สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับภาษีเหล้า-เบียร์ อ้างคำหรูดัดหลังผู้ประกอบการเลี่ยงภาษี

จากประชาชาติธุรกิจ

การเสนอร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติสุรา ซึ่งเป็น "วาระลับ" ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. เนื่องจากกระบวนการเสนอกฎหมายและกว่าจะบังคับใช้ได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร แม้ว่ากรมสรรพสามิตจะบอกว่า "ทำเร็ว" ได้ด้วยการออกเป็น "พ.ร.ก." หรือ "พระราชกำหนด" แล้วก็ตาม แต่สินค้าเหล่านี้มีความอ่อนไหว อาจส่งผลให้มีการกักตุนสินค้าได้

ทั้งนี้ การเก็บภาษีสุราในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 หมวดหลัก คือ "สุรากลั่น" และ "สุราแช่" ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 กำหนดอัตราสูงสุดในการจัดเก็บ (เพดาน) ไว้ ได้แก่ สุราแช่ ที่มีสินค้าหลัก ๆ คือ เบียร์และไวน์



มีเพดานการจัดเก็บ "ตามมูลค่า" อยู่ที่ 60% และเพดานจัดเก็บ "ตามปริมาณ" อยู่ที่ 100 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่วนสุรากลั่น ประกอบด้วยสุราขาว สุราผสม สุราปรุงพิเศษ สุราพิเศษ (บรั่นดี, วิสกี้) และสุราสามทับ มีเพดานการจัดเก็บ "ตามมูลค่า" อยู่ที่ 50% และเพดานจัดเก็บ "ตามปริมาณ" อยู่ที่ 400 บาทต่อลิตร

ที่ผ่านมา ทั้งเบียร์ ไวน์ และวิสกี้ ถูกจัดเก็บเต็มเพดานทั้ง "มูลค่า" และ "ปริมาณ" ข้างต้นมานานแล้ว ขณะที่จากการปรับปรุงครั้งหลังสุดเมื่อเดือน ส.ค. 2555 ก็ทำให้บรั่นดีเก็บเต็มเพดานทั้ง 2 ขาด้วยเช่นกัน ส่วนสุราขาวและสุราผสม แม้จะยังไม่เต็มเพดานในด้านปริมาณ แต่ด้านมูลค่าก็จัดเก็บเต็มอัตราที่ 50% แล้ว

ในการปรับปรุง พ.ร.บ.สุราครั้งนี้ จึงเป็นไปตามที่ "ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย" รมช.คลังชี้แจง คือ เหตุผลแรก ปัญหาด้าน "ฐานราคา" ซึ่งปัจจุบันคิดจาก "ราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม" ในกรณีสินค้าผลิตในประเทศ ส่วนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะใช้ "ราคานำเข้า" หรือ "ราคาซีไอเอฟ" มาเป็นฐานคำนวณภาษี แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการแจ้งราคาต่ำกว่าจริง โดยเฉพาะสินค้านำเข้า ดังนั้นจึงจะเปลี่ยนมาใช้ "ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย" แทน

เหตุผลต่อมา ปัจจุบันจัดเก็บภาษีสุรา เบียร์จน "เต็มเพดาน" เกือบหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องขยับเพดานเพิ่มขึ้นไป เพื่อรองรับการปรับอัตราภาษีในอนาคต และอีกเหตุผลก็คือ ต้องการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสุราไปใช้เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้วิธีเก็บจาก "มูลค่าและปริมาณ" ผนวกกัน จากปัจจุบันเลือกเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับฝั่งไหนได้เงินมากกว่ากัน

"สาระของมติ ครม. ก็เป็นไปตามหลักการนี้ ส่วนจะจัดเก็บอัตราเท่าไหร่นั้น จะต้องไปกำหนดในกฎกระทรวงอีกที ซึ่งยังอยู่ในชั้นความลับ" รมช.คลังระบุ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ทางกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง "ซุ่ม" ทำเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว "รอเพียงจังหวะที่เหมาะสม" เท่านั้น โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ใช่เพื่อมุ่งหารายได้เข้ารัฐ แต่มุ่งปรับเพื่อความเป็นสากล และการดูแลสุขภาพผู้บริโภคเป็นสำคัญ

กรมสรรพสามิตอธิบายเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตหลายรายการ ไม่เฉพาะสุรา มีวิธีคิดคำนวณฐานภาษี ในกรณีผู้ผลิตภายในประเทศ ที่เรียกว่า "ภาษีรวมใน"ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก และถูกมองว่าไม่เป็นสากล ดังนั้น "ของใหม่" จะตัดภาษีรวมในออก

ขณะที่สินค้านำเข้า จะอยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) หรือ ราคาแกตต์ ที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการบางรายสำแดงราคาต้นทุนสินค้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยการพิสูจน์จะต้องใช้ราคาทดสอบไปอ้างอิง

แต่ต่อไปจะใช้ "ฐานเดียวกัน" หมด ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า ซึ่งมีเหตุผลสำคัญอีกประการ คือ "ปกป้องผู้ผลิตสินค้าในประเทศ" ด้วย

นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีสุราใหม่นี้ จะช่วยสะท้อนราคาต้นทุนที่ "เป็นจริง" มากขึ้น และ "ดักทาง" พวกที่หลบเลี่ยงภาษีได้รอบด้าน อย่างการคิด "ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย" ที่นอกจากป้องกันผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำแล้ว ยังป้องกันผู้ผลิตในประเทศที่อาจตั้ง "ราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม" ต่ำ ๆแล้วขายผ่านตัวแทนของตัวเอง เพื่อไปขายทำกำไรในทอดสุดท้ายสูง ๆ

ขณะที่การใช้วิธีคิดอัตราภาษีแบบ "2 ขารวมกัน" ทั้งฝั่ง "มูลค่า" และ "ปริมาณ" เพราะแนวโน้มภาครัฐถูกกดดันให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคมากขึ้น โดยต้องเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มี "ดีกรีสูง" ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการเก็บ "2 ขา" ก็จะช่วย "ดัดหลัง" ผู้ประกอบการที่พยายาม "ซิกแซ็ก" ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ "ดีกรีไม่สูง แต่เน้นปริมาณ" ได้อีกทาง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ในรายละเอียดยังไม่ชัดเจนว่าเพดานภาษีที่ปรับขึ้นจะอยู่ที่ "2,000 บาทต่อลิตร" หรือไม่ แต่การกำหนด "เพดาน" ต้องรองรับการปรับอัตราในอนาคตอีกหลายระลอก และในระยะแรกยังไม่น่าสร้างภาระเพิ่มให้ผู้ประกอบการมากนัก

แต่หากย้อนดูการติดตามการเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบฯ"56 ภาพรวมยังเก็บรายได้เกินเป้ากว่า 2.29 หมื่นล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณ 2557 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายเก็บรายได้ 4.637 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 ถึง 12.5% ถือเป็นอัตราเพิ่มที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ผลจากมาตรการ "รถยนต์คันแรก" ที่จะบีบรายได้สรรพสามิต ค่อย ๆ ทยอยลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนภาษีน้ำมันที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญลำดับต้น ๆ ก็ยังไม่สามารถปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลได้

สุดท้าย แม้รัฐบอกไม่มุ่งเน้นรายได้ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ กรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง จำเป็นต้องเตรียมพร้อม "เครื่องมือ" สำหรับหารายได้ไว้แต่เนิ่น ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับภาษี เหล้า เบียร์ อ้างคำหรู ดัดหลัง ผู้ประกอบการ เลี่ยงภาษี

view