สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อผู้บริหารเปลี่ยนเป็น นักเล่านิทาน

เมื่อผู้บริหารเปลี่ยนเป็น "นักเล่านิทาน"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์นี้ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาย้อนอดีตและหันกลับมาทำในสิ่งที่หลายท่านอาจจะไม่ได้ทำมานานแล้วครับ

นั้นคือการเล่านิทานครับการเล่านิทานอาจจะดูไม่ค่อยแปลกนะครับ แต่ถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนอดีตไปหน่อยซิครับว่าท่านเล่านิทานครั้งสุดท้ายเมื่อใด วันนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนท่านผู้อ่านกลับมาทำกิจกรรมนี้อีกครั้งครับ และจะพบว่าทั้งการเล่านิทานมีประโยชน์อย่างสูงและเกี่ยวพันกับการบริหารอย่างใกล้ชิดเลยครับ

จริงๆ ทักษะนี้เป็นทักษะที่มนุษยชาติมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ การสอนหนังสือ ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ก็มักจะอาศัยการเล่านิทานเป็นหลัก เช่น หนังสือนิทานอีสป ที่สอนเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางนิทาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็พบว่าเราเล่านิทานน้อยลง การเล่านิทานของเราส่วนใหญ่มักจะเป็นการเล่าให้บุตรหลานฟัง แต่จริงๆ แล้วเราหารู้ไม่ว่าการเล่านิทานนั้นนอกเหนือจากเพื่อให้เด็กๆ ฟังแล้ว ยังเป็นเครื่องมือทางการจัดการที่สำคัญด้วยครับ

ในอดีตการเล่านิทานเป็นทักษะที่สำคัญของผู้บริหารอยู่แล้วครับ เพียงแต่การเล่านิทานเริ่มลดบทบาท ความสำคัญในการบริหารองค์กรเนื่องจากวิวัฒนาการด้านการพิมพ์ครับ และยิ่งช่วงหลังในรายงานทางธุรกิจต่างๆ ก็มักจะประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นเทคนิค ตัวเลข คู่มือต่างๆ จนกระทั่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่เรื่องของการเล่านิทานได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งครับ มีการศึกษาและรายงานถึงความสำคัญของการเล่านิทานในองค์กรต่างๆ มีหนังสือที่เล่าถึงความสำคัญของการเล่านิทานในที่ทำงานมากขึ้น และหลายองค์กรเริ่มมี “นักเล่านิทานมืออาชีพ” ปรากฏขึ้นเป็นตำแหน่งงานประจำ

เดี๋ยวนี้หลายๆ บริษัทชั้นนำมีตำแหน่ง "Corporate Storyteller" หรือนักเล่านิทานประจำองค์กรขึ้นมา หลายบริษัทก็มีการพัฒนาทักษะผู้บริหารให้เป็นนักเล่านิทานที่ดี บางบริษัทแทนที่จะนำเสนอแผนงานผ่าน bullet points หรือข้อๆ ก็เป็นการเล่าเรื่องหรือเล่านิทานแทน แม้กระทั่งบริษัทอย่าง P&G ยังมีการจ้างผู้กำกับหนังมาสอนผู้บริหารถึงเทคนิคการเล่านิทาน ความนิยมขององค์กรต่างๆ ในเรื่องของการเล่านิทาน เริ่มทำให้มีคำกล่าวที่ว่าทักษะในการเล่านิทานเป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารแล้วครับ

เราคงต้องยอมรับครับว่านิทานเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถจดจำและทำความเข้าใจต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบและลักษณะของรายงานทางธุรกิจในปัจจุบัน ถ้าท่านผู้อ่านสามารถเลือกได้ระหว่างการอ่านนิทานกับการอ่านรายงานทางธุรกิจ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเลือกอ่านนิทานเป็นส่วนใหญ่นะครับ นิทานเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสื่อสารให้ผู้รับสารได้เข้าใจต่อสถานการณ์และเรื่องราวได้ดีกว่าการบอกเล่าเป็นประเด็นๆ

ท่านผู้อ่านลองนึกภาพผู้บริหารขององค์กรท่านเมื่อต้องกล่าวจูงใจลูกน้องนั้น ถ้ากระทำด้วยรูปแบบเดิมๆ ในปัจจุบันก็คือการบอกถึงวิสัยทัศน์หรือสิ่งที่อยากจะเห็นองค์กรเป็น แต่ถ้าผู้บริหารรู้จักที่จะนำเอาเรื่องของการเล่านิทานมาผสมผสาน ก็อาจจะเริ่มต้นการกล่าวด้วยนิทานสั้นๆ ซักเรื่องที่ทำให้เห็นภาพหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วค่อยตามด้วยสิ่งที่อยากจะให้องค์กรเป็น ผมเชื่อว่าการเริ่มต้นด้วยนิทานนั้นจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ดีกว่าการพูดเฉยๆ อีกทั้งผู้ฟังก็สามารถที่จะมโนภาพถึงสาเหตุ ความจำเป็น และสิ่งที่จะทำได้ดีกว่าประโยคบอกเล่าธรรมดาครับ

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเรื่องของการเล่านิทานมาใช้ทางด้านการบริหารองค์กร ก็คือการเรียนด้วยกรณีศึกษาครับ สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารชั้นนำทั่วโลกต่างนำหลักการในเรื่องของกรณีศึกษามาใช้ในการเรียนการสอน เนื่องจากกรณีศึกษานั้นนอกเหนือจากสอนให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงสถานการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้ว การเขียนกรณีศึกษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบของการเล่านิทาน ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ อยากจะเรียนรู้ รวมทั้งทำให้สามารถจดจำได้ง่ายครับ

ถ้าจะสรุปง่ายๆ ผมก็มองว่าการประยุกต์นำเรื่องของการเล่านิทานมาใช้ในองค์กรนั้น เป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่ผู้บริหารสามารถเลือกที่จะใช้เพื่อการสื่อสาร จูงใจ โน้มน้าว กระตุ้น รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจต่อบุคคลอื่นในองค์กร เมื่อผู้ฟังได้ฟังนิทานแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำ ความสนใจ และเกิดอารมณ์ร่วมได้ง่ายกว่าการฟังประโยคบอกเล่าธรรมดา

ท่านผู้บริหารทั้งหลายอาจจะต้องมาฝึกการเล่านิทานใหม่นะครับและลองใช้การเล่านิทานเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร จูงใจ โน้มน้าว และกระตุ้นบุคลากรในองค์กรของท่านดูครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้บริหาร เปลี่ยน นักเล่านิทาน

view