที่มีตำแหน่งกรรมการอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรรมการในคณะกรรมการธปท. กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ร่วม 9 ปี กรรมการกฤษฎีกา 6-7 ปี ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 5 ปี กรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 6 ปี กรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2 ปี และกรรมการอื่นๆ อีกนับสิบหน่วยงาน รวมทั้งไปถึงนั่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ต่ำกว่า 6 ปี

ฉะนั้นประสบการณ์ของ อำพน จึงถือว่าโชกโชนพอสมควร เพราะผ่านทั้งงานบริหารงานในภาคราชการและเอกชนมาไม่น้อย หากถูก "สายอำนาจรัฐ" ส่งเข้ามานั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ถือว่าไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่

มองย้อนกลับไปถึงการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หลังจากมีการแก้กฎหมายแบงก์ชาติใหม่ หมดยุคผู้ว่าแบงก์ชาตินั่งประธานบอร์ดเอง หากวิเคราะห์เจาะลึก จะเห็นว่า ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เรียกว่า "คลังเบ็ดเสร็จ"

สมัยรัฐบาล นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ถูกเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ก็ถูกเสนอโดยกระทรวงการคลัง เช่นเดียวกับในยุครัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทรวงการคลังก็เสนอชื่อ วีรพงษ์ รามางกูร จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ยุคนี้ อำพน ยังถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง

ดังนั้นตำแหน่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" ยังไงๆ ก็ไม่พ้น "คนสายคลัง" นั่นเอง

หลายฝ่ายคงจะเฝ้ามองว่า การที่รัฐบาลส่งคนเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้ว น่าจะทำอะไรได้อย่างที่คิด หรือล้วงลูกทำโน่นทำนี่ได้ แต่จริงๆ แล้ว การเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ใช่ว่าจะมีอำนาจจัดการอะไรได้ง่ายๆ ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ มีให้เห็นแล้ว กรณี วีรพงษ์ เมื่อครั้งที่ยังไม่เข้าไปนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ รู้สึกจะออกนอกหน้ามาก กับการลดดอกเบี้ย แต่พอเข้าไปจริง หาใช่สิ่งที่คิดไว้เสมอไป

เรื่องนี้ อำพน เองก็ยอมรับว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" ที่จะทำอะไรก็ได้ เอาเข้าจริงประธานบอร์ดแบงก์ชาติ อาจเป็นเพียงการทำหน้าที่ "รับทราบ" เพราะอำนาจจริง อยู่ที่ผู้ว่าการฯและคณะกรรมการซึ่งมีอยู่ 3 ชุดต่างหาก

แต่ความหวังของ อำพน คงอยากทำหน้าที่เชื่อมต่อมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อยามประเทศชาติมีปัญหาเศรษฐกิจ ก็หวังจะจัดให้ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จับเข่าคุยกันได้ แม้จะต้องขั้น ยอมลดศักดิ์ศรีลงบ้าง

ชื่อของ อำพน ที่โผล่ขึ้นมาในขณะนี้ อาจจะมีคำถามตามมาว่า แล้วตำแหน่งประธานและกรรมการที่อำพนนั่งอยู่หลายๆ แห่ง จำเป็นต้องลุกออกไปด้วยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อาจสร้างข้อกังขาให้สังคม

จริงอยู่ แม้กรรมการกับประธาน จะใช้เกณฑ์คุณสมบัติเดียวกัน แต่วิธีการสรรหาต่างกัน ดังนั้นการนั่งเป็นประธานและกรรมการอีกหลายๆ แห่ง จึงจำเป็นต้องสร้างความกระจ่าง

สุดท้าย เชื่อว่า เรื่องนี้คงจะจบลงที่การตีความของ "กฤษฎีกา" แน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เบื้องหลัง อำพน ประธานแบงก์ชาติ

view