สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปู สะดุ้ง! ธีรภัทร์ ซัดแสกหน้า เข้าประชุมสภายังทำไม่ได้แล้วจะทำเรื่องอื่นได้ยังไง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปาหี่ปฏิรูปสุดเข้ม ห้ามสื่อเข้าฟัง ให้นั่งชมซีซีทีวีด้านนอก ห้องน้ำตึกสันติไมตรีห้ามเข้า “ป้าธิดา” เหิมต้องเสรีนิยม แนะออกจากคำว่าระบอบทักษิณ “ธีรภัทร์” โยนระเบิดตู้ม นายกฯ เข้าประชุมสภายังทำไม่ได้แล้วจะทำเรื่องอื่นได้อย่างไร แนะนำผลการศึกษาในอดีตมาใช้ “บิ๊กจิ๋ว” เผยสถาบันแก้ความขัดแย้งลำบากแล้ว ทหารไม่ได้สร้างประชาธิปไตย เลียรัฐบาลจนลื่นเห็นคุณค่า กลัวแก้ไม่ได้มวลชนจะแก้เอง “ปู่พิชัย” แนะนายกฯ ขายฝันโรดแมป เชื่อความขัดแย้งลดลง
       
       วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอทางออก ของประเทศไทย “เดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” โดยบรรยากาศการอภิปรายของผู้เข้าร่วมเวทีในช่วงต่อมา นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า สำหรับรายงานของ คอป.ได้ใช้กลไกสากลในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยเข้าไปศึกษาสาเหตุที่เป็นรากเหง้าเพราะจะทำให้เราศึกษาในแบบที่ไม่ใช่หา แนวทางแก้เฉพาะหน้า และจะสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งจากการศึกษาของ คอป.
       
       สำหรับปัญหาระยะสั้นนั้นยากมาก เพราะประเทศไทยยังอยู่ในความขัดแย้งที่ยังไม่สลายตัวไป แนวคิดที่จะให้การเยียวยาที่เหมาะสม กลไกนิรโทษกรรมอาจจะยังไม่มีความไว้วางใจ ทาง คอป.เสนอความเห็นไว้ว่า ความยากของไทยคือ การสร้างเวทีที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย ไม่ถูกครอบงำจากการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้มองว่าคนไม่ได้ร่วมแล้วต้องตกรถไฟ แต่ต้องพูดคุยกันอย่างกัลยาณมิตร
       
       นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต กล่าวว่า ทุกสังคมมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นความปกติของสังคมมุนษย์ ดังนั้น เราต้องสร้างกลไกเพื่อให้ทุกคนพูดคุยกันได้ ถ้าเรามีความขัดแย้งและกลัวขัดแย้งเราจะไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องให้น้ำหนักเป็นอย่างมากคือ ต้องหาสาเหตุของปัญหา จริงอยู่การแก้ไขปัญหาควรมองอนาคต แต่ถ้าจะมองอนาคตโดยไม่มีพื้นฐานหรือรู้รากเหง้าของปัญหาก็แก้ปัญหาไม่ได้ สำหรับการปฏิรูปนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอิงประชาชนเป็นหลัก ถ้าสมมติมีการเสนอทางออกที่เป็นประโยชน์ มีการเห็นชอบหลายฝ่าย ตนเห็นว่าน่าจะมีการลงประชามติเรื่องดังกล่าว รวมทั้งสิทธิขั้นฐานของประชาชนเพื่อเป็นสัญญาประชาคม นอกจากนี้ การจะปฏิรูปให้สำเร็จ ทุกคนจำเป็นต้องยอมถอยคนละก้าว
       
       นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนมาเข้าร่วมไม่ได้มาเพื่อให้มีความปรองดอง ความสามัคคี แต่ต้องการให้ประเทศเกิดทางออกที่แท้จริง เวทีนี้หากจะได้ผลไม่ใช่ให้ชนชั้นนำ 70 คนมานั่งคุยกัน หรือไปให้นักวิชาการไปนั่งคุยกันอีก 10 วง แล้วเป็นผลงานอยู่ตรงนั้น แต่ต้องการให้เป็นการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งประเทศ เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ ท่านจะเป็นนักวิชาการหัวกะทิอย่างไร แต่ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมืองก็ไร้ผล ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ถามจุดยืนว่าทำทั้งหมดเพื่ออะไร ทั้งนี้ อยากให้การปฏิรูปเป็นวาระ และเป็นการปฏิรูปของประเทศ เวทีแห่งการเรียนมากกว่าการมาต่อรองผลประโยชน์ให้ถอยคนละก้าว
       
       นางธิดา กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนไทยทุกคนมีธาตุดี ไม่ว่าจะเป็นมวลชนพื้นฐานหรือชนชั้นนำ เวทีการปฏิรูปควรเริ่มด้วยเป้าหมายประเทศไทยว่าต้องการประเทศแบบไหน การเมืองการปกครองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจเป็นอย่างไร และสังคมเป็นอย่างไร แม้ว่าเวทีนี้จะพูดถึงการปฏิรูปการเมือง แต่ไม่ได้มีอะไรโดดเดี่ยว เพราะส่งผลซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ท่านอาจจะทำโมเดลมาดีมาก แต่สังคมอาจจะไม่สามารถรับโมเดลได้ เราจึงขอเสนอเราต้องการการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
       
       ประชาชนที่มีความขัดแย้งทุกวันนี้ สิ่งที่เขาต้องการคือความเสมอภาคทางการเมือง เราจะให้เขาได้หรือไม่ เราต้องการอุดมการณ์เสรีนิยม ในการปฏิรูปทางการเมืองหนีไม่พ้นที่จะต้องมีปัญหาในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราเน้นในปัญหานี้ เพราะเป็นกติกาสูงสุดทางการเมือง รวมทั้งกลไกอื่นๆ ที่ทำให้มีความเสมอภาคอย่างกระบวนการยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง และแนวคิดเสรีนิยม ต้องมีการปฏิรูปสื่อ ระบบราชการ และงานวิจัย นอกจากนี้ ความขัดแย้งในสังคมตนคิดว่าขอให้ออกจากวาทกรรมของคำว่า ระบอบทักษิณ หรืออย่างอื่น ขอเสนอว่าหากเราไม่พูดถึงรากเหง้าความขัดแย้งที่ถูกต้องเราจะหาทางออกไม่ได้ เพราะยังยึดติดที่ตัวบุคคล
       
       นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาพัฒนาการเมืองเคยเสนอยุทธศาสตร์ 6 ข้อเพื่อเป็นทางออกคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง การเสริมสร้างงานทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองเน้น คุณธรรมจริยธรรม ธรรมาภิบาลทางการเมือง การบริหาร ความมั่นคง ในการจัดการความขัดแย้ง และการสร้างสังคมสมานฉันท์ รวมทั้งการกระจายอำนาจและการสร้างความเป็นธรรมในการบริหารทรัพยากร
       
       ทั้งนี้ ปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเราไม่อาจนับหนึ่งใหม่ได้ แต่เราควรจะนำผลการศึกษาของคณะบุคคลต่างๆ มาเป็นข้อมูล ให้เป็นรูปธรรมใน 3 เดือนไม่ควรเกิน 6 เดือน ขอฝากนายกฯว่าในเรื่องของกลไก และระบบจะทำอย่างไรที่จะให้การปฏิรูปประเทศเป็นรูปธรรม โดยการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว ไม่ใช่เพียงช่วงเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปได้ยาก ตนคิดว่าปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มีการบอกว่าประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก แต่ประชาธิปไตยในมุมมองของตนมีอีกหลายหลักที่ต้องทำควบคู่กันไป เช่น หลักเหตุผล คุณธรรมจริยธรรม นิติรัฐ นิติธรรม ผลประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกันความปรองดองก็จะเกิดได้ยาก ซึ่งต้องใช้เวลาและสร้างพลเมืองตั้งแต่เด็กๆ
       
       นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากฝากนายกฯ และเวทีปฏิรูป ในเรื่องการสร้างกลไกที่ทำให้การพูดคุยในวันนี้เกิดผลโดยเร็วที่สุดใน 3 เดือน และสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนก็ต้องดึงออกมาหารือเป็นเรื่องๆ ถ้าไม่ได้ข้อยุติต้องบอกประชาชนจนกว่าจะได้ข้อยุติที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ จริงๆ และขอชมเชยนายกฯ แม้เรื่องนี้จะล่าช้ามา 2 ปี และตนคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดผลดีต่อบ้านเมืองคือ เรากลับมาพิจารณาตนเองว่าอะไรที่สามารถทำได้ง่ายๆ ตนอ่านข่าวแล้วไม่สบายใจที่มีการวิจารณ์นายกฯ ในเรื่องที่ไม่เข้าประชุมสภา แค่ไปเข้าประชุมสภายังทำไม่ได้แล้วจะทำเรื่องอื่นได้อย่างไร ตนคิดว่าไหนๆ แล้วเราทำเรื่องที่ง่ายที่สุดและไม่ต้องพึ่งพาใคร และจะค่อยๆ คืบไปทีละเล็กละน้อย
       
       “เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะพูดไปในทิศทางเดียวกันด้วยความเข้าใจบน พฤติกรรมเดียวกันบ้านเมืองจึงจะไปรอด แต่ถ้าเมื่อไร เรายังมีกิเลสนึกถึงตัวเองเป็นหลักไม่นึกถึงคนอื่น บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้ามองย้อนไปในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก ก็เพราะคนไทยทะเลาะกัน และพุทธศักราชนี้ก็ไม่มีข้าศึกจากภายนอก แต่เป็นศึกภายในที่เราทะเลาะกัน ดังนั้น ไม่มีใครแก้ไขปัญหาเท่าตัวเรา บนความรู้สึกที่เป็นคนชาติเดียวกัน ไม่มีชนชั้น ซึ่งประเทศชาติจะไปรอด” นายธีรภัทร์ กล่าว
       
       พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนไทยเราผ่านอุปสรรคมาเยอะ ไม่อยากให้มีความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะปัญหาขัดแย้งมีมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ทุกครั้งสถาบันกษัตริย์จะเป็นสถาบันแรกที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่วันนี้ก็คงจะลำบาก เพราะพวกเราเที่ยวไปต่อว่า พูดจาอะไรต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ดังนั้น สถาบันที่ 2 ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ทหาร ซึ่งรับผิดชอบมาหลายที คือรัฐประหาร แต่สิ่งที่ทหารทำได้อย่างเดียวคือรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงๆ สถาบันที่ 3 คือ สถาบันของรัฐบาล เป็นโชคดีที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญและคุณค่า พยายามที่จะใช้เวลาที่มีอยู่อันน้อยนิดแก้ไข แต่น่ากลัวมากถ้าหากรัฐบาลแก้ไขไม่ได้ และสถาบันที่ 4 ก็จะลุกมาแก้ไขเองนั่นคือมวลชน นี่คือความเป็นจริงในประวัติศาสตร์
       
       “ความจริงไม่ยากเลย เพราะประชาชนต้องการประชาธิปไตยและต้องการอำนาจ ซึ่งเป็นหลักอธิปไตยของปวงชน ตรงนี้เป็นหลักสำคัญที่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น ตอนนี้มีหลายกลุ่มพยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ความจริงแล้วถ้าจะสร้างจริงๆ พรุ่งนี้ก็สร้างได้ แต่วันนี้ที่ยังไม่ถือว่าให้อำนาจกับประชาชน เพราะอำนาจที่แท้จริงต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับการเลือกตั้ง” พล.อ.ชวลิต กล่าว
       
       นายโอภาส เตพละกุล ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนภาคเอกชนในการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาประเทศ เช่น ปัญหาการเดินขบวนออกมาเรียกร้องปัญหาปากท้องหรืออื่นๆ ของประชาชน รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานขึ้นมารับฟังปัญหา และเชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เดือดร้อนเข้ามาพูดคุยว่าเขาต้องการอะไร โดยปัญหาทางการเมืองที่ขัดแย้งรัฐบาลอาจต้องเชิญฝ่ายค้านร่วมพูดคุยด้วยเช่น กันว่าจะแก้อย่างไรให้เกิดทางออก ซึ่งถ้าหากมีเวทีแบบนี้การบริหารจะเกิดประโยชน์ การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องจะน้อยลง ทำให้บริหารประเทศได้ง่าย รัฐบาลจะเดินหน้าได้เร็ว
       
       “ปัญหาเรื่องยางพารา ตนเห็นว่ามีผู้รู้ปัญหาในเรื่องนี้หลายคนออกมาให้ความรู้และวิธีแก้ปัญหาที่ ถูกต้อง แต่การที่การแก้ไขยังไม่ตรงจุด เพราะรัฐบาลไม่ได้ยินคนพวกนี้พูด ผู้มีอำนาจสั่งการไม่ได้ยินจึงไม่เกิด แต่ถ้าเปิดเวทีรัฐบาล ให้ผู้มีอำนาจโดยตรงไปฟังผู้มีปัญหารัฐบาลก็จะรู้ทุกปัญหา คือสิ่งที่อยากดูว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้อยากให้รัฐบาลเปิดเวทีแบบนี้ทุกสัปดาห์ ถึงเหนื่อยมาก็ต้องยอมเพราะปัญหาประเทศมีมาก” นายโอกาส กล่าว
       
       นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ถึงตนจะเห็นด้วยถึงข้อเสนอของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่แนะนำว่า ใครสนใจเรื่องอะไรให้เสนอรัฐบาล แต่ถึงข้อเสนอนี้จะดีแต่ไม่เหมาะสม เพราะเวทีนี้คงไม่สามารถพูดคุยกันครั้งละหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องต่างประเทศ หรือเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจมีการตั้งกลุ่มพูดคุยขึ้นมาและ เชิญคนที่เชี่ยวชาญมานั่งด้วย และให้ข้อมูลที่ดี ตนจึงสนอเช่นนี้
       
       นายพิชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคนไทยไม่อยากเห็นการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่อยากเห็นการมองอนาคต การที่นายกฯ บอกว่าจะเน้นเรื่องอนาคต ไม่มีคำว่าปฎิรูปเลย ตนจึงอยากเน้นว่าให้นายกฯทำโรดแมปของเมืองไทยจากนี้อีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สังคม การเมือง ถ้าทำเช่นนี้ได้ เชื่อว่าความขัดแย้งจะลดลงโดยอัตโนมัติ ประกอบกับถ้าเราวางแผนระยะยาวบวกกับแผนระยะสั้นก็จะเดินไปได้ลงตัวมากขึ้น ซึ่งการวางแผนระยะยาว และการควบคุมงบประมาณนั้นสำคัญมาก หากบริหารไม่ดีจะเดินไปสู่โรดแมปยาก ตนอยากให้ดูตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่เมื่อก่อนล้าเรา แต่ตอนนี้เขานำหน้าเราไปมาก เพราะเขามีโรดแมปชัดเจนมานานแล้ว
       
       นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสภาร่างรัฐธรรนูญปี 2540 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดความขัดแย้ง นักเลือกตั้งหรือการเมืองเท่านั้น ที่จะต้องถูกประณาม ตำหนิ ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ที่ต้องถูกปฎิรูป ไม่ได้มีเพียงแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่ต้องรวมผู้ที่มีส่วน หมายถึงผู้เกี่ยวข้องอำนาจผลประโยชน์ เช่น กลุ่มคนที่ทำการปฏิวัติ ก็หลุดจากการถูกปฏิรูปไปโดยสามารถลอยตัวเหนือปัญหา ซึ่งถ้าจะปฏิรูปเพื่อทางออกประเทศมีหลัก 7 ด้านที่ต้องปฏิรูป คือ 1.ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูประบบกฎหมาย 3.ปฏิรูปโครงสร้างทางอำนาจ ทั้งระบบศาล และกระบวนการยุติธรรม 4.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ 5.ปฏิรูปการศึกษา 6 ปฏิรูปด้านสาธารณสุข และ 7.ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนในทุกขั้นตอน
       
       “ที่สำคัญ กองทัพต้องปฏิรูป รวมถึงระบบราชการ ศาล และธุรกิจภาคเอกชน เช่น นักวิชาการที่ชี้น้ำสังคมได้ สื่อมวลชน องค์กรอิสระ ขณะนี้ต้องปฏิรูปอย่างมาก สุดท้ายก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมอยู่วงการเมืองมา 30 ปี เห็นว่า สาเหตุที่การปฏิรูปบ้านเมืองที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่าเกิดความล้มเหลว นั้น คือเราไปมุ่งปฏิรูปเฉพาะนักการเมืองที่เป็นนักเลือกตั้ง จนทำให้เป้าหมายในการที่เราต้องปฏิรูปอย่างแท้จริงลอยตัวจากปัญหา เช่น การคอร์รัปชัน นักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ ซึ่งถ้าไม่คอร์รัปชันจะทำให้ระบบอื่นจะไม่คอร์รัปชันตามไปด้วย” นายคณิน กล่าว
       
       นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ทางกฎหมายไม่เป็นธรรม อำนาจความรู้ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ บอกว่าตั้งการปฏิรูปจะตั้งใจเพิ่มเน้นเรื่องที่ทำกินของเกษตรกรไทยนั้น ตนอยากบอกนายกฯว่า ขณะนี้เกษตรกรทั้งประเทศ มีปัญหาการถือครองที่ดิน จึงไม่สามารถทำการเกษตรระยะยาว โดยจะปลูกพืชสวนอายุยืนก็ไม่ได้ เพราะเกรงว่ารัฐจะเอาที่คืน รวมถึงการที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเลย ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่ไม่ทั่วถึง จนทำให้ชาวนา เกษตรกร กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
       
       ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตและปัญหาที่สำคัญคือ เกรงว่า คนที่ได้รับอานิสงส์การปฏิรูปช่วยเหลือต่างๆ ที่ผ่านมาจากรัฐบาลนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนเมืองผู้มีอันจะกิน ส่วนเกษตรกรได้รับน้อยมาก ซึ่งถ้าผู้ปฏิรูปไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้จะช่วยได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม อยากจะบอกว่า ถ้านักการเมืองคนใดทำงานไม่ดี ไม่จริงใจ ประชาชนก็จะลงโทษเอง
       
       มีรายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ทางรัฐบาลได้ใช้ห้องประชุมภายในตึกสันติไมตรีหลัง นอกเป็นสถานที่การประชุม โดยห้ามสื่อมวลชนเข้าไปรับฟัง เพียงแต่เปิดโอกาสให้ช่างภาพเข้าไปบันทึกภาพก่อนเริ่มการประชุมในช่วงแรก เพียง 5 นาที จากนั้นได้เชิญออก ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดเตรียมห้องประชุมภายในตึกสันติไมตรีหลังใน พร้อมติดตั้งจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อถ่ายทอดผ่านกล้องซีซีทีวีให้สื่อมวลชนได้ติดตามและรายงานข่าวแทน
       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ค่อนข้างจะเข้มงวดกับสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก โดยห้ามสื่อมวลชนเดินไปมาภายในตึกสันติไมตรี รวมถึงห้ามเข้าห้องน้ำภายในตึกสันติไมตรี แต่ให้เดินไปใช้ที่ตึกสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ติดกันแทน นอกจากนี้ ในการรับประทานอาหารกลางวันของผู้เข้าร่วมประชุมที่ทางรัฐบาลได้ใช้พื้นที่ ตรงบริเวณห้องโถงติดกับห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังในที่สื่อมวลชนอยู่ ทางเอเยนซียังได้ห้ามสื่อมวลชนเปิดม่านดูหรือบันทึกภาพโดยเด็ดขาด โดยระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ได้กำชับมา
       
       ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเวทีปฏิรูปการเมืองว่า คาดว่า น่าจะมีข้อสรุป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นที่มีความสำคัญขณะนี้ โดยเหลือเพียงอย่างเดียวว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้จะต้องหันหน้าพูดคุยกัน ซึ่งถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ก็ต้องร่วมกันแก้ไข ปกครอง ดำเนินการ ให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าไปได้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติบทบาท จะเป็นผลดีต่อเวทีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการหรือไม่ พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนที่ออกมานั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของสังคม บ้านเมืองและประเทศชาติ ไม่มีใครที่ทำเพื่อส่วนตัว แต่น่าเสียดายที่ไม่เข้ามาร่วม และเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ คงไม่อยู่เฉย น่าจะมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง เมื่อถามว่า เวทีครั้งนี้ขาดกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลเข้าร่วม พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า คนที่เข้ามาร่วมส่วนใหญ่ต้องการที่จะเข้ามาร่วมมีบทบาท และให้ข้อคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องทำให้บ้านเมืองอยู่รอด
       
       เมื่อถามว่า น่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าเวทีนี้จะไม่มีใครสานต่อ พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ได้มีการสอบถามกันแล้วว่า จะไม่มีการยุติ ซึ่งเรื่องที่เสนอไปนั้นสามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ เรื่องปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เราให้ทุกอย่างยกเว้นสิ่งที่เขาขอ ซึ่งสิ่งที่ขอก็เราเข้าใจผิด เป็นเพียงต้องดูแลตัวเอง ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า การหารือในวันนี้เป็นประโยชน์แน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปู สะดุ้ง ธีรภัทร์ ซัดแสกหน้า เข้าประชุมสภา ยังทำไม่ได้ ทำเรื่องอื่น ได้ยังไง

view