สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าว หายนะหนี้ล้านล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

การส่งสัญญาณเตือนหายนะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือและสื่อต่างประเทศ แม้ดูประหนึ่งเป็นการก้าวก่ายการดำเนินนโยบายสาธารณะของไทยในขณะนี้ แต่ก็เป็นเสียงท้วงติงที่ฝ่ายกุมนโยบายต้องเงี่ยหูฟัง

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีป้ายบอกปลายทางว่า จะนำไปสู่หุบเหวทางการคลังของประเทศ

เมื่อเริ่มต้นโครงการ ผู้รู้ นักวิชาการ และคนในวงการข้าวในประเทศ ทักท้วงโครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ในหลากแง่มุม เช่น การทุจริต การสร้างภาระการเงินให้ประเทศระดับสาหัส และคล้อยหลังไม่ถึง 2 ปี ปรากฏว่าข้อติติงเหล่านั้นเป็น “จริงทุกข้อ”

ทว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกถูกจับจ้องจากสื่อต่างชาติเป็นพิเศษ

ดิ อีโคโนมิสต์ สื่อเมืองผู้ดีอังกฤษ เขียนบทวิเคราะห์ “The Rice Mountain” ที่ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวทำให้ไทยมีสต๊อกข้าวสาร 18 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง เพราะถูกอินเดีย เวียดนาม แย่งตลาด และเตือนว่า “นโยบายนี้จะทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศอ่อนแอลงอย่างมาก และส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง”

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “Thailand Needs to Invest in People, Not Rice” ชี้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ไทยจะต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคต แทนที่จะมุ่งเน้นการอุดหนุนโครงการรับจำนำข้าว

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ยังหยิบยกบทวิเคราะห์สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า “Moody’s Investors Service Says the Subsidies Damage Thailand’s Credit Rating” หรือโครงการรับจำนำข้าวจะทำลายอันดับความน่าเชื่อถือของไทย

แม้ล่าสุด มูดี้ส์ เองได้ออกบทวิเคราะห์ฉบับใหม่ “A Bump in the Road” โดยระบุว่า อุปสงค์ในประเทศที่ลดลงและไม่อาจชดเชยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2556 จะเติบโตต่ำ และเตือนรัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนมากมีประโยชน์ในระยะยาว และลดการเอาใจเกษตรกรในนโยบายรับจำนำ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า มีการนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชาและพม่ามาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 9 แสนตัน คิดเป็นเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์ออกมาปฏิเสธในทันที

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์รุมสกรัมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการเรือธงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แทบไม่มีผลให้รัฐบาลตัดสินใจยุติโครงการในระยะเวลาอันใกล้

“หลังเพิ่มคุณภาพข้าว ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนด้านการตลาดแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า โครงการรับจำนำข้าวอาจไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลได้ยกระดับรายได้เกษตรกรแล้ว” วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์

แต่นั่นหมายความว่าภาระที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอีก 3 ปีข้างหน้า อาทิ หนี้เงินกู้ที่ซุกไว้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนการจัดสรรงบในโครงการรับจำนำข้าวที่เพิ่มขึ้นกระทั่งเบียดบังรายจ่าย อื่นในงบประมาณรายจ่ายอื่น หากรัฐบาลไม่ลดดีกรีการอุดหนุนในโครงการนี้

ล่าสุด ธ.ก.ส.รายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า วันที่ 29 ก.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 (รอบที่ 1 และรอบที่ 2) มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 20.68 ล้านตัน เงินที่จ่ายให้เกษตรกร 3.16 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/2555 ที่ใช้เงิน 3.36 แสนล้านบาท

เท่ากับว่ารัฐบาลกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว 6.53 แสนล้านบาท (ไม่รวมค่าบริหารจัดการ 4 ฤดูกาลผลิตประมาณ 1 แสนล้านบาท) แต่เงินที่ ธ.ก.ส.ได้รับคืนจากการขายข้าวสารตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/2555 มีไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท

บุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จ่ายเงินที่ได้จากการขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว เปลือกให้ ธ.ก.ส. 1.4 แสนล้านบาท แต่เป็นข้าวสารตั้งแต่ปี 2554/2555 เป็นเงินประมาณ 1.21.3 แสนล้านบาท

ฉะนั้น การเริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีที่ 3 ปีการผลิต 2556/2557 ในเดือน ต.ค.นี้ ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย ขณะที่การที่กระทรวงพาณิชย์โยนหินถามทางเสนอราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าจาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหลือ 1.21.35 หมื่นบาทต่อตัน หรือจำกัดรอบการรับจำนำเหลือ 1 รอบต่อปี มีเสียงต้านอย่างหนัก จนวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องราคา

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ จึงอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” นิวัฒน์ธำรง ผู้ที่มีบุคลิกยิ้มแย้มตกอยู่ในอาการ “เครียด” อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ โดยเฉพาะกับภารกิจเดินหน้าระบายข้าวสารออกจากสต๊อกจำนวน 1718 ล้านตัน ซึ่งประสบความสำเร็จน้อยมาก

ข้าวสารที่เปิดประมูลล็อตแรก 3.5 แสนตัน มีเอกชนยื่นเสนอราคาน้อยรายและขายข้าวได้เพียง 9 หมื่นตัน การประมูลข้าวเปลือกเพื่อทำข้าวนึ่งส่งออก 2 แสนตัน มีการอนุมัติขายเพียง 1.2 แสนตันเท่านั้น ส่วนแผนระบายข้าวผ่านตลาดเอเฟต 1.5 แสนตัน แต่ติดเงื่อนไม่มีเงินมัดจำ 250 ล้านบาท จนการเปิดประมูลต้องเลื่อนไป

วันวาน นิวัฒน์ธำรง ออกมาปฏิเสธข่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในเงินกู้เกินกรอบที่ ครม.กำหนดเพดานไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท หลังมีกระแสข่าวรัฐบาลกู้เงินเพื่อหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าว 7.6 แสนล้านบาท แต่ นิวัฒน์ธำรง บอกว่า กรอบเงินกู้ในโครงการมีจำนวน 6.5 แสนล้านบาท

เท่ากับยอมรับโดยดีว่า โครงการรับจำนำข้าวใช้เงินกู้เกินเพดาน 5 แสนล้านบาท ตามที่ ครม.กำหนดแล้ว ขณะที่เงินจากการขายข้าวในช่วง 2 เดือน ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สถาบันคลังสมองของชาติ ประเมินว่า หากรัฐบาลยังคงราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวจากชาวนาจะไหลเข้าสู่โครงการอยู่ดีและมีความเป็นไปได้สูงว่า วงเงินกู้หมุนเวียนในโครงการจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ในปีหน้า

สมพร เสนอว่า รัฐบาลควรเลือกปรับลดราคาจำนำข้าวเหลือ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งทำให้เอกชนอาจหาซื้อข้าวเปลือกในตลาดได้ที่ราคา 1 หมื่นบาทต่อตัน เพราะชาวนาบางคนใจร้อน อยากได้เงินเร็วก็จะขายข้าวนอกโครงการ และราคาข้าวเปลือกที่ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน เป็นราคาที่ทำให้ตลาดทำงานได้

“เมื่อข้าวเป็นสินค้าการเมืองเต็มตัวไปแล้ว การปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกลงมาจึงทำได้ยากมาก” สมพร มอง

นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกได้ใช้เงินกู้หมุนเวียนและค่าบริการจัดการไม่ต่ำ กว่า 7 แสนล้านบาท และน่าจะขาดทุนกว่า 4 แสนล้านบาท ในตอนนี้

นิพนธ์ เสนอว่า เพื่อจำกัดความสูญเสียในโครงการรัฐบาลควรลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% เหลือ 1.2 หมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ และจำกัดวงเงินรับจำนำต่อครัวเรือนไม่เกิน 3.5 แสนบาท หรือไม่เกิน 25 ตัน เพราะข้อมูล ธ.ก.ส.ปรากฏชัดเจนว่า ชาวนาที่นำข้าวเปลือกเข้าโครงการ 86% จำนำข้าวในวงเงินไม่เกิน 3.5 แสนบาท

วันนี้โครงการรับจำนำข้าวไม่ต่างกับเป็นตำบลกระสุนตก เพราะนอกจากทำให้ขาเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ ไม่มั่นคงแล้ว ยังอาจทำให้ ครม.ต้องล้มโต๊ะ หากไม่มีการปรับนโยบาย ขณะที่ตั้งเป้าหมายการขาดทุนในโครงการปีละไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี จะเป็นหนี้ที่พอกพูนไม่มีจบ

นี่แหละหายนะการคลังครั้งใหญ่ของประเทศ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จำนำข้าว หายนะ หนี้ล้านล้าน

view