สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดร่างกฎหมาย เพศที่สาม จดทะเบียน คู่ชีวิต ตีทะเบียนเสมือนสามี-ภรรยา

จากประชาชาติธุรกิจ

กลายเป็นประเด็นฮือฮาในการคุ้มครองสิทธิให้กับเพศที่สาม เมื่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จับมือกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยกร่างกฎหมายใหม่เอี่ยม เปิดมุมมองเรื่องสิทธิและเสรีภาพกับกลุ่มเพศที่สามให้กว้างขึ้น โดยใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต



ป็นร่างกฎหมายที่ทำให้กลุ่มที่มีวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดหรือไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรือ LGBT มีคู่ชีวิตเป็นเพศเดียวกัน และใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัว เพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้เท่าเทียมกับชายจริง หญิงแท้ อาทิ การรับสิทธิประโยชน์ของคู่ชีวิต การดูแลและการลงนามอนุญาตให้คู่ชีวิตรักษาพยาบาล สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สิทธิการลดหย่อนภาษี สิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและสิทธิอื่นๆ

โดยมีสาระสำคัญว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีฐานะ สัญชาติไทย สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตกับเพศเดียวกันได้โดยให้มีผลเสมือนชายหญิงจดทะเบียนสมรสกัน

พลิกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.... มีหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับไว้ จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่อันพึงมีพึงได้ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 26 และมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ และตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สมควรให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน

มาตรา 3 ระบุว่า "คู่ชีวิต" หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันและได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้ "การจดทะเบียน" หมายความว่า การจดข้อความลงในทะเบียนเพื่อความสมบูรณ์ทางกฎหมาย "นายทะเบียน" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ได้แต่งตั้งขึ้น

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้

ในหมวดที่ 1 เงื่อนไขการจดทะเบียนคู่ชีวิต ระบุว่า มาตรา 5 การจดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้ให้กระทำได้เมื่อบุคคลมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย มาตรา 6 ระบุว่า การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายแสดงความยินยอมให้ ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ ด้วย การจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา 7 การจดทะเบียนจะกระทำมิได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (2) ถ้าบุคคลทั้งคู่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งความเป็นญาติดังกล่าวให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (3) มีคู่สมรส หรือได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้อยู่ก่อนแล้ว

มาตรา 8 การจดทะเบียนคู่ชีวิตในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

หมวด 2
ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต มาตรา 9 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมาบังคับใช้โดยอนุโลม

คู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้ มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น เช่น สิทธิในการใช้ชื่อสกุล หรือสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิในการลดหย่อนภาษี สิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย

หมวด 3 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต มาตรา 10 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯมาบังคับใช้โดยอนุโลม

หมวด 4 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต มาตรา 11 คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การสมัครใจเลิกกันโดยการจดทะเบียนหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน มาตรา 12 เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต มีดังนี้ (1) การฝ่าฝืนเงื่อนไขการจดทะเบียนคู่ชีวิต ตามหมวด 1 (2) การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1505 ถึงมาตรา 1508 และมาตรา 1511 ถึงมาตรา 1513 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

(3) กรณีมีเหตุ ตามมาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ (เหตุฟ้องหย่า) ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1517 ถึงมาตรา 1519 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

มาตรา 13
การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ฝ่าฝืน มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นเหตุให้บุคคลที่จดทะเบียนคู่ชีวิตโดยสุจริตเสื่อมเสียสิทธิที่ได้มา เพราะการจดทะเบียนคู่ชีวิตก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียน คู่ชีวิตแต่การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ฝ่าฝืนมาตรา 7 ไม่ทำให้คู่ชีวิตเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่าย หนึ่ง

มาตรา 14 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ บรรพ 5 ว่าด้วยการสิ้นสุดแห่งการสมรส เช่น ผลการเพิกถอนการสมรส สิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าทดแทนค่าเลี้ยงชีพ และการจัดการทรัพย์สินกรณีการหย่า มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของการจดทะเบียนคู่ชีวิตโดยอนุโลม

หมวด 5 มาตรา 15 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก มาใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดก มาใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้โดยอนุโลม


ที่มา นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดร่างกฎหมาย เพศที่สาม จดทะเบียน คู่ชีวิต ตีทะเบียน สามี-ภรรยา

view