สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การศึกษาไทยตกต่ำจริงหรือไม่ ?

การศึกษาไทยตกต่ำจริงหรือไม่ ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวหนึ่งที่ค่อนข้างฮือฮากันมากในสื่อต่างๆ รวมทั้งกระแสสื่อสังคมออนไลน์ คือ เรื่องของการจัดอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยที่ตกต่ำ

เป็นอันดับ 8 ของอาเซียน ตามผลการศึกษาของ World Economic Forum (WEF) นั้น ซึ่งจริงๆ WEF เพิ่งออกรายงาน The Global Competitiveness Index 2013-2014 มาเมื่อวันพุธที่แล้ว ดังนั้น เราลองมาดูข้อมูล ตัวเลขและวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าจากรายงานของ WEF นั้นการศึกษาของไทยตกต่ำขนาดนั้นจริงหรือไม่ (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น Partner ของ WEF ในประเทศไทย)

รายงาน GCI (The Global Competitiveness Report) นั้นเป็นการวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 37 (ปีที่แล้วลำดับที่ 38) ถ้าเทียบกับในประเทศอาเซียนแล้วเราเป็นรองสิงคโปร์ มาเลเซีย และ บรูไน โดยในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ นั้น WEF จะพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ โดยเรื่องของการศึกษาระดับสูงและการอบรม (Higer Education and Training) เป็นหนึ่งในเสาหลักที่นำมาใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และภายใต้หัวข้อ Higher Education and Training นั้นยังมีประเด็นย่อยๆ อีกหลายประเด็น

ประเด็นย่อยแรกคือส่วนของ Quality of the Educational System หรือคุณภาพของระบบการศึกษา นั้น ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 8 มาตั้งแต่ GCI ของปี 2012 แล้ว พอรายงานปี 2013 ออกมา การศึกษาของไทยก็ยังอยู่ในอันดับที่ 8 อีกเช่นเดิม เพียงแต่ลำดับของประเทศที่อยู่เหนือเราในปี 2012 กับ 2013 นั้นเปลี่ยนไป ในปี 2012 นั้น อันดับที่ 6 และ 7 คือ กัมพูชา และ เวียดนาม แต่ในปี 2013 นั้นอันดับที่ 6 และ 7 คือ ลาว (ปี 2012 ลาวยังไม่มีการจัดอันดับ) และ กัมพูชา ซึ่งจากรายงานล่าสุดนั้นแสดงว่าในเรื่องของ Quality of the Educational System นั้น เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วเราเหนือกว่าเพียงแค่เวียดนามและพม่า

อย่างไรก็ดี การดูจากอันดับเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เหมาะสมนะครับ เพราะสิ่งที่ WEF ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็คือ เขาจะดูว่าระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ สามารถตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นได้หรือไม่? เราอาจจะไม่สามารถฟันธงได้ว่าระบบการศึกษาเราด้อยกว่าลาวหรือกัมพูชา เนื่องจากสิ่งที่ WEF ใช้พิจารณาคือการเปรียบเทียบระบบการศึกษาว่าเกื้อหนุนต่อการแข่งขันของประเทศ การที่ระบบการศึกษาของไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ต่ำนั้น แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยไม่สามารถเกื้อหนุนต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสำคัญครับ

ยิ่งเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตนั้นคุณภาพระบบการศึกษาของเรายิ่งแย่ใหญ่ครับ คือในรายงาน GCI ของปี 2007-2008 นั้นไทยอยู่อันดับที่ 4 ของอาเซียนโดยมีคะแนน 4.14 (จากคะแนนเต็ม 7) แต่พอปี 2012 และ 2013 เราตกมาเป็นอันดับ 8 ของอาเซียน และคะแนนก็ตกลงด้วยเหลือ 3.54 และ 3.57 ตามลำดับ (คะแนนปี 2013 ดีกว่า 2012 แต่อันดับเท่าเดิมครับ) แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย คุณภาพของระบบการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ครับ

ประเด็นย่อยอีกตัวหนึ่งคือ Quality of math and science education หรือคุณภาพของการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อเทียบกับในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ครับ รองลงมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ อินโดนีเซีย

เมื่อมาดูตัวสรุปรวมทั้งหมดคือเรื่องของ Higher Education and Training นั้นประเทศไทยก็ไม่ได้เลวร้ายมากครับ อยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ อินโดนีเซีย) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วอัตราการศึกษาต่อในระดับต่างๆ ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่ เพียงแต่ปัญหาหลักๆ ก็คือคุณภาพของระบบการศึกษาที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ผู้กำหนดนโยบายต้องหันกลับมามองแล้วนะครับว่าปัจจุบัน Strategic Positioning ของไทยในเวทีโลก อาจจะไม่ใช่ประเทศที่เน้นการผลิตที่มีต้นทุนที่ถูกอีกต่อไป คำถามสำคัญคือระบบการศึกษาของไทยได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือไม่? คุณภาพของการศึกษาเราไม่ได้ด้อยลง เพียงแต่ไม่สามารถก้าวให้ทันกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การศึกษาไทย ตกต่ำ จริงหรือไม่

view