สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก้าวแรก สภาปฏิรูปติดหล่มวังวนเดิม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เปิดฉากประชุมเวทีสภาปฏิรูปประเทศไทยนัดแรกแบบเป็นทางการ แต่ทว่าเส้นทางที่หวังว่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมให้ หมดไปยังดูตีบตัน หนำซ้ำแค่การออกตัวก้าวแรกก็ทำท่าจะก้าวไม่พ้นวังวนเดิมๆ จนสังคมย่ำอยู่กับที่มานาน

ไม่ต้องมองอื่นไกล แค่พิจารณาจากบรรดาผู้ที่เข้าร่วมเวที “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ซึ่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานนั้น ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ถูกมองว่ามีความคิดความอ่านไปทางเดียวกับรัฐบาล

ถึงแม้จะมีบางกลุ่มที่เป็นคนกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ก็เป็นเพียงจำนวนน้อย ในขณะที่คู่ขัดแย้งที่ประกาศยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะสลายความขัดแย้งที่หมักหมมตราบเท่าที่คู่ขัดแย้งยัง ไม่ยินยอมพร้อมใจจะหันหน้าพูดคุยกัน

นอกจากปฏิเสธร่วมสังฆกรรมแล้ว ประชาธิปัตย์ยังอัดกลับด้วยว่าสภาปฏิรูปเป็นเพียงแค่ละครการเมือง เพราะเชิญแต่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น เวทีนี้จึงไม่ใช่กลไกที่มีประสิทธิภาพในการหาทางออกให้ประเทศอย่างแท้จริง

พิจารณารายละเอียดกรอบ 7 ข้อ ซึ่งเป็นบทสรุปจากการประชุมนัดแรก ที่จะนำไปใช้เป็นโจทย์ทำ “แผนแม่บท” ปฏิรูปการเมืองของประเทศระยะยาว หลายเรื่องดูซ้ำซ้อนกับความพยายามหลายชุดก่อนหน้านี้ ที่สุดท้ายไม่นำไปสู่การปฏิบัติ

อุปสรรคการปฏิรูปที่ผ่านมาจึงอยู่ที่ “รัฐบาล” ซึ่งไม่ได้จริงใจ จริงจังจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ไม่มีแนวทางที่จะนำไปปฏิรูป

การจัดเวทีปฏิรูปรอบนี้จึงถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” สร้างความชอบธรรมให้กับการเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แรงเสียดทานในสังคมกำลังก่อตัวรุนแรงและยากจะฝ่าฟันไป

เมื่อด้านหนึ่งเวทีปฏิรูปถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงแค่การซื้อเวลา ลดแรงเสียดทานที่กำลังร้อนแรงในช่วงที่การเมืองนอกสภากำลังฮึ่มฮั่ม ช่วงที่กฎหมายเตรียมตั้งเค้าจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรก และจะได้อาศัยแรงหนุนจากเวทีปฏิรูปมาช่วยผลักดันกฎหมายปฏิรูปจนสุดซอย

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงดูทั้ง 7 ข้อ ได้แก่ 1.การปฏิรูปจะต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3.สร้างกลไกการทำงานให้มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน 4.สร้างความยุติธรรมและความเสมอภาค 5.การรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 6.สร้างความไว้ใจ การให้อภัย และสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ และ 7.ยึดประโยชน์ของส่วนรวม ถอดความเป็นตัวตน และให้ยึดความถูกต้อง

หลายต่อหลายข้อสามารถเริ่มต้นเดินหน้าทำได้เลย ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ทั้งที่เวลานี้มีกฎหมายรอการผลักดันเดินหน้าไปสู่การปฏิบัติหลายเรื่อง ทั้งธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน รวมไปถึงภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ฯลฯ ซึ่งประชาธิปัตย์เริ่มต้นเอาไว้ แต่รัฐบาลนี้กลับไม่สนใจผลักดันต่อไป

ไปจนถึงการสร้างกลไกการทำงานให้โปร่งใส หรือสร้างความยุติธรรมและเสมอภาค หรือการรับฟังความเห็นมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หรือสร้างความไว้ใจ การให้อภัย ประเด็นเหล่านี้รัฐบาลสามารถเดินหน้าทำได้ทันที

รวมไปถึงข้อสุดท้ายยึดประโยชน์ของส่วนรวม ยึดหลักภาคประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าสุดท้ายรัฐบาลพร้อมจะเดินไปบนเส้นทางนี้หรือไม่ เมื่อภาพลักษณ์ที่ผ่านมาดูจะสวนทาง มีการตั้งข้อสังเกตตลอดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังหลายนโยบายเป็นไปเพื่อพวก พ้องมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม

สุดท้ายจุดหมายปลายทางของเวทีปฏิรูปรอบนี้จึงอาจจะจบลงด้วยบทสรุปหลาย ร้อยหน้า คล้ายกับที่เวทีอื่นๆ ก่อนหน้านี้เคยทำมา ที่สำคัญบทสรุปที่ได้ก็จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจนำไปปฏิบัติ หรือแค่เลือกหยิบนำไปปฏิบัติเพียงแค่บางเรื่องที่ตรงใจ

ยิ่งหากย้อนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน ในส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะ 21 ข้อ ล้วนแต่ครอบคลุมกรอบ 7 ข้อ ที่เวลานี้เวทีปฏิรูปกำลังจะกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกรอบ

ทั้งที่ “เวทีประชาเสวนา” 108 เวที ที่ไปจัดรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศเริ่มต้นเดินหน้าในช่วง 10 มิ.ย.28 ก.ค. 2556 กำลังเสร็จสิ้นและนำมาสู่การประมวลผลสรุปข้อมูลที่ได้

แต่ทางเวทีปฏิรูปกลับตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะปฏิรูปการเมือง คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ และคณะปฏิรูปสังคม โดยให้วางตัว “บรรหาร ศิลปอาชา” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา มาเป็นผู้ดูแลภาพรวม จึงย่อมถูกตั้งคำถามว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากน้อยแค่ไหน

ยังไม่รวมกับข้อเสนอสรุปสุดท้ายที่จะออกมาว่าจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุก ฝ่ายหรือไม่ ทั้งนี้ หากไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ สุดท้ายการตั้งสภาปฏิรูปรอบนี้ก็ยังหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ ที่ไม่อาจพาสังคมพ้นหล่มความขัดแย้งเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก้าวแรก สภาปฏิรูป ติดหล่ม วังวนเดิม

view