สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดให้ใหญ่ คิดให้รอด

คิดให้ใหญ่ คิดให้รอด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมา ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานให้อ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่ง

ซึ่งเป็นหนังสือแปลเกี่ยวกับแนวคิดของคนในประเทศหนึ่งซึ่งมีคนไม่มากนักมีโอกาสในการเยือน

ผมเองได้เคยไปเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา และครั้งนั้นยังจำภาพได้ถึงความยากลำบาก (เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง) การดิ้นรน และการต่อสู้ ซึ่งประเทศที่กล่าวถึงคือ อิสราเอล (ตอนนั้นไม่มีใครไม่เคยไม่ได้ยินระบบน้ำหยด และไม่มีใครไม่รู้ว่าประเทศต้นตำรับนี้คืออิสราเอล) ซึ่งผมได้มีโอกาสไป 2 เมือง คือ เทลาวีฟ และเยรูซาเลม หนังสือที่ได้มีโอกาสอ่านบางตอนคือ คิดอย่างไร ใหญ่อย่างอิสราเอล

ผมถือโอกาสนี้เอาบางตัวอย่างในหนังสือนี้มา เพื่อประกอบการคิดและการมองสำหรับคนและธุรกิจของเราในไทย ซึ่งการเดินทางไปทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวนั้น จุดหมายเดินทางที่นักเดินทางมักเดินทางนั้น จะมีหลายประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน หรือประเทศในอาเซียน แต่คงมีคนไม่มากนักที่มีโอกาส หรือตั้งใจที่จะเดินทางไปอิสราเอล

หากเรามองสภาพเศรษฐกิจช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจในไทยของเราหลังจากต้มยำกุ้ง มีการพัฒนาหลาย ๆ อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ของธุรกิจ มีอัตราการว่างงานต่ำ และมีรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น

แต่ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในปีนี้ มีความไม่แน่นอนหลายๆเรื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเป็นห่วง และไม่แน่ใจว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกที่ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นนัก การบริโภคยังมีอัตราโตลดลง หรือแม้กระทั่งหดตัวในบางประเทศ และด้านภายในประเทศที่มีค่าดำเนินการสูงขึ้น แรงงานที่ไม่ค่อยจะพอ และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และบ่อยครั้งค่าเงินบาทปรับตัวขึ้นๆลงๆ และมีแน้วโน้มความเสี่ยงนี้จะมากขึ้น รวมถึงประมาณการตัวเลขต่างๆทั้ง GDP เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย

หากเรามองดี ๆ แล้วนั้น ประเทศไทยนั้นมีหลายๆอย่างที่ดี เราเคยกล่าวว่า ประเทศไทยของเรา ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เรามีที่ดิน เรามีน้ำ เรามีทรัพยากร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นด้วยชัยภูมิ ที่ตั้ง อากาศ ทรัพยากร และคนไทย ผมเคยไปหลายๆประเทศ บางประเทศไม่มีแม้กระทั่งน้ำมากพอในการทำการเกษตร ที่ดินตลอดแนวถนนไม่สามารถเพาะปลูกได้ สภาพอากาศไม่ดีพอ

ในบางตอนของหนังสือกล่าวว่า ประเทศอิสราเอลขาดความมากมายอยู่ 4 ประการ คือ ไม่มีคนมากมาย ไม่มีเวลามากมาย ไม่มีเงินมากมาย และไม่มีพื้นที่มากมาย ซึ่งในความขาดความมากมายดังกล่าว ไม่ได้เป็นเหตุในการไม่มีการพัฒนาตนเอง และพยายามที่จะอยู่รอดภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งหากเราเอาข้อมูลมาพิจารณาดูในอิสราเอลนั้น ธุรกิจเกิดใหม่เป็นธุรกิจที่สร้างงานใหม่ ในสัดส่วนที่มากกว่าธุรกิจที่ดำเนินการมานาน

แต่ในขณะที่ประเทศไทย สัดส่วนของการต้องเลิกกิจการของธุรกิจเกิดใหม่ในไทย ที่เพิ่งเริ่มต้นนั้นประมาณกว่า 80% ของธุรกิจตั้งต้นใหม่ เลิกกิจการลงภายใน 3 ปีจากวันเริ่มต้น

ในการดำเนินกิจการหลักที่สำคัญที่ประเมินได้คือ การทำธุรกิจคงต้องคำนึง หรือ ถามตนเองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นเป็นธุรกิจลักษณะไหน มีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน เราแตกต่างกับคู่แข่งอย่างไร หากทำธุรกิจแล้วไม่ค่อยมีความแตกต่างกับคู่แข่ง เราคงหนีไม่พ้นต้องเข้าร่วมสมรภูมิการแข่งขันด้านราคา (Price War) และหากเป็นธุรกิจที่เกิดใหม่ และต้องแข่งขันกับธุรกิจที่ดำเนินการมานาน การต้องเข้าไปแข่งขันโดยไม่มีจุดแตกต่างนั้น ยิ่งเป็นเรื่องโอกาสในการชนะหรืออยู่รอดมีน้อยลง

หนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ การที่มีผู้เชี่ยวชาญ หรือการที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ว่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นมาในอดีตนั้นเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงเกิด และดำเนินการอย่างไร ซึ่งการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้อดีตนั้นไม่พอ แต่ผู้ที่จะชนะ หรือ ประสบผลสำเร็จได้ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร อาจไม่รู้ทั้งหมด หรือ 100% แต่หากสามารถพิจารณาแต่ละสถานการณ์ และนำเอามาประกอบการตัดสินใจดำเนินการ ความมีวิสัยทัศน์ และสามารถคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และต้องทำอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ และจะทำให้ประสบผลสำเร็จ

ในตอนเด็ก ๆ ผมเริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์สมัยนั้นใช้ CPU Intel 8088 (xt) ซึ่งผมก็เพิ่งรู้เองว่า Chip ดังกล่าวมีการพัฒนาขึ้นในทีม Intel ที่อยู่ในอิสราเอล ซึ่งรวมถึง Chip อื่น ๆ อาทิ 80387 และ Centrino ซึ่งด้วยความมีน้อยในหลายๆ ด้านทำให้ธุรกิจ และคนในประเทศนั้นอาจต้องมีการดิ้นรนในการอยู่รอดไม่น้อย

แต่ในทางกลับกันในประเทศไทย เรามีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศที่ถึงแม้บ้างครั้งจะแล้งบ้าง ท่วมบ้าง แต่ก็โดยรวมถือว่าดี ทำให้สิ่งที่น่ากังวลของเราคือ เรามีความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ (ลองคิดถามกันดูนะครับ บ่อยครั้งเราไม่ค่อยเห็นธุรกิจใหม่ ๆ ของไทยที่ทำทางด้านเทคโนโลยี ธุรกิจที่ทำในสิ่งที่ไม่มีคนอื่น ๆ ทำ เราเห็นธุรกิจรายย่อยเปิดกิจการและทำในสิ่งที่เหมือนหรือคล้าย ๆ กันมากกว่า และเราไม่ค่อยเห็นคนไทยไปทำงาน หรือเป็นผู้บริหารในองค์กรในต่างประเทศมากนัก)

มีอีกประโยคเปรียบเทียบที่น่าสนใจคือ หนุ่มอิสราเอลมักจะขอแต่งงานกับสาวที่ตนได้ขอเดทด้วยในวันแรก เทียบได้กับหากนักธุรกิจมีความคิดใหม่ๆจะเริ่มต้นทำให้ความคิดของตนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว (เพราะไม่มีเวลามากมาย) ซึ่งหลายๆธุรกิจและเทคโนโลยีที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น หลายๆเทคโนโลยีมีเพียงบริษัทในประเทศนี้เท่านั้น ที่สามารถทำได้และขายผลิตภัณฑ์นี้ไปทั่วโลก

ในขณะที่บ่อยครั้งในประเทศไทย การเริ่มต้นธุรกิจนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องยาก อาจยากด้วยหลายมิติ คือ การเริ่มต้นนั้นไม่ได้คิดตั้งแต่ต้นว่าจะแตกต่าง หรือเป็นการเริ่มต้นเหมือนกับคนอื่นๆที่ทำ และบางครั้งถ้าเราเริ่มต้นไม่เหมือนคนอื่นๆเราจะใช้เวลาคิดมากกว่าและไม่ลงมือทำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจใหม่ๆที่ไม่มีในที่อื่นๆที่ทำนั้นไม่ค่อยมี

โดยสรุปนั้นเราอาจนำเอาสภาวะที่เราเป็นอยู่หรือเจอในการเป็นข้ออ้างหรือเหตุของการไม่ทำไม่ดำเนินการอยู่บ่อยครั้ง แรงงานแพงบ้าง ต้นทุนสูงบ้าง คนไม่ซื้อบ้าง หรือ อื่นๆ แต่หากเราเริ่มต้นตั้งแต่ถามตนเองว่าลักษณะพิเศษหรือความแตกต่างของกิจการหรือธุรกิจเราคืออะไร หากยังไม่มีก็ต้องยอมรับว่าเราต้องแข่งขันแบบยาก (หรือแข่งโดยอาศัยบริการ หรือราคาเป็นหลัก) แต่หากเราหาความแตกต่างได้และเอาความแตกต่างมาเป็นจุดขาย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เร็ว และก้าวให้ไกลกว่าคนอื่น ๆ เราก็จะมีความแข็งแรงและไม่ต้องแข่งด้านราคา

ความเข้าใจและสามารถคาดการณ์ ความแตกต่าง และความรวดเร็ว เป็นหลักสำคัญในการทำให้โอกาสในการชนะหรือสำเร็จมีมากกว่า เราอยู่ในประเทศที่พร้อม มีทรัพยากร มีหลาย ๆ อย่างที่ดี อย่าตัดกำลังใจหรือไม่ทำด้วยเหตุต่าง ๆ ที่เราเป็นคนอ้างเอง เพราะในหลาย ๆ ที่ โอกาสและสภาพความพร้อมนั้นน้อยกว่าเราเยอะ แต่ด้วยความอยู่รอดและความมีวินัยทำให้ประสบผลสำเร็จ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดให้ใหญ่ คิดให้รอด

view