สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดตระกูล ยึดการเมืองไทย ชินวัตร-ชิดชอบ ฝังรากลึก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ความพยายามปลดล็อกรัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดทางให้ บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ สส.สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ได้ ฟื้นปม “สภาผัวเมีย” ขึ้นมาสาดวาทะในรัฐสภาระหว่างฝั่ง สส.รัฐบาลและ สว.เลือกตั้ง ที่ยืนยันว่าประชาชนคือผู้ตัดสิน กับฝ่าย สส.ฝ่ายค้านและ สว.สรรหา ยังมั่นใจว่าสายสัมพันธ์ทางครอบครัวไม่อาจนำมาสู่การตรวจสอบได้

สติธร ธนานิธิโชติ เผยแพร่ผลการศึกษา “ตระกูลนักการเมืองในการเลือกตั้งปี 2554” และ “สามทศวรรษตระกูลนักการเมืองไทย” ผ่านเว็บไซต์ "เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Database)" ชำแหละตระกูลในวงการเมืองไทยท่ามกลางศึกสภาผัวเมียที่กำลังระอุ

สติธร ตั้งโจทย์ว่าอิทธิพลของตระกูลการเมืองยังคงมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งหรือ ไม่ ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 ก.ค. 2554 พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 265 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 คน พรรคภูมิใจไทยได้ 34 คน พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 19 คน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ 7 คน พรรคพลังชลได้ 7 คน พรรครักประเทศไทยได้ 4 คน พรรคมาตุภูมิได้ 2 คน พรรครักษ์สันติ มหาชน และประชาธิปไตยใหม่ได้พรรคละ 1 คน

ปรากฏว่าในจำนวน สส. 500 ที่นั่ง มีผู้ได้รับการเลือกตั้ง “ที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในลักษณะ พ่อ-แม่-ลูก พี่-น้อง สามี-ภรรยา” จำนวน 42 ตระกูล รวม 90 คน คิดเป็น 18% ของ สส.ทั้งหมด พบว่าตระกูลที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด คือ ตระกูล “เทียนทอง” สังกัดพรรคเพื่อไทย 5 คน ประกอบด้วย เสนาะ เทียนทอง ฐานิสร์ เทียนทอง ตรีนุช เทียนทอง สรวงศ์ เทียนทอง และ สุรชาติ เทียนทอง

รองลงมาคือ ตระกูล “เทือกสุบรรณ” สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ ธานี เทือกสุบรรณ เชน เทือกสุบรรณ และเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และตระกูล “รัตนเศรษฐ” สังกัดพรรคเพื่อไทย 3 คน ประกอบด้วย วิรัช รัตนเศรษฐ ทัศนียา รัตนเศรษฐ และอธิรัช รัตนเศรษฐ 

ทั้งนี้ พบว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีตระกูลนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งเข้ามา มากที่สุดรวม 19 ตระกูล รองลงมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล พรรคภูมิใจไทย 4 ตระกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พรรคพลังชล 1 ตระกูล และพรรครักประเทศไทย 1 ตระกูล

นอกจากนี้ น่าสนใจว่าผลการวิเคราะห์พัฒนาการของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของตระกูลการเมืองในสภาไทย ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา พบว่า “สส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมือง” มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่มีเพียง 3.1% ในปี 2522 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10.7% ในการเลือกตั้งวันที่ 13 ก.ย. 2535

ตระกูลนักการเมืองที่มีสมาชิกในตระกูลเดียวกันได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่ สภาในคราวเดียวกันมากกว่า 1 คน อย่างค่อนข้างจะต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว (2522-2535) ซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 6 ครั้ง ได้แก่ ตระกูลคำประกอบ (5 ครั้ง) ตระกูลเทียนทอง (5 ครั้ง) ตระกูลกลิ่นปทุม (4 ครั้ง) ตระกูลวัชราภรณ์ (4 ครั้ง) ตระกูลสภาวสุ (4 ครั้ง) ตระกูลหาญสวัสดิ์ (4 ครั้ง) ตระกูลอังกินันท์ (4 ครั้ง) ตระกูลรัตตกุล (3 ครั้ง) ตระกูลศิลปอาชา (3 ครั้ง) ตระกูลสุนทรเวช (3 ครั้ง) ตระกูลสุวรรณคีรี (3 ครั้ง) ตระกูลอัศวเหม (3 ครั้ง) เป็นต้น

ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2540 ริเริ่มการเลือกตั้ง “ระบบบัญชีรายชื่อ” ทำให้สัดส่วนของ สส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 14.2% และเพิ่มขึ้นเป็น 14.4% ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 และ 2548 ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้นแม้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 จะนำไปสู่เหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 และยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมในปี 2551 จนนำไปสู่การ “เว้นวรรค” ทางการเมืองของนักการเมือง 111 คน และ 109 คน แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้สัดส่วน “สส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมือง” กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 17.9% ในการเลือกตั้งปี 2550 และสูงขึ้นเป็น 18% ในการเลือกตั้งปี 2554

ทั้งนี้ พบว่าตัวอย่างตระกูลการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการรักษา สืบทอด และแผ่ขยายอาณาจักรทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง คือ “ตระกูลชินวัตร” ที่มีการวางรากฐานทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยของ เลิศ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ ปี 2512 และส่งต่อความสำเร็จมายัง สุรพันธ์ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ 4 สมัย (ปี 2522-2531)

ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามารื้อฟื้น สานต่อ และแผ่ขยายอิทธิพลของตระกูลจนมีสมาชิกของตระกูลก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกทั้งสมาชิกของตระกูลยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง สส.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ได้แก่ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สส.เชียงใหม่ พายัพ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ อดีต สส.เชียงใหม่

อีกตระกูลการเมืองที่ก่อร่างสร้างฐานอำนาจมาในยุคเดียวกับตระกูลชินวัตรและมีบทบาททางการเมืองสูงในหลายยุคหลายสมัย คือ “ตระกูลชิดชอบ” ที่มี ชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภา อดีต สส.บุรีรัมย์ และ สส.บัญชีรายชื่อหลายสมัย (ปี 2512-2554) เป็นผู้วางรากฐานอำนาจทางการเมืองของตระกูล มีนักการเมืองคนสำคัญในตระกูลก้าวขึ้นมาสานต่อความสำเร็จประกอบด้วย เนวิน ชิดชอบ อดีต สส.หลายสมัย กรุณา ชิดชอบ อดีต สส.บุรีรัมย์ และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต สส.บุรีรัมย์

นอกจากตระกูลชินวัตรและตระกูลชิดชอบแล้วยังมีตระกูลการเมืองเก่าแก่อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาฐานอำนาจทางการเมืองในจังหวัดของตัวเองอย่าง เหนียวแน่นอีกหลายสิบตระกูล เช่น ตระกูลกัลป์ติ นันท์ จ.อุบลราชธานี ตระกูลคำประกอบ จ.นครสวรรค์ ตระกูลคุณปลื้ม จ.ชลบุรี ตระกูลเงินหมื่น จ.อำนาจเจริญ ตระกูลไชยนันทน์ จ.ตาก ตระกูลตันบรรจง จ.พะเยาว์ ตระกูลเทียนทอง จ.สระแก้ว

ตระกูลเทือกสุบรรณ จ.สุราษฎร์ธานี ตระกูลปริศนานันทกุล จ.อ่างทอง ตระกูลม่วงศิริ กรุงเทพมหานคร ตระกูลรัตนเศรษฐ จ.นครราชสีมา ตระกูลเร่งสมบูรณ์สุข จ.เลย ตระกูลโล่สุนทร จ.ลำปาง ตระกูลศิลปอาชา จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

ทั้งนี้การศึกษาของ ดร.สติธร ได้สรุปไว้น่าสนใจว่า ความต่อเนื่องของการได้รับการเลือกตั้งของตระกูลนักการเมืองต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่าบทบาทและอิทธิพลของตระกูลการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการ เมืองเรื่องการเลือกตั้งของประเทศไทยมากว่า 3 ทศวรรษและยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปโดยง่าย

การดำรงอยู่ของ “ตระกูลการเมือง” ในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่าอำนาจหรือ อิทธิพลของนักการเมืองที่มาจากตระกูลเดียวกันจะตกทอดถึงกันไปโดยอัตโนมัติ แต่นักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์ในลักษณะตระกูลการเมืองจะอาศัยปัจจัยความได้ เปรียบของวงศ์ตระกูล เช่น ความมั่งคั่ง พรสวรรค์ ความนิยมในหมู่ประชาชน หรือภาพลักษณ์ เป็นตัวส่งเสริมให้ตนเองประสบความความสำเร็จในเส้นทางการเมือง และสามารถส่งต่อความได้เปรียบดังกล่าวไปยังนักการเมืองรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ด้วยเหตุนี้ สายสัมพันธ์ในลักษณะตระกูลการเมืองของนักการเมืองจึงอาจส่งผลในทางลบต่อ คุณภาพของประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังที่การศึกษาในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ พบว่า ความสัมพันธ์และอิทธิพลของตระกูลการเมืองทำให้การเมืองของฟิลิปปินส์พัฒนาไป สู่ระบบการเมืองที่ยึดถือตัวบุคคลซึ่งมีผลเป็นการบั่นทอนการสร้างรัฐที่เข้ม แข็ง และเป็นอุปสรรคต่อการคิดริเริ่มนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจ สำคัญๆ มักจะถูกปิดกั้นขัดขวางโดยสมาชิกของตระกูลการเมืองผู้ได้ประโยชน์จากสถานะ ความได้เปรียบของตน

แน่นอนว่าการปิดกั้นขัดขวางดังกล่าวย่อมเป็นอุปสรรคต่อการกำเนิดและก่อ ตั้งอย่างยั่งยืนของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผล ประโยชน์และความต้องการของประชาชนในเขตเลือกตั้งเข้าสู่กระบวนการนโยบาย สาธารณะและการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

การหาคำตอบต่อไปว่า ตระกูลนักการเมืองซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองไทยเป็นใครมาจากไหน? ตระกูลนักการเมืองเหล่านั้นมีการสร้างสายสัมพันธ์ข้ามไปสู่ตระกูลอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร? จึงน่าจะทำให้ทราบแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของประชาธิปไตยไทยได้บ้าง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดตระกูล ยึดการเมืองไทย ชินวัตร ชิดชอบ ฝังรากลึก

view