สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดลปฏิรูปปลายทางรื้อรธน.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ระดมคนฟอร์มทีมคึกคักสำหรับคณะทำงาน “สภาปฏิรูป” ฉบับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หลายฝ่ายรอยลโฉมรูปร่างหน้าตาคณะทำงานแบบ “ฟูลทีม” ที่เตรียมประชุมนัดแรก 16 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

แม้เป็นอันต้องสะดุดเหตุกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคประ ชาธิปัตย์ ยืนยันไม่ตอบรับเข้าร่วม และพร้อมใจตั้งเงื่อนไขเดียวกันเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรมทุกฉบับออกจากสภา เพราะเชื่อว่ารัฐบาลหวังลุยเกมนิรโทษแบบเล่นเกม 2 หน้า

แต่ทว่าสัญญาณจาก “สภาปฏิรูป” ที่ก่อนหน้านี้ยังไร้รูปธรรม ทั้งแนวคิด โมเดล วิธีการ แสนเลือนรางตลอด 10 วัน หลังยิ่งลักษณ์ออกแถลงการณ์ แต่บัดนี้กลับค่อยๆ ทยอยส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งทีมเฉพาะกิจครั้งนี้ว่าได้ ทีใช้คณะปฏิรูปชุดเดียว แต่ “สอยนกหลายตัว”

เพราะไม่เพียงเบี่ยงกระแสให้สังคมหันมาจับจ้อง “สภาปฏิรูป” เปิดทางให้ “สภาผู้แทนฯ” พิจารณาบรรดาร่างกฎหมายระดับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้อย่างปลอดโปร่งเท่านั้น ขณะเดียวกันสภาปฏิรูปยังถูกวางให้เป็นกลไกคลายปม “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำให้ศาลและฝ่ายค้านตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจวบจนบัดนี้ร่างแก้ไขมาตรา 291 ยังดองค้างในสภามาแล้วร่วมปี

ปมนี้คาดเดาได้ไม่ยาก จากการที่ยิ่งลักษณ์บัญชาการ พงศ์เทพ เทพกาญจนา-วราเทพ รัตนากร ให้เป็นมือประสานเจรจาปลุกปั้นทีมสภาปฏิรูป ทั้งนี้อย่าลืมว่าทั้งคู่เป็น 2 ในแกนนำคณะ 11 อรหันต์ที่รัฐบาลแต่งตั้งเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งที่ศาลรับคำร้องวินิจฉัย โดยในขณะนั้น พงศ์เทพ-วราเทพ เพิ่งพ้นโทษบ้านเลขที่ 111 ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้เสนาบดีด้วยซ้ำ

ต่อมา โภคิน พลกุล คลอดผลการศึกษาคณะทำงานหนุนลุยโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่พรรคเพื่อไทยยังคงหวาดอำนาจตุลาการไม่กล้าลุย รัฐบาลจึงต้องเบนเส้นทางไปยังการจัดทำประชามติ มอบหมายให้วราเทพศึกษาความเป็นไปได้ แต่ต้องถอยอีกระลอก เพราะแนวต้านขู่ยื่นศาลตีความว่า ประชามติอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ประกอบกับตัวรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการทำประชามติกำหนดเกณฑ์ไม่ สอดคล้องกัน

ในที่สุดไม้เดิมถูกส่งกลับมายัง พงศ์เทพ ที่ต้องส่งเผือกร้อนไปแช่เย็น เข็นวาระแก้รัฐธรรมนูญให้ 3 มหาวิทยาลัยศึกษาแนวทางแก้ไขและจัดทำประชามติ ขณะที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลเดินเกมอีกทางเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราพุ่งเป้าที่มาตรา 68 190 237 และที่มาของ สว.

จะเห็นว่าวังวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มีคู่หูลูกหม้อไทยรักไทย พงศ์เทพ-วราเทพ เป็นฟันเฟืองสำคัญโบกธงนำรัฐธรรมนูญผ่าทางตัน ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายหากสุดท้าย ผลการตั้ง “สภาปฏิรูป” จะปักธงล่วงหน้าระบุว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกร่างฉบับใหม่เพื่อนำประเทศไทยออกจากวิกฤตความขัดแย้ง

จริงอยู่ที่ความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ มี “312 สส.สว.” พรรคร่วมรัฐบาลผนึกกำลังฝ่าแนวต้านแก้ไขรายมาตราในสภา แต่อย่าลืมว่าการปลดล็อกรายมาตราเป็นเพียงเป้าหมายแรกเท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล คือ ต้องการล้มรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกลไกการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะนอกจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเป็นผลพวงของคณะรัฐประหารแล้ว ผลไม้พิษผลนี้ยังตอก “มาตรา 309” ตรึงค้างเป็นหนามยอกอกพรรคเพื่อไทยมานาน

และที่สำคัญ คือ กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง พร้อมฟัน 312 สส.สว.ได้ทุกเมื่อ และอาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันไว้ ซึ่งกลไก “สภาปฏิรูป” อาจถูกใช้เป็นเกราะป้องกันการแทรกแซงของศาล โดยคณะทำงานอาจผลักดันจนเป็นมติสนับสนุนแก้ไข หรือยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทั้งนี้ จึงเริ่มมีการส่งสัญญาณทยอยมาจากพรรคเพื่อไทย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กแม้ระบุถึงทริปท่องเวียดนาม แต่ไม่ลืมทิ้งปมเรื่องสภาปฏิรูปว่า “...การ ที่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้เชิญชวนทุกฝ่ายมาหันหน้าเข้าหากัน ออกแบบกติกาการอยู่ร่วมกันใหม่ หรือสร้าง Modern Social Contract Theory ใหม่ เพื่อเกิดรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่ Winner takes all...”

ขณะที่ วราเทพ เผยช่วงหนึ่งยอมรับว่า ผลลัพธ์ในการหารือที่เป็นรูปธรรม หากต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปที่รัฐธรรมนูญ และผลการหารือนั้นอาจหนีไม่พ้นทางสภาปฏิรูปต้องมีอำนาจทางกฎหมายด้วย

นอกเหนือจากนั้น ภาพการเมืองปัจจุบันยังซ้อนทับกับประวัติศาสตร์การเมืองปี 2540 ที่ “บิ๊กเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี นำพรรคชาติไทยโบกธงสะบัดไสวยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” ให้ ชุมพล ศิลปอาชา นั่งประธานเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และริเริ่มโมเดลเลือกตั้ง 76 ส.ส.ร. เคาะ 23 ผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่ามกลางกระแสหนุนต้านโบกธงเขียวเหลืองสะบัดทั่วเมือง

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกแอ็กชั่นเทียบเชิญ “บิ๊กเติ้ง” เป็นแขกวีไอพีรายแรกที่เข้าร่วมทีมปฏิรูปการเมือง ทั้งยังวางตัวให้นั่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปใน พ.ศ.นี้ คงเพราะต้องอาศัยบารมีมือเก๋าอย่างบรรหาร มาเจิมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือน 16 ปีที่แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โมเดลปฏิรูป ปลายทาง รื้อรธน.

view