สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนต่างชาติมาสอนผู้นำไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู็อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองไทยมีแขกคนสำคัญมาเยือน 2 ชุด ชุดแรกคนเดียว คือ คุณลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สส.อเมริกันเชื้อสายไทย ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ อีกคณะมี 3 คน คือ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร์ตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ และพริสซิลลา เฮย์เนอร์ เพื่อมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการปรองดอง ตามคำเชิญของสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอเริ่มจากคนแรกก่อน เมื่อคุณลัดดาเข้าเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ หญิงสองคนที่มีภาพร่วมกัน หากดูให้ดีๆ มีความเหมือนและความต่างกันหลายประการ ทั้งสองมีเชื้อสายไทยเหมือนกัน เป็นสุภาพสตรีเหมือนกัน มีความสวยพอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่คุณลัดดาเธอมีความงาม งามที่ใจ งามด้วยสติปัญญา ความกล้าหาญ อดทน ใช้เวลา 6 ปีกว่าจะได้เป็น สส. เธอให้คำนิยามของคำว่า “ผู้นำ” อย่างน่าสนใจว่า “ภาวะผู้นำไม่ใช่ทำสิ่งที่ถูกต้องเมื่ออยู่หน้ากล้อง หรือตอนที่ทุกคนกำลังมองเราอยู่ แต่หมายถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยตัวเราเอง และทำไปเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องสู้ต่อไปเพื่อให้ลูกหลานของเราไปได้ไกลกว่าเรา”

ส่วนแขกชุดที่สองนั้นรับคำเชิญมาร่วมเสวนา หัวข้อ “ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ที่มีประเด็นช่วยเตือนสติรัฐบาลที่กำลังตั้ง “สภาปฏิรูปเพื่อการปกครอง” โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

- การปรองดองนั้นไม่ใช่เป็นการลืมอดีตไม่ใช่การปกปิดความจริง ไม่ใช้คำว่าปรองดองเป็นเครื่องมือปกปิดอดีต ปกปิดการกระทำผิดของคน ไม่ใช้การปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมคนทำผิด สิ่งที่ผิด ความเหี้ยมโหด  ต้องมองทุกอย่างตามความจริงที่เกิดขึ้น แม้มีความโศกเศร้าเสียใจอยู่ ต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้งในอดีต เราไม่อาจลบล้างอดีตได้ แต่จะก้าวข้ามมันเพื่อไปทำสิ่งอื่น

(แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นเหมือนกับพยายามลืมอดีตที่ตนเองมีส่วนก่อ ให้เกิดความเสียหาย กลัวการค้นหาความจริง หรือต้องการชุดความจริงที่ตนสร้างขึ้นเท่านั้น ปฏิเสธความจริงที่ คอป. และ กสม. นำมาเปิดเผย ถ้าไม่ยอมรับความจริง ต้นตอของปัญหา แล้วจะคิดจะทำอะไรต่อไปได้)

- การปรองดองต้องไม่ยัดเยียด บังคับ ข่มขู่ คะยั้นคะยอ การปรองดองไปเร่งไม่ได้ การปรองดองไม่ควรทำแบบปกปิด หรือเกิดจากการบังคับขู่เข็ญ การปรองดองต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ (แต่ที่รัฐบาลทำเป็นลักษณะบังคับขู่เข็ญ ใครไม่ปรองดองไม่รักชาติ ใครไม่ให้กฎหมายฟอกผิดผ่านถือว่าไม่ปรองดอง ใครแตะต้องทักษิณถือว่าไม่ปรองดอง ฯลฯ)

- การปรองดองต้องมีประชาธิปไตยรองรับ แต่ต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีอำนาจ หรือผู้ชนะจะได้ทุกอย่าง ทำให้คนกลุ่มน้อยถูกกีดกัน ประชาธิปไตยไม่ใช่การยึดครองโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องมีพื้นที่แบ่งปันให้ทุกคนจะสามารถทำงานร่วมกันได้ มีพื้นที่ให้คนกลุ่มใหญ่ทำงานร่วมกับคนกลุ่มน้อยเพื่อแบ่งปันค่านิยมร่วมกัน ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของแนวคิดไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง (แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบันกำลังเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก หรือทรราชย์เสียงข้างมาก บริหารเพื่อคนที่เลือกตัวเองเท่านั้น)

- ประชาธิปไตยต้องขับเคลื่อนด้วยหลักนิติธรรม ศาลสามารถคว่ำมติของรัฐบาลได้ แม้ว่ารัฐบาลรู้สึกขัดใจ แต่เมื่อเราให้สิทธิเขาแล้วก็ยอมรับ ความยุติธรรมต้องเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซงใดๆ (แต่รัฐบาลพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน และกำลังคืบไปสู่การยึดศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง องค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน)

- รัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการปรองดอง การปรองดองจะทำได้ง่ายขึ้นถ้ารัฐบาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส จัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตเขาดีขึ้น เพราะรัฐบาลคือความคาดหวังของประชาชนและมีหน้าที่ดูแลประชาชน|ของตน รัฐบาลต้องยื่นมือไปคนทุกกลุ่มที่เห็นต่าง การปรองดองที่ปราศจากการสนับสนุนจากประชาชนจะก้าวไปไม่ได้ (สรุปว่าถ้าประชาชนไว้ใจรัฐบาล การปรองดองก็มีแนวโน้มที่ดี แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นความคาดหวังของประชาชนเลย เพราะล้มเหลวในการบริหารประเทศในเกือบทุกเรื่อง เพียงแค่เห็นผู้นำในการปฏิรูป คนก็ไม่ศรัทธาแล้ว)

- ปัญหาของไทยที่สุดแล้วจะแก้ไขด้วยคนไทยเท่านั้น ไม่ใช่คนนอก คนนอกมาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ให้เท่านั้น อดีตผู้นำฝรั่งบอกตรงกันว่า คนไทยควรเอาข้อเสนอของ คอป. มาใช้

(คอป.เสนอว่าอย่ารีบร้อน เร่งรัด ให้สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นก่อน เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วม ผู้นำรัฐบาลต้องให้อำนาจทั้งกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็กเพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไป ได้ แต่รัฐบาลไม่หยิบมาใช้เพราะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน)

คำว่า การปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร เพราะในชีวิตคนเราก็มีการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา ปฏิรูปเพื่อให้ชีวิตของตนดีขึ้น สังคมประเทศก็เช่นกัน ก็ต้องมีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร ปฏิรูปเพื่อใคร และปฏิรูปเมื่อไร

เช่นเดียวกับคำว่า ปรองดอง ตามความเข้าใจว่า มีความขัดแย้งกัน จึงต้องปรองดองกัน คำถามก็คือ จะปรองดองเรื่องอะไร ปรองดองกันอย่างไร ปรองดองเพื่อใคร และปรองดองกันเมื่อไร คู่ขัดแย้งพร้อมที่จะปรองกันหรือยัง

คงไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปและความปรองดอง แต่ก็ย้อนกลับไปสู่คำถามข้างต้น คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ที่จะปฏิรูป หรือปรองดอง เพราะรัฐบาลมีธงไว้แล้ว และการปฏิรูปของรัฐบาลก็เพียงการซื้อเวลา เบนความสนใจของประชาชนจาก|ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งประเด็นร้อนในรัฐสภา เพียงเริ่มต้นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมก็ไม่ไว้ใจ เพราะรู้เช่นเห็นชาติเช่นนี้ รัฐบาลต้องทำงานหนักมากที่จะสร้างความไว้วางใจก่อน

เริ่มต้นด้วยการถอนร่างกฎหมายฟอกผิดทุกฉบับออกไปเพื่อแสดงความจริงใจ เพราะกฎหมายพวกนี้เพิ่มความขัดแย้งมากกว่าความปรองดอง หากรัฐบาลแสดงความจริงใจเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ก่อน ความไว้วางใจก็จะเริ่มมีขึ้นและจะนำไปสู่กระบวนการปรองดองในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คนต่างชาติ สอนผู้นำไทย

view