สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้องบังคับออมจึงจะออมได้จริงหรือ

ต้องบังคับออมจึงจะออมได้จริงหรือ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสเป็นผู้วิจารณ์ผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหัวข้อ

วิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนวัยก่อนเกษียณกับการเพิ่มโอกาสเกษียณสุข


ซึ่งวิจัยโดยคุณปฐมาภรณ์ นิธิชัย และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายๆ ท่าน เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงอยากนำมุมมองบางส่วนของบทวิจัยและความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนารวมถึงของตัวดิฉันเองมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในวันนี้ เพราะมีหลายโจทย์ให้ทุกคนนำไปคิดต่อค่ะ


บทวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและนำเสนอแนวทางส่งเสริมการสะสมสินทรัพย์ให้เพียงพอกับวัยเกษียณสำหรับกลุ่มแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปี ด้วยการเพิ่มรายได้จากการลงทุน โดยพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีรายได้อยู่ในช่วงปานกลางค่อนข้างสูง ถึงรายได้สูงนั้น มีมูลค่าพอร์ตการลงทุนเฉลี่ยเพียง 1.8 ล้านบาท โดยกลุ่มที่คาดว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณประมาณ 61% และคาดว่าจะไม่เพียงพอ 39%


ข้อสังเกตของดิฉันคือ กลุ่มตัวอย่างมีการพึ่งพิงการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลงทุนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และพึ่งพิงเงินจากการประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ค่อนข้างสูง และพอร์ตส่วนใหญ่ยังเป็นพอร์ตแบบอนุรักษนิยมมากๆ คือมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นทุนน้อย


ทั้งนี้โครงสร้างพอร์ตการลงทุนของกลุ่มที่มีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณ โดยจะขอเรียกต่อไปว่ากลุ่ม เกษียณสุขนั้น ในปัจจุบันมีมูลค่าพอร์ตเฉลี่ย 2.5 ล้านบาท มีการลงทุนในเงินฝากและตั๋วแลกเงิน 23% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า 23% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. 17% ประกันชีวิต 11% อัญมณีหรือทองคำ 8% หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ 6% ตราสารหนี้ (หุ้นกู้/พันธบัตร/กองทุนตราสารหนี้) 5% หุ้นสามัญ 5% กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 2% กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 1% มูลค่าพอร์ต ณ วันเกษียณที่ผู้วิจัยคำนวณได้ มีค่าเฉลี่ย 10 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้มีพอร์ตที่ 7 ล้านบาทมากที่สุด (ค่ามัธยฐาน (Median) 7 ล้านบาท)


ส่วนโครงสร้างพอร์ตการลงทุนของกลุ่มที่คาดว่าจะมีเงินไม่พอเพื่อการเกษียณ โดยต่อไปนี้จะขอเรียกว่ากลุ่ม เกษียณทุกข์ ในปัจจุบันมีมูลค่าพอร์ตเฉลี่ย 0.8 ล้านบาท มีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. 33%เงินฝากและตั๋วแลกเงิน 20% ประกันชีวิต 16% หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์และการลงทุนในอัญมณีและทองคำ ในสัดส่วนเท่ากันคือ 9% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า 7% ตราสารหนี้ 2% หุ้นสามัญ 2% LTF 1% RMF 1% และไม่มีการลงทุนในกองทุนตราสารทุน(กองทุนหุ้นทุน)ทั่วไป มูลค่าพอร์ต ณ วันเกษียณที่ผู้วิจัยคำนวณได้ มีค่าเฉลี่ย 3.3 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้มีพอร์ตที่ 1.9 ล้านบาทมากที่สุด (ค่ามัธยฐาน (Median) 1.9 ล้านบาท)


ถามว่าโครงสร้างพอร์ตแบบนี้มีความแตกต่างจากผู้มีความมั่งคั่งสูงอย่างไร ดิฉันไม่มีข้อมูลของคนไทย จึงขอนำเอาข้อมูลพอร์ตของเศรษฐี หรือผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก คือมีความมั่งคั่งเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31.8 ล้านบาทขึ้นไป ที่ประมาณการโดย Capgemimi และพอร์ตของมหาเศรษฐี ที่มีความมั่งคั่งเกิน 10 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 318 ล้านบาทขึ้นไปที่สำรวจโดย Knight Frank มาเปรียบเทียบ


เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไม่ได้แบ่งประเภทของสินทรัพย์ชัดเจนแต่แบ่งตามรูปแบบ ดิฉันจึงตั้งสมมุติฐานพอร์ตการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. ให้มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นทุน 10% อสังหาริมทรัพย์ 5% ส่วนที่เหลือ 85% ลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ จัดการประกันชีวิตให้ไปอยู่ในการลงทุนประเภทเงินฝาก/ตั๋วแลกเงิน เนื่องจากลักษณะผลตอบแทนใกล้เคียงกัน และจัดหุ้นสหกรณ์ให้ไปอยู่ในการลงทุนประเภทตราสารหนี้


ผลออกมา พบว่าชนชั้นกลางของไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังลงทุนในหุ้นสามัญหรือหุ้นทุนเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของพอร์ตการลงทุนต่ำ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินไม่พอสำหรับการเกษียณ


การสำรวจนี้ทำเมื่อปีที่แล้ว หากทำในปีนี้อาจจะพบว่าสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เพราะข้อมูลจาก Morning Stars พบว่า ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทุนสูงถึง 6,500 ล้านบาท


นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ยังพบว่า กลุ่มที่เกษียณทุกข์ มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มเกษียณสุข แต่ก็ไม่น้อยกว่ามากนัก โดยเฉลี่ยน้อยกว่าเพียง 9% แต่ปัจจัยที่ทำให้มีเงินออมน้อยกว่าคือการมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ากลุ่มเกษียณสุขคือมีค่าใช้จ่าย 78% ของรายได้ ในขณะที่กลุ่มเกษียณสุขมีค่าใช้จ่ายเพียง 55% ของรายได้ ทำให้อัตราการออมแตกต่างกัน คือกลุ่มเกษียณสุข มีอัตราการออมเฉลี่ย 22% ในขณะที่กลุ่มเกษียณทุกข์มีอัตราการออม 13% ของรายได้ ทั้งนี้ข้อมูลบ่งว่ากลุ่มเกษียณสุขมีผู้อยู่ภายใต้การอุปการะเฉลี่ย 1.9 คน ในขณะที่กลุ่มเกษียณทุกข์มีผู้อยู่ภายใต้การอุปการะเฉลี่ย 2.4 คน จึงอาจเป็นสาเหตุให้มีรายจ่ายสูงและเก็บเงินได้น้อยกว่า


ดังนั้น การวางแผนการใช้จ่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนต้องให้ความใส่ใจค่ะ
เพื่อให้ผู้ลงทุนไม่เสียโอกาสในการลงทุน ดิฉันเห็นว่า เราควรจะมีการรณรงค์ให้ผู้ลงทุนซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภท Unit-Linked ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับจะผูกอยู่กับผลตอบแทนของกองทุนที่ไปลงทุน เช่น หุ้นทุน หรือกองทุนผสม ซึ่งแม้ในระยะสั้นจะมีความผันผวน แต่เงินที่ลงทุนเพื่อการเกษียณเป็นเงินระยะยาว จึงสามารถรับความเสี่ยงหรือความผันผวนได้มากกว่า หากซื้อกรมธรรม์ออมทรัพย์แบบปกติ ผลตอบแทนที่ผู้ซื้อกรมธรรม์ได้รับจะใกล้เคียงกับ ตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เงินเกษียณน้อยกว่าที่ต้องการค่ะ


ประเด็นเรื่องการที่ผู้ลงทุนไทยลงทุนเพื่อการเกษียณโดยพึ่งพิงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข.เป็นหลัก ทำให้เห็นว่าผู้ลงทุนยังไม่มีการตระหนักถึงจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อการเกษียณ จึงออมเฉพาะที่ถูกบังคับให้ออม หรืออาจจะพอทราบว่าเงินที่ออมคงไม่พอเพียงสำหรับการเกษียณ แต่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางท่านจึงเสนอให้ทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นภาคบังคับ โดยบังคับให้ทุกบริษัทต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน ดิฉันเห็นว่าในระยะแรกนี้ อาจบังคับกับบริษัทจดทะเบียนก่อน มีเกณฑ์อยู่แล้วค่ะแต่หลังวิกฤติเรายกเว้นการใช้ไปก่อน และในอนาคตอาจขยายไปถึงบริษัทขนาดกลางต่อไป


นอกจากนี้ นโยบายการลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุไม่ควรจะอนุรักษนิยมจนเกินไป ควรเป็นนโยบายลงทุนแบบผสม มีผู้เสนอว่าหากค่อยๆลดความเสี่ยงในการลงทุนลงตามอายุของสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในลักษณะเหมือน Life Cycle Fund หรือ Lifestyle Fund จะเหมาะสม


ปัจจุบันสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและสมาชิก กบข. สามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว จากข้อมูลของสำนักงานก.ล.ต.ปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เปิดให้สมาชิกเลือกนโยบายลงทุนแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด และถ้าไม่เลือก ปัจจุบันยังต้องลงทุนอันที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด (ซึ่งมีผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำด้วย) การแก้ไขให้เป็นการลงทุนในกองทุนที่กรรมการกองทุนกำหนด ยังอยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขกฎเกณฑ์ค่ะ ดิฉันอยากให้ออกมาเร็วๆ และอยากให้กรรมการกองทุนเลือกนโยบายการลงทุนแบบผสมเป็นนโยบายที่จัดให้สำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกหรือที่เรียกว่า Default Policy ค่ะ


วันนี้ท่านออมเพื่อการเกษียณอายุแล้วหรือยัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้องบังคับออม ออมได้จริงหรือ

view