สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย

ภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยก็คือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

ที่ดูว่าจะเป็นมะเร็งร้ายที่ขยายตัวลุกลามรุนแรงมากขึ้น จนประเทศต่างๆ ได้มีความจริงจังในการปราบปรามและลดการทุจริตคอร์รัปชัน ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่แล้วมีความจริงจังในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และแม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ประเทศไทยดูเหมือนจะมีความเอาจริงต่อเรื่องนี้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการจัดอันดับเรื่องคอร์รัปชันของประเทศไทยได้เลวร้ายลงโดยต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่ามีข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการต่างๆ จำนวนมากมายแต่ไม่มีการดำเนินการกับนักการเมือง นักธุรกิจขนาดใหญ่หรือข้าราชการระดับสูงได้ จะมีเพียงการดำเนินการกับเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างปลายแถวในลักษณะของแพะรับบาปเท่านั้น สิ่งที่ทำกันอยู่ชัดเจนจับต้องได้ คือการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยไม่มีการลงมือปฏิบัติหรือดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจัง ที่เลวร้ายที่สุดคือค่านิยมของคนในสังคมที่มีผลการสำรวจพบว่า คนไทยยอมรับการคอร์รัปชันได้หากมีผลงาน ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการโกงกินได้ แม้สิ่งที่ตนเองจะได้รับเพียงเศษเงินที่เขาหยิบยื่นมาให้

ผลการจัดลำดับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันล่าสุดในปี 2555 ของสถาบันจัดอันดับทุจริตคอร์รัปชันหรือองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index : CPI) มาตั้งแต่ปี 2538 โดยประเทศที่มีคะแนนสูงหมายถึงมีคอร์รัปชันต่ำ และ หากมีคะแนนต่ำหมายถึงมีระดับคอร์รัปชันสูง ซึ่งในปี 2555 นั้นประเทศไทยมีคะแนนอยู่ 37 คะแนน (จาก 100 คะแนน) มีคอร์รัปชันมากในลำดับที่ 88 จากจำนวน 176 ประเทศ และเป็นอันดับที่เลวลงเมื่อเทียบกับลำดับที่ 80 ในปี 2554 และหากจะมองย้อนกลับไปถึงปี 2538 แล้วจะเห็นได้ว่าการพัฒนาในเรื่องนี้ดูเหมือนจะยิ่งเลวร้ายลงจึงทำให้อันดับของประเทศเลื่อมถอยลงมาโดยตลอด

ประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยหรือมีอันดับที่หนึ่งมีคะแนนเท่ากันอยู่รวม 3 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีอันดับที่ 19 รองจากประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่นที่มีอันดับ 17 เท่ากัน ส่วนประเทศจีนอยู่ในลำดับที่ 80 (ได้ 39 คะแนน) ประเทศในเอเชียที่มีอันดับดีที่สุดคือประเทศสิงคโปร์ มีคะแนน 87 คะแนน ทั้งนี้ คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของโลกอยู่ที่ 43 และยังพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของประเทศต่างๆ มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

การศึกษากรณีตัวอย่าง พบว่าประเทศที่มีดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันดีที่สุด 3 อันดับแรก คือ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ทั้ง 3 ประเทศ ล้วนมีระบบการเข้าถึงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีกลไกการตรวจสอบภาครัฐที่เข้มแข็ง มีอีกสิ่งที่เหมือนกันคือ มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และมีการวางรากฐานต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2309 ขณะที่หลายประเทศยังไม่รู้ว่าความโปร่งใสคืออะไร แต่สวีเดนเป็นประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือเอกสารสำคัญทางราชการได้ นอกจากนี้ จากการศึกษาขององค์กรความโปร่งใสสากลได้พบว่า ทั้ง 3 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูง โดยพบว่าความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับปัญหาคอร์รัปชันที่ลดลง

เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง 3 ประเทศยังมีรายได้ต่อหัวของประชากรสูง มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ มีอัตรารู้หนังสือเกือบ 100% มีการให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิทธิมนุษยชน เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศและเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ การมีภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมในประเทศสวีเดน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลได้ หรือประเทศเดนมาร์กที่บังคับให้รัฐมนตรีทุกคนต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายรายเดือนทุกอย่างรวมไปถึงค่าเดินทางและค่าของขวัญที่ซื้อให้ผู้อื่น

จึงสรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญในการทำให้ประเทศเหล่านี้จัดการรับมือกับปัญหาคอร์รัปชันได้ดีคือ ในประเทศต้องมีภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการจับตาสอดส่องการทำงานของภาครัฐ และมีหน่วยงานของรัฐที่มีความโปร่งใส สามารถเปิดเผยข้อมูลให้องค์กรอื่นๆ ตรวจสอบได้นั่นเอง ซึ่งต่างจากประเทศไทยทีความโปร่งใสและการตรวจสอบดูเหมือนจะลดน้อยไปทุกขณะ และการตรวจสอบของภาคสังคมโดยเฉพาะสื่อมวลชนก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีเหลืออยู่ เพราะปัจจัยต่างๆ หลายประการที่สื่อมวลชนเองก็แสวงหารายได้หรือกำไรและทำให้จรรยาบรรณของสื่อในการทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณชนถูกละเลยไป ให้มะเร็งร้ายกัดกร่อนทำลายประเทศให้อ่อนแอลงทุกวัน

หมายเหตุ : ข้อมูลที่มาจากองค์กรความโปร่งใสสากล และThai Publica


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประเทศไทย

view