สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติ และผลต่อตลาดการเงินของไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดยสินีรัตน์  สิริอิทธิวงศ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา  สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
       
       นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีด เม็ดเงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบการเงินของตนเอง ภายใต้ชื่อ “มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ: Quantitative Easing” หรือมาตรการ QE ที่นักลงทุนคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้วนั้น   ในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวได้ไหลเข้า (Inflow) สู่ตลาดการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มของประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่นประเทศไทย ที่ได้รับอานิสงส์จากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนด้วยเช่นกัน   โดยการไหลเข้าของเงินทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าจากระดับ 36 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 28.70 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 2556 หรือแข็งค่าไปกว่า 20% ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี
       
         ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 400 จุดในช่วงต้นปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด ในเดือน พ.ค. 2556 หรือเพิ่มสูงขึ้น 300%   เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลดลง (ราคาพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น) โดย Yield ของพันธบัตรอายุ 5 และ 10 ปี ปรับตัวลดลงจากระดับ 5.7% และ 6.2% ในช่วงกลางปี 2551 มาอยู่ที่ระดับ 3% และ 3.3% ตามลำดับ ในเดือน พ.ค. 2556   ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติจากมาตรการอัดฉีดเงินของสหรัฐฯ มีผลทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของไทยปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก
       
       ทั้งนี้ ทิศทางการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินในช่วงที่ผ่านมา อยู่บนพื้นฐานของหลักการลงทุน ที่ผู้เป็นเจ้าของเงินลงทุนย่อมจะแสวงหาผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า   ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในช่วงกลางปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 3.7% ขณะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรไทยอยู่ที่ 6.2%   ส่วนต่างที่ดีกว่าประมาณ 2.5% นี้ มีผลดึงดูดให้เกิดการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้น   นอก จากนี้แล้ว การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจากต่างชาติ จำเป็นต้องเปลี่ยนจากเงินตราสกุลต่างประเทศให้อยู่ในรูปของเงินสกุลบาทเสีย ก่อน   ดังนั้น เมื่อมีความต้องการแลกซื้อเงินบาทมากขึ้น เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นตามไปด้วยในที่สุด
       
       อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา สถานการณ์ของเงินทุนที่เคยไหลเข้าต่อเนื่องกำลังเปลี่ยนทิศไปสู่การไหลออก (Outflow) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดขนาดของมาตรการ QE และอาจยุติมาตรการดังกล่าว หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาในช่วงหลัง เริ่มแสดงให้เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่า Fed น่าจะต้องทำการลดขนาดรวมไปถึงการยุติมาตรการ QE อย่างถาวรในช่วงระยะเวลาอีกไม่ไกลนับจากนี้   ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องและเม็ดเงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในระบบการเงิน ของโลกให้ค่อยๆ หายไป   และภาวะการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของหลายๆ ประเทศอาจจะไม่คึกคักเหมือนเคย
       
       ความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ QE ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลในเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของไทย   โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงกว่า 300 จุด ไปอยู่ที่ระดับ 1,300 ขณะที่ Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ราคาพันบัตรลดลง) 1% จาก 3.3% ไปอยู่ที่ 4.3% พร้อมกับการไหลออกชองเงินทุนต่างชาติ กว่า 130,000 ล้านบาท (จากตลาดหุ้น 40,000 ล้านบาท และจากตลาดตราสารหนี้ 90,000 ล้านบาท) ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว   ซึ่งการไหลออกดังกล่าวยังมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปกว่า 2.8% ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน   
       
       ถึงแม้ว่าการลดขนาดของมาตรการ QE ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด และทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติจะยังคงไหลออกจากตลาดการเงินของไทยอย่าง ต่อเนื่องอีกหรือไม่   แต่หากนักลงทุนมีความเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน และเตรียมพร้อมหาทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้อยู่เสมอ ก็จะมีส่วนช่วยให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก หากเกิดการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินลงทุนอีกในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติ ผลต่อตลาดการเงินของไทย

view