สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Big Data ทรัพยากรล้ำค่า กุญแจไขสู่ความสำเร็จ

จากประชาชาติธุรกิจ

จากพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในรูปแบบต่าง ๆ และบทบาทของโซเชียลมีเดีย  ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้เกิดการสร้างสรรค์และแบ่งปันข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ก่อให้เกิด"ข้อมูล"บนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาล ที่เรียกว่า "Big Data" 

โดยประมาณการณ์กันว่าแต่ละวันมีข้อมูลใหม่ ที่สร้างขึ้นจากผู้บริโภคทั่วโลกถึง 2.5 quintillion byte (quintillion คือจำนวนที่มีเลขศูนย์ตามหลังถึง 18 ตัว)  

ทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมต่างๆ  การซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ข้อมูลจากอีเมล์  โทรศัทพ์มือถือ รวมถึงข้อมูลจากจีพีเอส และอื่นๆอีกมากมาย  เรียกว่าครอบคลุมทุกด้านของชีวิตประจำวัน  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสะท้อนเทรนด์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี  

ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็น"ทรัพยากรธรรมชาติ"ที่สำคัญ    ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 

เพราะหากองค์กร สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างชาญฉลาด   ก็จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจ หรือวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งช่วยให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างทะลุทะลวงหรือที่เรียกว่า consumer insight   ทำให้องค์กรทั้งหลายสามารถพัฒนาสินค้าและบริการตรงตามความต้องการของ กลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ธุรกิจในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ  และดูแลรักษาฐานลูกค้าเดิมให้อยู่กับเราตลอดไป     
นับเป็นความท้าทายของผู้บริหารและองค์กรยุคใหม่  ที่จะวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลมากมายเหล่านี้   เพื่อที่จะเอาชนะความท้าทายและก้าวสู่ความสำเร็จ   ดังนั้นผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคใน ยุคดิจิทัล และตระหนักถึงความสำคัญของ Big Data รวมทั้งการรู้จักนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 

จากผลสำรวจของไอบีเอ็ม พบว่า 89% ของผู้บริหารระดับซีอีโอทั่วโลก ต้องการข้อมูล insight ที่แม่นยำ  ผู้บริหารจึงต้องมีเครื่องมือ ซอฟต์แวร์ หรือโซลูชั่นในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ (Analytics)   รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยแปลงข้อมูล Big Data เหล่านั้นออกมาให้พร้อมนำไปใช้ในการวางแผนและตัดสินใจที่ถูกต้อง   

นอกจากนี้ด้วยความสามารถจัดการข้อมูลมหาศาลนี้จากซอฟต์แวร์ โซลูชั่นต่างๆ  ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำตลาดมากขึ้น  จากเดิมที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นทำการตลาดแบบ Mass Marketing  ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคส่วนใหญ่    แต่ด้วยข้อมูลและเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจและรู้จักตัวตนของผู้บริโภคมากขึ้น  ทำให้ปัจจุบันองค์กรธุรกิจหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเจาะเฉพาะบุคคลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง

รวมทั้งการพัฒนาโมเดลการตลาดแบบใหม่ที่เรียกว่า Contextual Marketing ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้แบบ Real-Time โดยคาดการณ์จากข้อมูลไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของผู้บริโภค  เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่รักที่จะถูกปรนนิบัติเยี่ยงคนสำคัญและไม่เหมือนใครอื่นทั่วไป 

จากข้อมูลและรูปแบบการใช้จ่ายของเราในอดีตจะถูกนำไปประมวลผลและนำมาสู่การออกแบบ โปรโมชั่นที่ตอบสนองได้ตรงกับตัวเรามากยิ่งขึ้น   ขณะที่เพื่อนๆที่มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันก็จะได้รับการเสนอโปรโมชั่นที่ต่างออกไป    รูปแบบของContextual Marketing ที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมส่วนตัวช่วยสร้างประโยชน์ทั้งกับผู้ให้และผู้รับบริการไปพร้อมๆกัน

wehkamp.nl เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์  แก้จุดอ่อนของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภคมักเข้ามาเปิดเลือกดูสินค้าเพื่อเปรียบเทียบแต่ไม่ซื้อ โดยเว็บไซต์นำโซลูชั่นData Analytics ของไอบีเอ็มมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการเลือกดูสินค้าของลูกค้า  และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวกับแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์  เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนแบนเนอร์แบบเรียลไทม์โดยเลือกเสนอขายสินค้าตามความสนใจของลูกค้ารายนั้นๆ   พร้อมกับส่งอีเมล์ที่นำเสนอโปรโมชั่นที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าจริงๆ  ไม่ใช่โปรโมชั่นแบบเหวี่ยงแหสำหรับลูกค้าทุกรายที่เหมือนกันหมด

นี่คือการสร้างสินค้าและบริการที่แตกต่างของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง wehkamp.nl  ซึ่งผลที่เวบไซต์ได้รับคือผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่เพิ่มขึ้น 15 เท่า          สำหรับตัวอย่างองค์กรธุรกิจในประเทศไทย ที่มีการนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูล Big Data  เพื่อช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ  ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนรายแรกๆของประเทศไทย  ที่ได้นำเทคโนโลยี IBM Power Systems มารองรับการทำงานของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system:HIS) เชื่อมโยงกับการให้บริการเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลในเครือ 29 แห่งทั่วประเทศ   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วย   

ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น เพราะโรงพยาบาลสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจของลูกค้าแต่ละรายมาวิเคราะห์สถิติในอดีตถึงปัจจุบัน   เพื่อคาดการณ์แนวโน้มสุขภาพของผู้ป่วย พร้อมทั้งวางแผนรักษาและดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา ดูแลและฟื้นฟูหลังการรักษา

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดก็คือผู้ที่เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 30% รวมทั้งจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น 25% ต่อวัน 

นอกจากนี้ยังมีกรณีของบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)หรือเอพี   ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ที่ได้ลงทุนชุดซอฟต์แวร์ IBM Business Analytics  เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลจัดกลุ่มลูกค้า  ติดตามผลการขาย  ดัชนีวัดผลการดำเนินงาน รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลจากแต่ละแหล่งเพื่อการวิเคราะห์อย่างรวดเร็วและแม่นยำ 

เนื่องจากเอพี มีการลงทุนขยายโครงการทั้งประเภทบ้านเดียวและคอนโดมิเนียมค่อนข้างมาก  ทำให้ฐานข้อมูลลูกค้าทั้งในกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยและซื้อเพื่อลงทุน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ชุดซอฟต์แวร์ดังกล่าวสามารถช่วยบริษัทในการพัฒนาธุรกิจและสร้างสรรค์แคมเปญ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันได้อย่างตรงจุด และยังช่วยให้บริษัทสามารถ วางแผนธุรกิจและการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่าง มีประสิทธิภาพ    

นั่นหมายความว่า องค์กรทั้งหลายจะยืนอยู่ในฐานะของ "ผู้ชนะ"หรือ"ผู้แพ้" ในการแข่งขันในยุคดิจิทัล หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ศักยภาพความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้  และนำมาใช้เพื่อการวางแผนและตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำนั่นเอง 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Big Data ทรัพยากร ล้ำค่า กุญแจไขสู่ความสำเร็จ

view