สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ทันโรคไข้ชักในเด็ก

จากประชาชาติธุรกิจ

ข้อมูลโดย พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล กุมารแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี 2

ปัญหาเรื่องเด็กมีไข้เป็นปัญหาที่พบบ่อยและนำความกังวลใจมาสู่คุณพ่อคุณแม่เสมอ จนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีลูกใครที่ไม่มีไข้ ปกติอุณหภูมิของร่างกายเราจะอยู่ประมาณ 36-37°C เมื่อไรที่เด็กมีตัวร้อนจนอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.8 ° C หรือ 100 °F โดยการวัดทางรักแร้ถือว่ามีไข้ค่ะ

ผลกระทบของไข้ ทำให้เด็กไม่สบายตัว งอแง ทานอาหารน้อย ขาดน้ำ จนถึงอาการชักถ้าไข้สูง โดยอาการที่พบร่วมคือตัวแดง หน้าแดง ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

วิธีการวัดไข้ เราเลือกวัดไข้โดยเลือกจากอายุของเด็กและอุปกรณ์วัดไข้ที่เรียกว่าเทอร์โมมิเตอร์ที่มีอยู่ โดยสามารถวัดได้ตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

1.ทางทวารหนัก โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วชนิดที่ใช้วัดทางทวารหนักโดยเฉพาะ (Rectal mercury in glass Thermometer) ทั่วไปใช้กับทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน

2.ทางรักแร้ เด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยใช้ได้ทั้งเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว (mercury in glass Thermometer) หรือแบบดิจิตอล (Digital Thermometer) วัดบริเวณใต้รักแร้ตรงกึ่งกลางโดยขณะวัดให้เด็กหนีบแขนแนบลำตัวด้วย
 
3.ทางปาก อายุ 6 ปีขึ้นไป เนื่องจากโตพอที่จะไม่กัดแท่งแก้วแตกได้ โดยใช้ได้ทั้งเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วหรือแบบดิจิตอล โดยใช้อมใต้ลิ้นแล้วปิดปากให้สนิท

4.ทางหู ใช้ได้ทุกอายุ โดยใช้ได้ทั้งเทอร์โมมิเตอร์ชนิดรังสีอินฟราเรด (Infrared Thermometer)

5.ทางหน้าผาก ใช้ได้ทุกอายุ โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดแผ่นสัมผัสหน้าผาก (Forehead Thermometer)

* เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วมีสารสีเงินคือสารปรอทอยู่ด้านในต้องสะบัดปรอทให้สารสีเงินลงมาอยู่ที่ด้านล่างต่ำกว่า 35 °C ก่อนวัดเสมอ

* ระยะเวลาในการวัดเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว 3-5 นาที แบบดิจิตอลจนกว่าเสียงเตือนดัง

ไข้เกิดจากอะไร?

ไข้ในเด็กเกิดได้หลายสาเหตุแต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอันตรายอะไรนอกจากไข้จะสูงมากหรือเป็นกลุ่มไวรัสที่รุนแรงเช่นไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบ ไข้เลือดออกโดยทั่วไปไข้จากเชื้อไวรัสนี้มักจะเป็นเพียง 2-3 วันเท่านั้น ดังนั้นถ้าไข้เกิน 3 วัน ควรจะพาไปพบแพทย์เพราะอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน หรือเป็นโรครุนแรงอื่น ๆ เนื่องจากอาการเป็นไข้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค และเป็นกระบวนการรักษาตัวเองของร่างกายตามธรรมชาติ และเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อเตือนว่าได้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นต่อร่างกาย แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรหรือเป็นโรคอะไร

ดังนั้น เมื่อลูกมีไข้ต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกด้วย ถ้ามีไข้ร่วมกับอาการซึม ชัก ไอ หอบ เจ็บคอ เจ็บหู อุจจาระร่วง อาเจียนมาก หรือปวดศีรษะมากควรจะรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วโดยไม่ต้องรอให้ครบ 3 วัน อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวัง คือ อาการชักจากไข้สูง ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูงหรือมีประวัติบิดามารดาพี่น้องเคยชักจากไข้สูงมาก่อน
 
เมื่อลูกมีไข้คุณพ่อคุณแม่จะควรทำอย่างไรดี ?

1.อาหารและเครื่องดื่มให้ดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน น้ำผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อชดเชยการขาดน้ำที่เสียไปจากการมีไข้เด็กมักจะดื่มได้ครั้งละน้อย ๆ จึงควรให้ดื่มบ่อย ๆ ระยะนี้เด็กจะเบื่ออาหาร รับประทานข้าวได้น้อยลง คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและอย่าได้กังวลมากจนเกินไป พอเด็กหายจากไข้ก็จะรับประทานได้มากขึ้นเป็นปกติ

2.เครื่องนุ่งห่ม ไม่ควรสวมเสื้อผ้าและห่มผ้าหนาจนเกินไปความร้อนจะระบายออกจากตัวเด็กไม่ได้ไข้จะยิ่งสูงขึ้น
 
3.สถานที่ นอนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าอากาศร้อนมากจะเปิดพัดลมหรือเปิดเครื่องปรับอากาศก็ได้ แต่ไม่ควรเปิดพัดลมจ่อที่ตัวเด็ก และอย่าเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจนเกินไป

4.การใช้ยาลดไข้ ในกรณีที่ไข้สูงเกิน 37.8°C ควรให้รับประทานยาลดไข้ได้แก่ พาราเซตามอล (ขนาด 10 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.) ไข้จะเริ่มลดลงหลังจากรับประทานยา 20-30 นาที ก่อนจะให้ลูกรับประทานควรอ่านฉลากยาให้แน่ใจว่าหมอสั่งให้รับประทานจำนวนเท่าไร เพราะการได้รับยาลดไข้เกินขนาดเป็นเวลาติดต่อกัน อาจเป็นพิษต่อตับได้ ไม่ควรใช้ยาลดไข้ติดต่อกันเกิน 3 วัน ควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุไข้

5.การอาบน้ำเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ไข้ลดลงได้บ้าง ดังนั้น ในเด็กที่ไม่ได้ป่วยหนักจนอ่อนเพลียมากในช่วงที่เป็นไข้นี้สามารถอาบน้ำได้ แต่ควรรีบอาบรีบเช็ดตัวให้แห้ง น้ำที่ใช้อาบควรเป็นน้ำธรรมดา หรือค่อนข้างอุ่น อย่าใช้น้ำเย็นจัด เพราะเด็กจะรู้สึกหนาว และเกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งจะทำให้ไข้สูงขึ้น อย่าใช้น้ำอุ่นที่ร้อนเกินไป เพราะไข้อาจจะสูงขึ้นและมักจะมีอาการหนาวสั่นหลังจากอาบน้ำเสร็จ

6.การเช็ดตัว เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดี จัดเป็นวิธีลดไข้ที่ดีที่สุดและไข้จะลดได้เร็วที่สุด ถ้าทำอย่างถูกวิธี ในเด็กที่มีไข้สูง ควรให้รับประทานยาลดไข้ก่อนเริ่มเช็ดตัว โดยเฉพาะในเด็กที่เคยชักเมื่อมีไข้ให้รีบเช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลดลงเร็วที่สุด เพราะเด็กอาจชักได้ เด็กเหล่านี้ต้องใช้เวลาเช็ดตัวนานกว่าปกติ และเช็ดจนแน่ใจว่าไข้ลดจริงๆน้ำที่ใช้เช็ดตัวควรเป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นเล็กน้อย น้ำที่เย็นจัดอาจทำให้เด็กหนาวสั่นได้อีกทั้งจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัวทำให้ความร้อนระบายออกทางผิวหนังได้น้อย ไข้ยิ่งจะลดช้า

วิธีเช็ดตัวเด็ก

1.เตรียมสถานที่ ที่จะเช็ดตัวเด็กและควรปิดแอร์ไม่ควรมีลมโกรกหรือจ่อพัดลมไว้ที่ตัวเด็กเพราะอาจทำให้เด็กหนาว และเกิดอาการสั่นขึ้นมาได้ อาการสั่นจะทำให้ไข้สูงขึ้นไปอีกแทนที่จะลดลง

2.ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย

3.ปูผ้าเช็ดตัวหรือผ้าพลาสติกรองส่วนที่เช็ด เพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน

4.ใช้ผ้าขนหนูหลายๆผืนชุบน้ำอุ่นบิดน้ำให้หมาดพอควร เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า และพักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง

5.เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว

6.เช็ดแขนด้านไกลตัว จากปลายแขนเข้าหาต้นแขน และรักแร้เป็นการเช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อนและพักผ้าไว้บริเวณข้อพับแขน และรักแร้ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง

7.เช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน

8.เช็ดขาด้านไกลตัว จากปลายขาเข้าหาต้นขา และขาหนีบ และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง

9.เช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน

10.นอนตะแคงเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นบริเวณคอทำซ้ำ 3-4 ครั้ง

11.ควรเช็ดตัวลดไข้นานประมาณ 10-20 นาทีหรือตามความเหมาะสมควรเปลี่ยนน้ำในอ่างบ่อย ๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นคงที่ตลอดเวลาหากมีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัว

12.เช็ดตัวให้แห้ง แล้วสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่หนามากไป

ไข้เป็นเพียงอาการที่คอยเตือนว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร ไข้สูง ไข้ต่ำก็ไม่ใช่ตัวบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคเสมอไป ดังนั้นอย่าลืมสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ ของลูกด้วยและถ้ามีอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น ซึมลง ชัก ไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหารอื่นเลย ไอมาก หายใจหอบ อาเจียนมาก ถ่ายเหลวบ่อย ปวดหู เจ็บคอ หรือแม้กระทั่งอาการหนึ่งอาการใดที่ไม่แน่ใจ ควรพามาพบแพทย์ทันทีค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้ทัน โรคไข้ชักในเด็ก

view