สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาทำความรู้จัก Letter of Credit กันให้มากขึ้น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย จารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผอ.ฝ่ายรับประกันการส่งออก ธนส.


สวัสดี ครับ ฉบับนี้ผมอยากให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับ Letter of Credit หรือ L/C ให้มากขึ้น เพราะ L/C ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านการค้าเท่านั้น แต่หน้าที่หลักของ L/C คือการเป็นหลักประกันว่าผู้ส่งออกจะได้รับเงินค่าสินค้าเมื่อมีการส่งมอบ สินค้าลงเรือหรือยานพาหนะขนส่งตามที่ได้ตกลงไว้ และผู้ซื้อสินค้าก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าเมื่อจ่ายเงินค่าสินค้า ให้แก่ผู้ส่งออก L/C แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ประเภทเพิกถอนได้ (Revocable Letter of Credit) เมื่อธนาคารของผู้ซื้อเปิด L/C ให้แก่ผู้ส่งออกแล้ว ผู้ซื้อหรือธนาคารผู้เปิด L/C มีสิทธิ์ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือสามารถแจ้งยกเลิก L/C เมื่อใดก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ส่งออก ดังนั้น หากผู้ส่งออกได้รับ L/C ประเภทนี้ ขอให้ท่านได้โปรดหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูงจากการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ

2) ประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable Letter of Credit) เมื่อธนาคารของผู้ซื้อเปิด L/C ไปแล้ว ผู้ซื้อหรือธนาคารผู้เปิด L/C ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก L/C ฉบับนั้นได้ หากผู้ส่งออกไม่ยินยอมดังนั้น สิ่งแรกที่ท่านควรตรวจสอบในเบื้องต้น คือ ตรวจสอบว่าเป็น L/C ประเภทใด และหากไม่ได้ระบุว่าเป็นประเภทที่เพิกถอนได้ ในทางปฏิบัติจะถือว่าเป็น L/C ที่เพิกถอนไม่ได้

ทั้งนี้ L/C ประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable) แบ่งออกได้หลายชนิด ดังนี้

1) Fix L/C คือ L/C ที่กำหนดทั้งวงเงินและอายุ เมื่อครบกำหนดอายุของ L/C แล้ว

2) Straight Documentary L/C คือ L/C ที่ธนาคารรับรองว่าจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าต่อเมื่อผู้ขายส่งเอกสารไป ให้ธนาคารโดยตรงเท่านั้น

3) Negotiation Documentary L/C คือ L/C ที่ธนาคารผู้เปิด L/C กำหนดให้ผู้ขายสินค้านำตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) พร้อมเอกสารประกอบตามที่กำหนดใน L/C ไปขึ้นเงินค่าสินค้ากับธนาคารที่รับซื้อ ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ Restricted L/C คือ กำหนดชื่อธนาคารที่จะขึ้นเงินได้เป็นการเฉพาะเจาะจง และ Unrestricted L/C คือ ไม่ได้กำหนดชื่อของธนาคารที่จะขึ้นเงินได้

4) Revolving L/C คือ L/C ที่สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องเปิด L/C ฉบับใหม่ หรือไม่ต้องขอแก้ไขเพิ่มจำนวนเงินใหม่ (Amendment) ทำให้ประหยัดค่าธรรมเนียมในการเปิดหรือแก้ไข L/C จึงเหมาะสำหรับการซื้อขายที่กระทำกันเป็นประจำ และต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน

5) Transferable L/C คือ L/C ที่สามารถโอนต่อให้บุคคลอื่นได้ ไม่ว่าบุคคลอื่นนั้นจะอยู่ในประเทศเดียวกันหรือต่างประเทศก็ได้ รวมทั้งโอนให้บุคคลอื่นเพียงรายเดียวหรือหลายรายก็ได้ แต่จะโอนได้เพียงทอดเดียว ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) ไม่สามารถโอนต่อไปให้บุคคลอื่นอีกทอดหนึ่งได้ และผู้โอนไม่สามารถเพิ่มเงื่อนไขที่นอกเหนือจาก L/C ที่มาจากต่างประเทศได้ ยกเว้นจำนวนเงินหรือราคาสินค้า ระยะเวลาการส่งมอบสินค้า รวมทั้งการส่งเอกสารการหมดอายุของ L/C โดยจะเป็นการโอนทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนสามารถทำได้ แต่จำนวนเงินที่โอนต้องไม่เกินกว่าที่ระบุใน L/C

6) Back to Back L/C คือการเปิด L/C โดยใช้ L/C ที่เปิดในต่างประเทศเป็นหลักประกัน เพราะผู้ขายได้รับ L/C จากต่างประเทศ แต่ไม่มีสินค้าเป็นของตนเองจึงใช้ L/C ชนิดนี้สั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อแทน ดังนั้น เงื่อนไขต่าง ๆ ใน L/C ฉบับที่เปิดต่อให้ผู้ผลิตจึงยึดตาม L/C ฉบับแรกที่ผู้ซื้อเปิดให้แก่

ผู้ ขาย ซึ่งราคาสินค้าใน L/C ฉบับที่ 2 จะมีราคาต่ำกว่าฉบับแรกเสมอ เมื่อมีการส่งมอบสินค้าผู้ผลิตจะนำเอกสารไปขึ้นเงินที่ธนาคารของผู้ขาย ผู้ขายจะนำเอกสารต่าง ๆ พร้อมตั๋วขึ้นเงินของผู้ขายไปยื่นต่อธนาคาร ธนาคารจะทำการ Negotiate L/C ทั้งสองฉบับพร้อมกัน โดยนำเงินที่ได้จาก L/C ฉบับแรกไปชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ผลิตตาม L/C ฉบับที่ 2 และนำส่วนต่างค่าสินค้ามาเป็นกำไรของผู้ขาย

7) Red Clause L/C คือ L/C ที่ผู้ซื้อเปิดให้ผู้ขายโดยอนุญาตให้ผู้ขายรับเงินค่าสินค้าบางส่วนหรือทั้ง หมดไปก่อนการส่งสินค้า เมื่อผู้ขายรับเงินค่าสินค้าล่วงหน้าไปแล้ว ธนาคารผู้รับ L/C (Advising Bank) จะส่งเอกสารการจ่ายเงินไปเรียกเก็บค่าสินค้าจากผู้ขายในทันที ส่วนเอกสารการส่งออกจะส่งตามไปภายหลังจากที่ผู้ขายได้ส่งออกสินค้าและนำ เอกสารมามอบต่อธนาคารแล้ว

8) Standby L/C คือ L/C ที่ใช้ในการค้ำประกันค่าสินค้าหรือบริการ ค้ำประกันเงินกู้ และค้ำประกันการออก Letter of Guarantee โดยไม่มีสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

9) Domestic L/C หรือ Local L/C คือ L/C ที่ผู้ซื้อสินค้าเปิดให้แก่ผู้ขายที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ซึ่งเป็นการซื้อสินค้าภายในประเทศหรือส่งออกไปยังต่างประเทศก็ได้ สกุลเงินที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

เหตุที่อธิบายอย่าง ละเอียดพอสมควร เนื่องจากต้องการเชื่อมโยงกับเรื่อง AEC และหวังว่า หากผู้ส่งออกเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น อาจเกิดไอเดียใหม่ ๆ และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การค้าและรูปแบบธุรกิจให้เป็นประโยชน์ให้มาก ขึ้น

เช่น ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ และจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตใน AEC เพื่อจำหน่าย โดยการใช้ Transferable L/C หรือ Back to Back L/C ผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถขยายตลาดได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการขยายกำลังผลิต รวมทั้งได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาสินค้าด้วย

ยกตัวอย่างนี้และหวังว่าผู้อ่านน่าจะค้นพบไอเดียอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มาทำความรู้จัก Letter of Credit มากขึ้น

view