สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนจาก PTTGC (3): ยิ่ง อวดเบ่ง ชุมชนยิ่งไม่ไว้ใจ

บทเรียนจาก PTTGC (3): ยิ่ง "อวดเบ่ง" ชุมชนยิ่งไม่ไว้ใจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ก่อนหน้านี้ผู้เขียนอธิบายวิธีปิดบังนักลงทุนของ ปตท. โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) และความที่บริษัทและบริษัทแม่ “ไม่เข้าใจ”

หรือ “ไม่ใส่ใจ” สิ่งแวดล้อม วันนี้ก็ได้เวลาอธิบายเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ วิธีที่บริษัท “อวดเบ่ง” ด้วย “เส้นใหญ่” และผลกระทบของทัศนคติเช่นนี้ต่อความ(ไม่)ไว้วางใจของชุมชน

ผ่านไปเดือนกว่า ข้อเท็จจริงเรื่องน้ำมันรั่วครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในไทยยังไม่มีความคืบหน้า และท่าทางจะ “จบ” แบบคาราคาซัง กล่าวคือ จนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดตั้งท่าฟ้องบริษัทโทษฐานทำน้ำมันรั่ว ก่อความเสียหายแก่การท่องเที่ยว การประมง ระบบนิเวศชายหาดและใต้ทะเล

เว็บไซต์เฉพาะกิจชั่วคราวของบริษัท http://www.pttgc-oilspill.com/ อัพเดทครั้งล่าสุดวันที่ 6 กันยายน 2556 รายงานความคืบหน้าแต่เพียงสั้นๆ ว่า “จังหวัดระยอง ร่วมกับ PTTGC สรุปการเยียวยาล่าสุด จำนวน 3,568 ราย จำนวนเบื้องต้น 141.09 ล้านบาท และกำลังเร่งพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นต่อไป”

กรณีน้ำมันรั่วสะท้อนพฤติกรรม “อวดเบ่ง” และ “เส้นใหญ่” อย่างไร? ลองมาดู “กระบวนการเยียวยา” ของบริษัทกัน

ทั้งที่ประกาศว่า “จะรับผิดชอบทุกอย่าง” พีทีทีจีซีกลับกำหนดอัตราการเยียวยาชาวประมงไว้ตายตัวที่ 30,000 บาทต่อราย โดยคิดจากฐาน 1,000 บาท ต่อราย เป็นเวลา 30 วัน

ชาวประมงที่อยากได้เงินเยียวยาต้องกรอกแบบฟอร์มเยียวยาความเสียหาย ซึ่งออกโดยอำเภอเมืองระยอง ไม่ใช่บริษัท แบบฟอร์มนี้มีข้อความลงท้ายว่า “ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ข้อมูลที่ให้นี้เป็นความจริงทุกประการ หากภายหลังปรากฎว่าข้อมูลที่ให้ไม่ตรงกับความจริง ข้าพเจ้ายินยอมให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา...”

บริษัทย่อมมีสิทธิดำเนินคดีอยู่แล้วกับคนที่ให้ข้อมูลเท็จ แต่ผู้เขียนไม่เคยเห็นบริษัทใหญ่บริษัทไหนใช้วิธีนี้ ปากประโคมข่าวว่าตัวเองจะรับผิดชอบทุกอย่าง แต่กลับมีข้อความที่แสดงถึงความไม่จริงใจที่จะเยียวยา แถมหลักเกณฑ์การเยียวยาก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการแสวงหาข้อมูลความเสียหายที่แท้จริงของผู้เสียหายแต่ละราย แต่ส่อเจตนาว่าอยาก “รีบจ่ายจะได้จบ” มากกว่า

จัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าอยากให้ กสม. ตรวจสอบกรณีนี้เพราะ “...คณะกรรมการที่ร่างแบบฟอร์มเยียวยาความเสียหายทั้ง 2 ชุด ล้วนประกอบด้วยบุคคลของภาครัฐไม่ต่ำกว่า 14 คน มีตัวแทนชาวบ้านร่วมรับฟังเพียงแค่ชุดละ 1-2 คน ...มิได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

...แบบฟอร์มที่ระบุกรอบการเยียวยาเพียง 30 วัน และระบุให้ส่งภายในสิ้นเดือน ส.ค. ไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้าน เพราะพีทีทีจีซีไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบที่แท้จริง ว่านับแต่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่ว ชาวประมง แม่ค้า พ่อค้า คนรับจ้างตามชายหาด และผู้ประกอบการทุกๆ อาชีพ ขาดรายได้ไปเท่าไหร่ในแต่ละวัน” (ข่าวจากสำนักข่าวอิศรา)

พีทีทีจีซีอ้างว่า ถ้าความเสียหายที่แท้จริงเกิน 30,000 บาท ผู้เสียหายก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ปัญหาคือ ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อบริษัทโดยตรง ต้องอุทธรณ์กับคณะกรรมการอุทธรณ์ที่จังหวัดตั้งขึ้น แถมยังต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่ฝ่ายคณะกรรมการฯ กลับไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาว่าจะต้องแล้วเสร็จเมื่อไร แน่นอนว่าทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าเยียวยาเพิ่มเติมจาก 30,000 บาท

คำถามที่ใหญ่กว่าคือ ทำไมผู้เสียหายจึงต้องเป็นฝ่ายบากหน้าไป “อุทธรณ์” ทั้งที่การเยียวยาเป็นความรับผิดชอบของบริษัทโดยตรง ไหนจะตัวเลข 30,000 ซึ่งอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้

เท่านี้ก็พอเห็นว่ากระบวนการเยียวยา โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนได้เสียรายเล็กรายน้อยที่น้ำมันรั่วส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเขาที่สุด คือ ใช้แขนขาองคาพยพของรัฐเป็นเกราะกำบัง หน่วยรับเรื่อง ด่านหน้าเจรจา ตัวเองรอจ่ายเงินและอ้างรัฐเป็นหลัก

กระบวนการเช่นนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) โดยเฉพาะเรื่อง “การสร้างการยอมรับจากชุมชน” (license to operate) ซึ่งบอกว่าบริษัทต้องมีกระบวนการ “ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม” (stakeholder engagement) โดยตรง ไม่ใช่โบ้ยให้ไปหาราชการดังเช่นในอดีต เพราะความล้มเหลวของรัฐในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ผลักดันกระแสเรียกร้องซีเอสอาร์(ที่แท้จริง)ตั้งแต่แรก

เหตุการณ์ที่สะท้อนขนาด “เส้นก๋วยจั๊บ” นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกของบริษัทในเครือ ปตท. เพียงแต่ที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่สนใจลงแต่ข่าวประชาสัมพันธ์ มากกว่าจะทำข่าวจริงตามหน้าที่

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2548 น้ำมันดิบกว่า 20,000 ลิตร บริเวณทุ่นผูกเรือ SBM ของบริษัทไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทลูกของ ปตท. รั่วไหลขณะทำการสูบถ่าย กรมการขนส่งทางน้ำ กองทัพเรือ และกลุ่มอนุรักษ์ (IESG) ร่วมปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันเป็นเวลาติดต่อกัน 4 วัน และมีการแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง โดยมีการชดเชยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ปี 2549 เกิดปรากฏการณ์น้ำมันสีดำครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ตรม. ระหว่างท่าเทียบเรือบริษัทไทยออยล์และบริษัทสยามซีพอร์ต เทอร์มิเนิ้ล และคลังสินค้า จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีการดำเนินคดี ต่อมาปลายปีเดียวกัน ปรากฏน้ำปนน้ำมันครอบคลุมพื้นที่ 7,500 ตรม. บริเวณหน้าท่าเทียบเรือของบริษัท ปตท. อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีสาเหตุมาจากการลักลอบทิ้งน้ำท้องเรือ ไม่มีการดำเนินคดี(!)

ปี 2551 ท่อส่งสารคิวมีนขนาด 6 นิ้ว รั่วไหล ทำให้ก๊าซพิษกระจายไปทั่วโรงงานของบริษัทพีทีที ฟีนอล จำกัด เครือ ปตท. ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ระยอง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมก๊าซพิษ 112 ราย ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 33 ราย ไม่มีการดำเนินคดี

ปี 2552 เกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดน้ำมันมอนทารา ออสเตรเลีย สัมปทานของบริษัทลูก ปตท.สผ. เป็นกรณีน้ำมันรั่วที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของออสเตรเลีย ปีเดียวกันในไทย เกิดเหตุก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์รั่วไหลที่โรงงานของ พีทีทีจีซี ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลให้คนงานและผู้รับเหมาจำนวน 27 ราย มีอาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มี 4 รายอาการสาหัส ไม่มีการดำเนินคดี

ปี 2554 ชาวบ้าน อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คน ไปชุมนุมประท้วงหน้าบริษัท ปตท.สผ. เรียกร้องค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือขนถ่ายน้ำมัน ทำให้ปลาในกระชังตายและกระทบกับอาชีพประมง เหตุเกิดนานกว่า 6 เดือน ยังไม่ได้รับเงินชดเชย

ในบรรดาตัวอย่างอุบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือ ปตท. ที่ยกมาข้างต้น มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่มีการดำเนินคดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ นั่นคือ เหตุระเบิดมอนทาราในออสเตรเลีย

หรือว่าจะมีแต่รัฐบาลต่างชาติเท่านั้นที่พึ่งพาได้ ถ้าเราอยากเห็นความรับผิดชอบที่แท้จริงจากบริษัทที่ “อวดเบ่ง” และ “เส้นใหญ่” แบบไทยๆ.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทเรียน PTTGC อวดเบ่ง ชุมชน ยิ่งไม่ไว้ใจ

view