สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุฬาฯผุด อักขราวิสุทธิ์ ตรวจลอกวิทยานิพนธ์

จาก โพสต์ทูเดย์

จุฬาฯพัฒนาโปรแกรม"อักขราวิสุทธิ์"ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ ป้องกันการลอกผลงาน เผยระดับปริญญาตรีลอกจากวิกิพีเดียจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงเรื่อง "จุฬาฯ กับมาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ" โดยระบุว่า ปัจจุบันพบรูปแบบการลักลอกผลงานมีทั้งการนำเอางานของคนอื่นมาอ้างเป็นของตัว เอง หรือเอาบางส่วนของงานผู้อื่นมาใช้ โดยไม่มีการอ้างอิงที่มา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ารับไม่ได้ และในวงวิชาการนานาชาติถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมาก

สภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นนโยบายในการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการ โดยเริ่มตรวจสอบในระดับบัณฑิตศึกษาก่อน จากนั้นจึงจะเข้ามาตรวจสอบในระดับปริญญาตรีต่อไป ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการในระดับบัณฑิตวิทยาลัย ผ่านโปรแกรมที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเอง รวมถึงมีนโยบายให้มีการตรวจสอบการส่งงานในระดับปริญญาตรี ซึ่งมักพบว่ามีการคัดลอกมาจากวิกิพีเดียจำนวนมาก

ด้าน รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯกำหนดให้นิสิตเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยโปรแกรม ซียู อี-ธีสิส(CU e-Thesis) ซึ่งนิสิตทุกคนจะต้องส่งแบบรายงานความก้าวหน้าและแผนการทำวิทยานิพนธ์ทุกภาค การศึกษา โดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะสามารถติดตามวิทยานิพนธ์ได้ตลอดเวลา และมาตรการสุดท้ายคือการติดตามตรวจสอบด้วยโปรแกรมเทิร์นอิทอิน(Turn it in)และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ซึ่งจุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาขึ้น โดยปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อความที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมให้รองรับการตัดต่อหรือสลับข้อความ รวมถึงการคัดลอกข้อความโดยหลีกเลี่ยงใช้คำภาษาไทยอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ด้วย

"บัณฑิตวิทยาลัยจะเริ่มใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีวิทยานิพนธ์ประมาณ 700-800 เล่มที่จะเข้ารับการตรวจสอบ โดยฐานข้อมูลปัจจุบันของโปรแกรมนี้จะประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ 15,000 เล่ม ซึ่งย้อนหลังตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 สารนิพนธ์ 2,000 รายการ วารสาร, รายงานวิจัย และอีบุ๊คของจุฬาฯ ทั้งนี้ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนวิทยานิพนธ์จำนวน 2,500 เล่มต่อปี และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดของจุฬาฯ รวมถึงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จุฬาฯ จะพัฒนาโปรแกรมให้เชื่อมต่อฐานข้อมูลวิกิพีเดียและฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อการตรวจสอบที่ดียิ่งขึ้น" รศ.ดร.อมร กล่าว

ทั้งนี้คาดว่าโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถป้องกันการลักลอกผลงานได้ 100% โดยเบื้องต้นการคัดลอกผลงานกันเองในจุฬาฯ จะทำไม่ได้แล้ว เพราะในโปรแกรมมีฐานข้อมูลทั้งหมด ซึ่งในอนาคตหากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้ามาร่วมกันใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ก็จะสามารถตรวจสอบผลงานวิทยานิพนธ์ทั่วประเทศได้ ทางจุฬาฯ ยินดีให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จุฬาฯผุด อักขราวิสุทธิ์ ตรวจลอกวิทยานิพนธ์

view