สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การรักษาเสถียรภาพราคายางพาราด้วยกฎหมายเกี่ยวกับยาง

การรักษาเสถียรภาพราคายางพาราด้วยกฎหมายเกี่ยวกับยาง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้สถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

อันเนื่องมาจากเกิดการชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพาราเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้หากย้อนกลับไปพิจารณาราคายางพาราในอดีตแล้วจะพบว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมากและปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่สร้างความพึงพอใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นกลับพลิกผันไปทางตรงกันข้าม ซึ่งภาวะยางพาราตกต่ำนอกจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางแล้วยังอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจซบเซาได้เช่นเดียวกันเนื่องจากผลของกำลังซื้อที่ลดน้อยลงของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากกลไกตลาดตามหลักการค้าเสรีจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดราคาสินค้าแล้ว ระดับราคาสินค้ายังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของรัฐบาลเกี่ยวกับการควบคุมดูแลราคาสินค้าด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ระดับราคาสินค้ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการทำหน้าที่ของรัฐบาลนั้นจำต้องอาศัยกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่และแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง และในสถานการณ์ราคายางตกต่ำและความไม่มีเสถียรภาพของราคายางในขณะนี้ แม้ว่าจะมีเครื่องมือทางกฎหมายอยู่อย่างหลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น แต่ผู้เขียนขอหยิบยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและอธิบายเป็นเบื้องต้นถึงหลักการของกฎหมายที่สำคัญ 3 ฉบับ กล่าวคือ พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 และกฎหมายที่จะบังคับใช้อนาคตคือร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...

เครื่องมือทางกฎหมายฉบับแรกคือพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางให้เป็นระบบครบวงจรตั้งแต่การผลิต การค้าและการแปรรูปยางตลอดจนการตลาดยางให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดกฎหมายแล้วจะพบว่าสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องการควบคุมและกำกับของรัฐในรูปของการกำหนดยางพันธุ์ดี เขตการทำสวนยาง ปริมาณควบคุมเนื้อยาง ตลาดกลางแลกเปลี่ยนยางและระบบการอนุญาต ตัวอย่างเช่น การขออนุญาตเป็นผู้นำเข้าหรือส่งออกซึ่งต้นยาง ดอก เมล็ดหรือตาของยางหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่อาจใช้เพาะพันธุ์ได้ การขออนุญาตขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้า การขออนุญาตค้ายาง การขออนุญาตตั้งโรงทำยาง การขออนุญาตเป็นผู้นำยางเข้า การขออนุญาตเป็นผู้ส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักรและการขออนุญาตเป็นผู้ทดสอบคุณภาพยาง เป็นต้น ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย

สำหรับพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มีวัตถุประสงค์ต้องการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายการปลูกยางพันธุ์ดีแทนยางเก่า เนื่องจากสวนยางส่วนมากในประเทศไทยเป็นยางที่มิใช่ยางพันธุ์ดีส่งผลทำให้การผลิตยางไม่ได้ผลตามที่ควรจะได้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเรื่องการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐในรูปการสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีให้แก่เจ้าของสวนยางตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าวนี้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์โดยตรง

และเครื่องมือทางกฎหมายฉบับที่สามซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตคือร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... โดยจะมีผลยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้คือ การปฏิรูประบบบริหารจัดการยางพารา การวิจัยและพัฒนา การรักษาระดับเสถียรภาพราคายางพารา การดำเนินธุรกิจ การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางด้วยการจัดให้มีองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร มีเอกภาพและสามารถดำเนินการอย่างอิสระคล่องตัว เรียกว่า “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนอกจากการจัดตั้งกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพาราแล้ว ยังมีการบัญญัติอำนาจหน้าที่ของ กยท. อย่างชัดเจนในเรื่องการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การรักษาระดับเสถียรภาพราคายางพารา ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาและยังไม่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย

ดังนั้น หากพิจารณาเครื่องมือทางกฎหมายเกี่ยวกับยางพาราข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า หลักการของพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันนี้ค่อนข้างเน้นหนักเรื่องการบังคับและควบคุมด้วยวิธีการอนุญาตเป็นสำคัญและมุ่งเป้าหมายเฉพาะการประกอบธุรกิจค้ายาง ประกอบกับกฎหมายฉบับนี้มิได้บัญญัติอย่างชัดเจนถึงมาตรการควบคุมและรักษาเสถียรภาพราคายางพารา จึงอาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทำสวนยางไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น หากมีการบังคับใช้มาตรการเขตพื้นที่การทำสวนยางตลอดจนการควบคุมปริมาณยางที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว มาตรการดังกล่าวนี้ก็จะส่งผลทางบวกเพิ่มขึ้นต่อระดับราคาและเสถียรภาพราคายางพาราเช่นเดียวกัน

ส่วนพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกยางพาราด้วยการสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีให้แก่เจ้าของสวนยาง โดยมิได้บัญญัติอย่างชัดเจนถึงมาตรการควบคุมและรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการระบบยางพาราให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางมีส่วนร่วมโดยการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และมีองค์กรกลางหรือ กยท. ทำหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ กยท. อย่างชัดเจนในเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่านอกจากรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายข้างต้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายควรผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว เนื่องจากอย่างน้อยที่สุดกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมให้แก่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของราคายางพาราในอนาคตได้ ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางหรือรัฐบาลในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การรักษาเสถียรภาพ ราคายางพารา กฎหมายเกี่ยวกับยาง

view