สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลไกวิกฤตการเงิน ในตลาดเกิดใหม่

กลไกวิกฤตการเงิน ในตลาดเกิดใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่แล้ว ฝ่ายวิจัยของมอร์แกน แสตนเลย์ ได้คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทย

ในช่วงนี้ จะได้รับผลกระทบแรงที่สุดจากปัจจัย 2 ประการ อันได้แก่ การลดขนาด QE หรือ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐ และ ความเสียหายของระบบสถาบันการเงินจากบรรดาประเทศในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าก็รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

ผมขอนำงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเกาหลีใต้มาฝากท่านผู้อ่าน ที่ได้วิเคราะห์ถึงความเสียหายแบบเป็นลูกโซ่ของระบบการเงินในเกาหลีใต้ ว่าจะลุกลามจากจุดใดไปจุดใดหากเกิดวิกฤตการเงินรอบใหม่ขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจเนื่องจากระบบการเงินของเกาหลีใต้และไทยก็ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แถมยังมีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติอีกด้วย บทความนี้ จึงขอตอบคำถามว่า หากเกิดวิกฤตการเงินขึ้น ซึ่งรอบนี้อาจจะสืบเนื่องจากการไหลออกของเงินทุนรอบใหม่ที่เป็นผลพวงมาจาก QE Tapering นั้น เราต้องระวังจุดเปราะบางของภาคการเงินตรงไหนกันบ้าง

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากวิธีการวิจัยแบบคร่าวๆ ก่อน จากรูปที่ 1 ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน จะประกอบด้วยสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตเชิงมหภาค (Macro Credit Loss) จะเกิดมาจากแรงกระเพื่อมด้านเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ บ้านเราอาจมาจากผลกระทบของจีดีพีที่ลดลงในช่วงนี้ รวมถึงเงินทุนที่ส่อว่าจะไหลออกไปอีกระยะ จนมูลค่าสินเชื่อในส่วนดังกล่าวต้องกลายเป็นหนี้เสีย และเมื่อความเสียหายรุนแรงขึ้นจนสินทรัพย์ดังกล่าวต้องโดนตัดออกจากงบดุลในที่สุด ตรงนี้ หากหนี้เสียดังกล่าวมีอยู่ไม่มากนัก ก็อาจใช้เงินกู้ระหว่างธนาคารมาสนับสนุนทางการเงินไปพลางก่อนได้ ซึ่งก็อาจจะต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงหน่อยแลกกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น (Credit Loss) ทว่าหากความเสียหายดังกล่าวมีปริมาณมากจริงๆ ก็จำต้องขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงๆ อาทิ เงินสด พันธบัตรต่างๆ มาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว เรียกส่วนนี้ว่าความเสียหายด้านความเสี่ยงด้านตลาด หรือ Market Loss แต่ถ้าขายไปเยอะๆ ก็พานจะทำให้ตลาดตื่นตระหนกจนเงินฝากของสถาบันการเงินดังกล่าวต้องถูกถอนออกเป็นการใหญ่ พร้อมกับต้องลดราคาสินทรัพย์ดังกล่าวมากๆ เรียกว่า Fire Sale Loss ถึงจะทำให้มีคนมายอมซื้อ

โดยงานวิจัยดังกล่าว มองระบบสถาบันการเงินของเกาหลีใต้ ในลักษณะที่เชื่อมโยงกันแบบเป็นเครือข่าย แล้วทำการวิเคราะห์ว่าสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่งๆ จะส่งผลความเสียหายต่อสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางและขนาดเป็นอย่างไร จากการใช้แบบจำลองที่สามารถสะท้อนถึงรายได้และรายจ่าย รวมถึงข้อจำกัดทางด้านดำรงเงินกองทุนและสภาพคล่องตามกฎหมาย ด้วยการใช้ข้อมูลระบบสถาบันการเงินในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ผลการศึกษา แสดงไว้ดังรูปที่ 2

จะเห็นได้ว่า เงินทุนไหลจากบริษัทหลักทรัพย์เข้าสู่ธนาคารท้องถิ่นมากที่สุด ดังนั้นหากมีอะไรที่จุดไฟให้วิกฤตเกิดขึ้น จุดเปราะบางตรงนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ความเสียหายกระจายจากบริษัทหลักทรัพย์ไปสู่ภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจได้ ในทางกลับกัน หากธนาคารต้องยอมขายสินทรัพย์เพื่อจ่ายหนี้คืนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ก็อาจเกิดทำให้ตลาดตื่นตระหนก จนต้องลดราคาสินทรัพย์ดังกล่าวมากๆ ที่เรียกว่า Fire Sale Loss จึงจะทำให้มีคนมายอมซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว ท้ายสุด จากการวิเคราะห์พบว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ Credit-Specialized Financial Companies (CSFC) ในเกาหลีใต้ ก็อาจจะมีบทบาทก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสถาบันการเงินอื่นๆ แม้จะไม่มากมายนัก ทว่าก็ได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน ดังรูปที่ 3

ท้ายสุด ในแง่ของเงินกองทุนในแบงก์แล้ว งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ธนาคารของเกาหลีใต้ต้องเพิ่มเงินกองทุนอีก 6.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสียหายจากบริษัทหลักทรัพย์ และ ต้องเพิ่มเงินกองทุนอีก 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสียหายจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ เทียบเท่าอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงคิดเป็นร้อยละ 0.7 และ ร้อยละ 1.1 ตามลำดับ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการเพิ่มเงินกองทุนให้กับระบบธนาคารในเกาหลีใต้อีก 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์ น่าจะเป็นการป้องกันวิกฤตธนาคารรอบใหม่ในเกาหลีใต้มิให้เกิดขึ้นได้

สำหรับวิกฤตการเงินรอบใหม่นั้น หากถามว่าจะมีโอกาสเกิดที่ไหนมากที่สุด คำตอบคือคงไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเรานี่แหละครับ

หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มใหม่ล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กลไกวิกฤตการเงิน ตลาดเกิดใหม่

view