สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลี้ลับซ่อนเร้น..จากจำนำสู่ข้าวถุง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา



โครงการรับ "จำนำข้าว" ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเวลานี้ ถึงกรณีการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ที่อาจส่งผลกระทบใหญ่ในระดับประเทศ และอาจลามไปถึงระดับโลก

ในหลักการ รัฐบาลเพียงต้องการให้เกษตรกรได้ราคารับจำนำสูงๆ แต่ในทางปฏิบัติ ตอนนี้กลายเป็นหนังคนละเรื่องไปเสียแล้ว โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคารับจำนำที่สูงเกินไป การบิดเบือนกลไกตลาด กระทั่งลามไปสู่ช่องทางการหาผลประโยชน์ของกลุ่มคนหลากหลายแบบ "ไม่น่าเชื่อ"

ปัญหาที่ตามมา ขณะนี้ไม่เพียงแค่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง จากนักวิชาการ นักการเมือง แม้กระทั่งส่วนราชการเอง อย่าง สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล ก็ยัง "เหนื่อยหน่าย" กับโครงการนี้ เพราะไม่สามารถปิดบัญชีโครงการได้ ด้วยเหตุที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะสต็อกข้าวในส่วนของกระทรวงพาณิชย์

เช่นเดียวกับ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้นานพอควรว่า "ถ้ารัฐบาลจะพัง ก็เรื่องโครงการรับจำนำข้าว" นี่แหละ ถือเป็นการฟันธงล่วงหน้า

ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่เวลานี้ คือการใช้เงินจำนวนมากไปกับโครงการรับจำนำข้าว บ้างก็บอกว่าใช้สะสมไปแล้ว 7.6 แสนล้านบาท ขณะที่ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ใช้ไป 6.5 แสนล้านบาท ขณะที่กรอบการใช้เงินที่คณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท อย่างนี้ก็เรียกว่า เกินวงเงินไปแล้วใช่หรือไม่

ตรงกันข้าม เงินที่รัฐบาลได้จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ กลับยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ปัจจุบันเชื่อว่าตัวเลข คืนเงินค่าข้าวไม่น่าจะถึง 2 แสนล้านบาทแน่นอน

การใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวกับการส่งเงินคืนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากไม่สามารถจัดการได้ ปัญหาที่ตามมา เงินที่จะใช้กับโครงการรับจำนำข้าวที่เหลือ รัฐบาลจะควานหาจากที่ไหน?

สิ่งที่ปรากฏ จนกลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” นั่นคือ "การรั่วไหล" ของโครงการ ที่กระจัดกระจายไปยังกลุ่มคนที่อยู่รายล้อม คนในรัฐบาลเสียส่วนใหญ่ เรียกว่า "รั่วไหล" เกือบทุกขั้นตอน ทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับข้าว อย่างที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยออกมาชี้จุดรั่วไหลให้เห็นๆ กันอยู่แล้ว สิ่งที่ตามมาคือการสร้างความเสียหายในส่วนของงบประมาณที่ต้องสูญเสียไป

พื้นที่ตรงนี้ คงไม่ต้องบอกผู้อ่าน ก็พอจะรับรู้รับทราบว่า กลุ่มใดที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไปบ้าง ส่วนชาวนาในฐานะเจ้าของข้าว ได้จริงๆ เท่าไหร่ก็เป็นที่รู้ๆ กัน

แต่สิ่งที่น่าขบคิดและต้องหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย นั่นคือ โครงการผลิตข้าวถุงราคาถูกเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน ตามร้านธงฟ้า ร้านถูกใจและร้านค้าทั่วไป เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ โดยให้องค์การคลังสินค้า(อคส.)เป็นผู้ดำเนินการ จำนวน 1.8 ล้านตัน เฉลี่ยเดือนละ 3 แสนตัน หรือประมาณเดือนละ 60 ล้านถุง เป็นเวลา 6 เดือน รวมๆ ตัวเลขต้องผลิตข้าวถุงราคาถูก ขายประชาชนถึง 360 ล้านถุง มีขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม จำหน่ายถุงละ 70 บาท ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา

เนื่องจากโครงการนี้ ส่งกลิ่นพอสมควร กระทั่ง พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่พร้อมทีมงาน ตรวจสอบพบสิ่งผิดปกติอย่างเหลือเชื่อ พบทั้งส่วนที่ขายข้าวเกินราคาที่กำหนดถุงละ 70 บาท และปริมาณข้าว ที่ไม่ได้มีการผลิตจริง

ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อคส.มีหนังสือแจ้ง 5 บริษัทที่เข้าร่วม ให้ส่งข้าวสารที่เบิกนำไปปรับปรุงบรรจุถุง คืนให้แก่ อคส. โดยอ้างว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้มีมติให้ อคส.ยุติดำเนินการจัดทำข้าวสารบรรจุถุง ในข้าวสารส่วนที่เหลือ และให้ส่งคืนข้าว ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้

เกิดอะไรขึ้น ทำไมเรียกคืนข้าวกลางคัน แล้วที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ใครคือผู้รับผิดชอบความเสียหาย ทั้งในส่วนของค่าปรับปรุง ค่าขนส่ง สำคัญยิ่ง ข้าวส่วนนี้ประชาชนได้รับกันจริงหรือไม่?

ฉะนั้น บทสรุปของเรื่องนี้ คงจะมีหลักฐานปรากฏชัดที่ ป.ป.ช.นั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลี้ลับซ่อนเร้น จากจำนำสู่ข้าวถุง

view