สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลากมิติ Asset Allocation มองผ่าน 5 กูรูการเงิน

หลากมิติ Asset Allocation มองผ่าน 5 กูรูการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร ให้เหมาะสมกับตัวเอง มากกว่าจะถามว่าในภาวะตลาดเช่นนี้ควรจะลงทุนอะไร เพราะจะเป็นการวิ่งตามตลาดไปแบบไม่มีที่สุด

กว่า 90% ของผลตอบแทนที่ได้ มาจาก “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” ที่เหมาะสม ดังนั้นการจัดสรรเงินลงทุนจึงมีความสำคัญมากในการลงทุน แต่พบว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากการจัดสรรเงินลงทุนมากเท่าไร กลับไปให้น้ำหนักในการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน หรือ การจับจังหวะตลาดเพื่อลงทุน ซึ่งมีผลต่อผลตอบแทนน้อยกว่ามาก

สิ่งที่นักลงทุนควรถาม คือ จะจัดสรรเงินลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง มากกว่าที่จะถามว่าในภาวะตลาดเช่นนี้ควรจะลงทุนอะไร เพราะจะเป็นการวิ่งตามตลาดไปแบบไม่มีที่สุด

Fundamentals สัปดาห์นี้ มีแนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับเรื่องของ “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” มานำเสนอ
…………………

@ กลัวความเสี่ยงคือความเสี่ยงหนึ่ง

"ดร.สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) บอกว่า ถ้าเปรียบการลงทุนเหมือนจัดทีมฟุตบอลลงแข่งอาจจะทำให้นักลงทุนเห็นภาพได้ดียิ่งขึ้น ถ้าทีมฟุตบอลของคุณจะส่งลงแข่งเพื่อหวังผลลัพธ์ คือ แชมป์หรือประสบความสำเร็จในการเล่นแล้ว คุณคงไม่ส่งแต่ศูนย์หน้าลงไปเล่นทั้งทีม หรือมีแต่กองหลังทั้งทีมเช่นกัน หากมองไปถึงภาพของทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกก็จะประกอบด้วยผู้เล่นทั้งกองหน้า กองกลาง และกองหลังที่เหมาะสมตามแต่สไตล์การเล่นของแต่ละคน "การลงทุน" ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าสภาวะตลาดการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่หากนักลงทุนมี "การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)" ที่เหมาะสม ย่อมทำให้การลงทุนของตัวเองเหมือนมีเข็มทิศและไม่พลาดเป้าไปจากแผนการลงทุนทีได้วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก เพราะภาพการลงทุนจะมีความชัดเจนสู่มุ่งหมายการลงทุนใน "ระยะยาว" และจะไม่เจอภาพความผันผวนใน "ระยะสั้น" ทำให้ตัวเองหลุดออกจากเป้าหมายการลงทุนที่ได้วางเอาไว้แต่แรกแต่ประการใด

ปัจจุบันนักลงทุนไทยยังมีการออมผ่าน "หุ้น" ประมาณ 20% ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีการสะสมความมั่งคั่ง ในระยะยาวผ่านตลาดหุ้น เพราะเป็นเหมือนกองหน้าที่เอาไว้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนในระยะยาวของตัวเอง มีมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันไป

"นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นสัดส่วนที่สูง และมองในอีกมุมหนึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกัน หลายคนกลัวความผันผวนของหุ้นมองว่าเป็นความเสี่ยง ไม่กล้าลงทุน ทั้งที่มีการศึกษาและพิสูจน์กันทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเองก็ยืนยันตรงกันว่า การลงทุนระยะยาวในหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารตลาดเงินชัดเจน นั่นทำให้นักลงทุนไทยที่มีการลงทุนในหุ้นน้อยไป อาจจะมีความเสี่ยงจากการที่ผลตอบแทนในระยะยาวไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองเพื่อตอบโจทย์ชีวิตหลังเกษียณของตัวเองด้วยเช่นกัน จึงอยากให้นักลงทุนไทยหันมาให้ความสนใจกับการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมให้มากขึ้นเพราะการจัดสรรเงินลงทุนนั้นมีผลต่ออัตราผลตอบแทนที่จะได้รับมากสุดประมาณ 90% เลยทีเดียว"

@ จัดสรรเงินลงทุนตอบโจทย์ดีกว่า

"วรวรรณ ธาราภูมิ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง บอกว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นระหว่างทางอาจจะมีความผันผวนบ้างแต่จากข้อมูลสถิติในระยะยาวก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นโดยเปรียบเทียบ จะเห็นได้จากผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี2544 - 2545) หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14.6% ต่อปี, ตราสารหนี้อายุ 3 - 7 ปี ให้ผลตอบแทน 4.3% ต่อปี, เงินฝากประจำ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 2.0% ต่อปี, ทองคำ ให้ผลตอบแทน 13.0% ต่อปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวก็ผ่านวิกฤติมาหลายวิกฤติแล้วเช่นกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นไทยในระบบซึ่ง สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับนักลงทุนได้จริง เพราะการลงทุนในหุ้นนักลงทุนเองควรจะต้องมีเวลาในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อ ที่จะได้เห็นผลลัพธ์ของการลงทุนระยะยาวในหุ้นนั้นด้วยเช่นกันและตราบเท่าที่ บริษัทที่เลือกลงทุนยังมีผลการดำเนินงานที่ดี แม้ตลาดหุ้นในระยะสั้นอาจจะผันผวนไปบ้างจากปัจจัยที่เข้ามากระทบก็ไม่มีอะไรต้องน่ากังวล จึงอยากให้นักลงทุนมีมุมมองที่ถูกต้องกับการลงทุนในหุ้นด้วยเช่นกัน

"สินทรัพย์แต่ละประเภทก็ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไปตามระดับของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน สิ่งที่นักลงทุนควรทำคือการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะกับตัวเองแล้วก็ลงทุนไปตามที่ได้มีการจัดสรรพอร์ตการลงทุนเอาไว้ นั่นจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปแต่ประการใดเพราะได้มีการจัดสรรเงินลงทุนไว้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว และการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมยังดีกว่าการไปคอยมองหาสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย เพราะแต่ละปีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ"

@ สำรวจสำรับการลงทุนก่อนลงทุน

"ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย บอกว่า แนวคิดใน "การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)" นั้นเป็นแนวคิดการลงทุนที่ดีและอยากให้นักลงทุนไทยหันไปสำรวจดูพอร์ตการลงทุนของตัวเองในปัจจุบันดูก่อนว่าปัจจุบันนี้การลงทุนของตัวเองมีการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก เป็นต้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงก็มีคนมาถามว่าจะซื้อหุ้นได้หรือยัง ดัชนีระดับนี้ซื้อหุ้นได้หรือยัง ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปถามว่าปัจจุบันคุณมีการลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนเท่าไรของพอร์ต กรอบการลงทุนที่วางเอาไว้เป็นเท่าไร บางคนยังไม่รู้เลยว่าตัวเองมีการลงทุนในหุ้นอยู่เท่าไร การไปวิ่งตามตลาดในลักษณะนี้นักลงทุนเองก็จะเหนื่อยด้วย แต่ถ้านักลงทุนรู้ว่าตัวเองแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้สมมติ 40% ถ้าตลาดหุ้นปรับตัวลงมาจนทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นลดลงก็เข้าไปซื้อเพิ่มเพื่อดึงสัดส่วนการลงทุนขึ้นมาในกรอบที่ได้วางไว้ หรือในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมามากจนทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงเกินกรอบที่วางไว้ นักลงทุนก็ขายทำกำไรออกมาเพื่อทำให้กรอบสัดส่วนการลงทุนอยู่ในกรอบที่วางไว้เช่นเดิม

"การที่นักลงทุนมีการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสม จะทำให้รู้ว่าตัวเองวางสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเท่าไร ในกรณีของหุ้นเมื่อทราบสัดส่วนแล้ว นักลงทุนก็จะไม่เครียดและไม่กังวลกับภาวะตลาดหุ้นว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมีกรอบสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนใหญ่ไว้แล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติจริง เงินที่จะซื้อเพิ่มหรือขายออกในหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนไว้ให้คงเดิมนั้น ก็จะเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนที่ไม่มากและไม่มีอะไรที่น่ากังวลหรือเครียดไปกับภาวะตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด"

@ ชวนออมเงินผ่านกองทุนรวม

"สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล" นักวิเคราะห์กองทุนรวม บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ยอมรับว่า นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการออมเงินผ่านเงินฝากธนาคารพาณิชย์เป็นหลักซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่ก็มีความเสี่ยงที่เงินจะให้ผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้เช่นกัน

ตัวอย่าง เงินลงทุน 100,000 บาท ฝาก "ออมทรัพย์" ได้อัตราผลตอบแทน 0.75% ต่อปี ผ่านไป 10 ปี เงินฝากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 107,758 บาท ในขณะที่หากออมเงินโดยไม่ลงทุนเลยที่ "อัตราเงินเฟ้อ" เฉลี่ย 3.0% ต่อปี เงิน 100,000 บาท ผ่านไป 10 ปี จะเหลืออำนาจซื้อเพียง 79,646 บาท หรืออำนาจซื้อหายไปกว่า 20,000 บาท บาท แม้จำนวนตัวเลขที่เป็นตัวเงินจะอยู่ 100,000 บาท เท่าเดิมก็ตาม จะเห็นว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินอาจ "ไม่เพียงพอ" ที่จะชดเชยกับอำนาจซื้อของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้น การจะลงทุนให้ชนะอัตราเงินเฟ้อนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การเปลี่ยน "เงินออม" สู่ "เงินลงทุน" จะช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย ตัวอย่าง หากคุณต้องการเก็บเงินดาวน์บ้าน 500,000 บาท โดยเก็บเดือนละ 5,000 บาท ในกรณีที่ฝากเงินได้ผลตอบแทน 0.75% ต้องใช้เวลา 98 เดือน (8.09 ปี) จึงจะบรรลุเป้าหมาย แต่ถ้าได้ผลตอบแทน 6.00% จะใช้เวลาลดลงเหลือเพียง 82 เดือน (6.77 ปี) เท่านั้น และหากได้ผลตอบแทน 10.00% จะบรรลุเป้าหมายใน 74 เดือน (6.09 ปี) และหากเงินออมคุณได้ผลตอบแทน 15.00% ต่อปี จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะเวลาเพียง 66 เดือน (5.44 ปี) เท่านั้น

"หรือด้วยอัตราผลตอบแทนที่ 15.00% หากคุณไปหาการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับนี้ได้ จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าการฝากเงินถึง 32 เดือน หรือ 2 ปี 8 เดือน เลยทีเดียว นอกจากเรื่องของอัตราผลตอบแทนแล้ว การลงทุนยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งดีเช่นเดียวกัน"

บริษัทได้เปิดบริการ "Fund Builders Plan" ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนแบบรายเดือนด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average) ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท ก็สามารถที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมและกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วย "การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)" ได้ด้วย โดยไม่ต้องรอมีเงินก้อนใหญ่จึงจะลงทุนได้ซึ่งเหมาะกับบุคคลตั้งแต่วัยเริ่มทำงานที่ต้องการออมเงินเงินเพื่อตัวเองไปจนถึงวัยเกษียณที่ต้องการวางแผนการเงินให้ตัวเองหรือคนที่รัก โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนกับกองทุนของ 22 บลจ.ได้รวมทั้งติดตามพอร์ตการลงทุนและข้อมูลข่าวสารได้สะดวกยิ่งขึ้น

"โดยบริษัทได้เตรียมแพ็คเกจการลงทุนไว้เพื่อให้ง่ายกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนด้วย 4 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก S ,M ,L และ XL โดย จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารตลาดเงินในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.48% ,8.01% ,9.74% และ13.42% ตามลำดับ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกส่วนผสมที่เหมาะกับตัวเองได้ดียิ่งขึ้นเพื่อ บรรลุเป้าหมายการออมในระยะยาวต่อไป"

@ "กองผสม" คำตอบที่ง่ายของการจัดสรรเงิน

"จุมพล สายมาลา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองว่า แนวคิดใน "การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)" เป็นหัวใจและเป็นคำตอบที่ดีในการลงทุนให้กับนักลงทุนได้จริง ใครที่สามารถทำเองก็ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก แต่ถ้าใครไม่ถนัด "กองทุนผสม" ที่มีการจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในสินทรัพย์ต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยกองทุนประเภทนี้ในต่างประเทศมีขนาดใหญ่เพราะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นจำนวนมากและถือเป็น "กองทุนแรก" และ "กองทุนหลัก" ที่นักลงทุนมักจะเลือกใช้ในการลงทุนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผสมสัดส่วนระหว่าง "หุ้น" และ "ตราสารหนี้" ในประเทศไทยเองในอนาคตก็เชื่อมั่นว่า "กองทุนผสม" จะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับเพราะเป็นกองทุนที่ใช้แนวคิดของการจัดสรรเงินลงทุนมาใช้ในการลงทุนช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น

ล่าสุดบริษัทกำลังอยู่ระหว่างเสนอขาย "กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม (iBalanced)" ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. - 4 ก.ย. 56 โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น 65% และตราสารหนี้ 35% ชูกลยุทธ์ "ซื้อถูกขายแพง" และตั้งเป้าจะสร้างผลตอบแทนคาดหวังให้กับนักลงทุน 10% ต่อปี โดยจะมีขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้กับผู้ลงทุนทุกไตรมาสๆ ละ 2.50%

"โดยการซื้อถูกขายแพงจะมาจากการปรับสัดส่วนการลงทุนให้สู่น้ำหนักการลงทุนที่วางเอาไว้นั่นเอง ในกรณีที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาจนทำให้น้ำหนักของหุ้นขยับขึ้นเป็น 70% ก็ขายหุ้นออกไปซื้อตราสารหนี้เพื่อปรับสัดส่วนให้กลับมาสู่ 65 - 35 เหมือนเดิม เป็นการขายแพงในจังหวะที่หุ้นขึ้น ในกรณีตรงข้ามหากตลาดหุ้นปรับตัวลงจนทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นลดลงเหลือ 60% ในขณะที่ตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40% กองทุนก็จะขายตราสารหนี้มาซื้อหุ้นเพื่อปรับสัดส่วนกลับมาที่ 65 - 35 เหมือนเดิม เป็นการซื้อหุ้นถูกเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลง ในระยะยาวย่อมน่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง"

เหล่านี้เป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงตลาดทุนที่น่าจะทำให้นักลงทุนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ "การจัดสรรเงินลงทุน" อย่างเหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินในชีวิตของตัวเอง และสิ่งที่นักลงทุนควรจะถามตัวเองก่อนเริ่มต้นลงทุนจึงน่าจะเป็นเรื่องนี้เป็นสำคัญ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลากมิติ Asset Allocation มองผ่าน กูรูการเงิน

view