สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




โจทย์เรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องหลักที่ผู้บริหารของทุกประเทศต้องขบคิด ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปหลายครั้ง

ในครั้งนี้จะขอเขียนถึงเรื่องนี้ แต่เป็นมุมมองและตัวอย่างของประเทศอื่นค่ะ

สมาคมจัดการธุรกิจไทย หรือ Thailand Management Association (TMA) จัดสัมมนาเรื่อง Thailand Competitiveness ทุกสองปี โดยจะเชิญวิทยากรจาก IMD ซึ่งหนึ่งในสององค์กรที่เป็นผู้จัดทำการวิจัยความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยอีกสำนักหนึ่งคือ World Economic Forum (WEF)

ในปี 2556 นี้ ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันขยับขึ้นเล็กน้อย มาอยู่อันดับที่ 27 เท่ากับปี 2554 หลังจากที่ตกลงไปอยู่ 2-3 ปี แต่ยังไม่เท่าอันดับที่ 25 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่เคยได้เมื่อปี 2548

ในปีนี้ TMA ได้เชิญผู้แทนการค้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาพูดถึงการเกษตรและประสบการณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในการบริหารจัดการดูแลเรื่องการเกษตร ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจจึงอยากนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน

ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ เป็นประเทศขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 33,800 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 6.5% ของพื้นที่ประเทศไทย พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม โดยส่วนที่ติดชายฝั่งทะเลอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยในบางช่วงมีเขื่อนกั้นทะเล พื้นที่ต่ำที่สุดอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 7 เมตร และพื้นที่ที่สูงที่สุดอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 322 เมตร

มีประชากรรวม 16.7 ล้านคน ปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ King Willem Alexander เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 30 เมษายน 2556

สีส้มเป็นสีประจำราชวงศ์ โดยมีประวัติย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12 เจ้าชาย Williamที่หนึ่ง เป็นผู้ปกครองแคว้นออเรนจ์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และพระองค์ทรงเป็นผู้รวบรวมชาวดัชท์ขับไล่สเปนซึ่งปกครองประเทศในขณะนั้น เนื่องจากความคล้องจองของชื่อแคว้นกับชื่อสี สีส้มจึงกลายเป็นประจำราชวงศ์ และทีมกีฬาได้นำมาใช้เป็นสีประจำทีม

เนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็น 12 จังหวัด มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ในกลุ่มยูโร โดยมีมูลค่า GDP ในปี 2555 ประมาณ 773,100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีภาคการส่งออกที่ใหญ่ถึง 87.3% ของจีดีพี มีการบริโภคภาคเอกชน 45.5% ภาครัฐ 28.4% และมีการลงทุน 17.2%

เนเธอร์แลนด์มีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 8 อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์มากที่สุด การเกษตรของประเทศใช้เครื่องจักรมาก จึงใช้แรงงานเพียง 2% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนแรงงานอีก 18% อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และอีก 80% อยู่ในภาคบริการ

คู่ค้าหลักๆของเนเธอร์แลนด์อยู่ในยุโรปค่ะ โดยเนเธอร์แลนด์ส่งออกไปเยอรมนี 26.3% ของการส่งออกทั้งหมด ส่งไปเบลเยียม 14.1% ฝรั่งเศส 8.8% อังกฤษ 8% อิตาลี 4.5%

สำหรับการนำเข้า เนเธอร์แลนด์นำเข้าจากเยอรมนี 13.9% จีน 12% เบลเยียม 8.4% สหราชอาณาจักร 6.7% รัสเซีย 6.4% และสหรัฐอเมริกา 6.1%

ดิฉันได้ฟังถึงการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ฟังแล้วก็รู้สึกทึ่งมากทีเดียว

เริ่มจากการที่เขาตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญต่อประเทศ เพราะทำรายได้อยู่ในสามอันดับแรกของจีดีพีประเทศ และสำคัญต่อประชากรของประเทศ เพราะทำให้เกิดงานทั้งโดยตรงโดยอ้อมสำหรับคน 0.66 ล้านคน สร้างมูลค่าเพิ่มถึง 48,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 62,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท (ในสไลด์บรรยายถึงกลยุทธ์ เขาเขียนสาขาย่อยที่ให้ความสำคัญพิเศษในกลุ่มเกษตรและอาหารอยู่ในรูปเพชรเลยทีเดียว)

หลายท่านอาจไม่ทราบว่าเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ส่งออกผักสดใหญ่ที่สุดในโลก

ความสำเร็จไม่ได้ได้มากโดยง่าย เขาวางแผนและดำเนินการอย่างมีระบบ ร่วมทำงานกันตลอดสายการผลิต ตั้งแต่การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือที่จะมาช่วยผ่อนแรงในการเกษตร การสร้างบุคลากร การดูส่วนผสมอาหาร สายพันธุ์สัตว์ การปกป้องพืชผลทางชีววิทยา ไปจนถึงการกระจายสินค้าและจัดจำหน่าย และการส่งผลผลิตให้จนถึงการส่งเสริมการบริโภค

ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรและอาหารของเนเธอร์แลนด์นับว่าอยู่แนวหน้าในเรื่องประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบการผลิตและกระบวนการผลิต ตลอดสาย รวมถึงมีการคิดค้น วิจัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้เนเธอร์แลนด์ถือเอาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นเรื่องหลักที่สำคัญ อาหารต้องมีเพียงพอ ปลอดภัย การผลิตอาหารต้องมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น วัตถุดิบ พลังงานและน้ำ โดยตั้งเป้าหมายไว้ให้ท้าทาย ให้ทีผลผลิตเพิ่มขึ้นสองเท่า มีคุณภาพดีขึ้นสองเท่า ในขณะที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงสองเท่า

เป้าหมายของเขาท้าทายดีค่ะ ต้องการเป็นผู้นำ คนจะเป็นผู้นำต้องเป็นแบบนี้ คือไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองและคอยปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพราะถ้ามัวแต่ดูเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่ออยู่ในตำแหน่งอันดับหนึ่งก็จะไม่มีใครให้ไล่ตาม หากบริหารจัดการไม่ดี มีสิทธิ์ตกสวรรค์ได้ง่ายๆ

ตลอดเวลาที่นั่งฟังการบรรยาย ดิฉันสัมผัสได้ถึงสิ่งหนึ่งซึ่งชัดเจนมาก คือความมุ่งมั่นของรัฐในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของเอกชน และคอยสนับสนุน สร้างเสริมให้เอกชนแข็งแกร่งขึ้น

รัฐจะสร้างสภาพแวดล้อม ลดการอุดหนุน หรือ มี Subsidyให้น้อย มีกฎเกณฑ์ให้น้อยลง และไม่ซับซ้อน เขามีคณะทำงานร่วมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากธุรกิจภาคเอกชนขนาดใหญ่ มาจากภาคการวิจัย จากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME และมาจากภาครัฐ ร่วมหารือกันเกี่ยวกับประเด็นและข้อเสนอต่างๆ และยื่นข้อเสนอแนะนั้นให้กับรัฐบาล

ยกตัวอย่างเขาทราบดีว่าแรงงานฝีมือจะขาดแคลน เขาก็ดำเนินการสร้างคนที่มีทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมไปถึงเข้าไปดูหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เขามีมหาวิทยาลัยที่เน้นเฉพาะด้านการเกษตรและอาหารถึงสองแห่ง

นอกจากจะจัดให้มีแรงงานทักษะสูงแล้ว รัฐยังมีหน้าที่จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง และส่งเสริมการดำเนินการในลักษณะของการร่วมดำเนินการกับเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership การร่วมแรงร่วมใจกันทำให้งานสำเร็จได้ บรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

ดิฉันรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานด้วยทัศนคติว่า รัฐเป็นผู้เอื้อให้เอกชนมีสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ดี ไม่ได้เป็นในลักษณะว่ารัฐเป็นผู้มีอำนาจ และใช้อำนาจ

รับฟังแล้วก็รู้สึกอ่อนเพลียละเหี่ยใจ สงสารข้าวไทยที่เราเคยพยายามทำนุบำรุงรักษาพันธุ์ดีๆไว้ ตอนนี้หายไปไหนหมดแล้วก็ไม่ทราบ ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาผลิตเพื่อเอาปริมาณไปจำนำ หาข้าวอร่อยๆรับประทานไม่ค่อยได้แล้ว แม้เป็นยี่ห้อที่เคยเป็นพรีเมียม ตอนนี้ก็ไม่อร่อยค่ะ อย่างนี้เราจะรักษาจุดแข็ง จุดเด่นของเราได้อย่างไร ถ้านโยบายของรัฐทำร้ายแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

view