สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหกรรมแก้รธน.ศึกนี้ตัดสินที่ศาล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนับหนึ่งในข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ให้รัฐบาลถอน เรื่องดังกล่าวออกจากรัฐสภาถ้ามีความจริงใจต่อการปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลเมื่อทุกอย่างยังคงเดินหน้าตามปกติ โดยรัฐธรรมนูญจะมีคิวพิจารณาในวันที่ 20 ส.ค.

คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปวุฒิสภา ได้ตกลงร่วมกันแล้วว่าจะพิจารณาเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ สว.ในวาระ 2 เพียงฉบับเดียวก่อน

จากนั้นถึงมาพิจารณากันอีกครั้งว่าจะกำหนดให้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 190 เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการเห็นชอบ ของรัฐสภา และมาตรา 68 (แก้ไขไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองได้โดยตรง) ตามลำดับเมื่อไหร่

เบื้องต้นวิปรัฐบาลประเมินว่าในวาระที่ 2 ของร่างแก้ไขที่มา สว. น่าจะจบได้ในวันที่ 21 ส.ค. เพื่อรอไว้ 15 วันตามรัฐธรรมนูญก่อนไปลงมติในวาระที่ 3 ประมาณวันที่ 4 ก.ย. แต่ปฏิทินของวิปรัฐบาลอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนด เพราะฝ่ายค้านและ สว.บางกลุ่มเตรียมเล่นเกมยืดเยื้อเพื่อสู้กับพรรคเพื่อไทย

โดยพรรคประชาธิปัตย์มี สส. ในฐานะผู้แปรญัตติเสนอแก้ไขถ้อยคำเพื่อใช้สิทธิอภิปรายถึง 118 คน ส่วน สว.จะเป็นในกลุ่ม 40 สว. อีกประมาณ 10 คน ซึ่งแต่ละคนจะยอมให้แต่ละมาตราผ่านรัฐสภาไปได้อย่างง่ายๆ ด้วยอำนาจของเสียงข้างมาก

ประเด็นที่เตรียมเอาไว้ถล่มรัฐบาล 2 ปมสำคัญ ได้แก่ 1.เหตุใดถึงไม่นำร่างแก้ไขมาตรา 190 เข้ามาให้สภาลงมติวาระที่ 2 ก่อน ทั้งที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุด แต่กลับเสนอร่างแก้ไขที่มา สว. เข้าแทน และ 2.การจัดให้มี สว.เลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงวุฒิสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงกระนั้นความอ่อนไหวอยู่ในประเด็นที่ 2 เนื่องจากการแก้ไขของคณะกรรมาธิการที่มี “สามารถ แก้วมีชัย” สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้ยกเลิกข้อความว่า “บุคคลผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น สว. ต้องที่ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง สว.”

การฉีกบทบัญญัติข้างต้นทิ้งไป เปรียบได้กับการเปิดประตูให้เครือญาติของนักการเมืองลงสมัคร สว. และทำให้ สว.กำลังย้อนกลับไปสู่ยุค “สภาผัวเมีย” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลก็ได้เตรียมแผนเด็ดเอาไว้แล้ว ด้วยการใช้เสียงข้างมากปิดอภิปรายเหมือนกับที่เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งการ อภิปรายในวาระที่ 1 ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาหลังจากฝ่ายค้านดึงเกมจนฝ่ายรัฐบาลหมดความอดทน

ทว่าเสียงข้างมากของรัฐบาลอาจไม่ได้เป็นฉากจบของศึกชิงวุฒิสภาครั้งนี้

ทั้งนี้ กลุ่ม 40 สว. เตรียมเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยเตรียมร่างคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเปลี่ยนโครงสร้าง สว.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ ทันทีที่รัฐสภาลงมติในวาระที่ 2 และกำลังรอลงมติในวาระที่ 3 เพราะเห็นว่าการแก้ไขที่มา สว. เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122

เดิมทีคำร้องเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนหน้านี้จำนวน 4 คำร้อง มีเฉพาะการให้ศาลมีความเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 68 ที่ได้ตัดสิทธิของประชาชนในการไม่ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ขัดกับมาตรา 68 หรือไม่เท่านั้น โดยยังไม่มีคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยร่างแก้ไขที่มาของ สว.แต่อย่างใด

ถ้ากลุ่ม 40 สว. ยื่นคำร้องในจังหวะนั้นขึ้นมาย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำสั่ง ยับยั้งเพื่อให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระที่ 3 และเชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาหักล้างข้อกล่าวหาหน้าบัลลังก์ศาล เหมือนกับที่เคยมีคำสั่งเมื่อปี 2555 ไม่ให้รัฐสภาลงมติในวาระที่ 3 ในร่างแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

แน่นอนว่าการยื่นมือเข้ามาของศาลรัฐธรรมนูญย่อมส่งผลให้การรื้อรัฐ ธรรมนูญตามหมากของพรรคเพื่อไทยต้องสะดุดลงกลางคันเกือบทั้งหมด โดยเป็นไปได้ที่ศาลจะมีคำสั่งชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ของร่างแก้ไขมาตรา 68 เช่นกัน ถ้ารัฐสภาลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 เสร็จสิ้น เนื่องจากมีคำร้องให้ล้มการแก้ไขมาตรา 68 รอเอาไว้อยู่แล้ว

ดังนั้น การเมืองในบริบทว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย อาจจะไม่ใช่ผู้ตัดสินทุกอย่างเท่ากับเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหกรรมแก้รธน. ตัดสินที่ศาล

view