สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนจาก PTTGC (จบ): ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่แท้จริง

บทเรียนจาก PTTGC (จบ): "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ที่แท้จริง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผู้เขียนเขียนเรื่องน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) บริษัทลูกของ ปตท. ติดต่อกันมาแล้วสามตอน วันนี้ก็ได้เวลาขมวดปม

ว่า ตกลงถ้าวัดจากหลัก “ความรับผิดชอบต่อสังคม” แล้ว พฤติกรรมของบริษัทในกรณีนี้รับผิดชอบหรือไม่อย่างไร

ถ้าวัดจากมาตรฐานโดยสมัครใจระดับสากลต่างๆ นานา ที่พีทีทีจีซีพยายามบอกว่าได้รับและกำลังทำตาม บริษัทน่าจะรู้แก่ใจว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จากกรณีน้ำมันรั่วเมื่อ

ปลายเดือนกรกฎาคม 2556 ควรมีหน้าตาอย่างไร แต่บริษัทดูจะยัง “อวดเบ่ง เส้นใหญ่ และไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม” ดังพฤติกรรมที่ผู้เขียนสรุปในสามตอนที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดก็ยังเน้น “ประชาสัมพันธ์” มากกว่า “เยียวยา” อย่างแท้จริงต่อไป ดังข่าวหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันที่ 27 กันยายน 2556 (http://www.komchadluek.net/detail/20130927/169156/น้ำมันรั่ว 2 เดือนไม่ฟื้นกุ้งหอยปูปลา...หาย.html) ความบางตอนว่า

“...27 กันยายน เป็นวันครบรอบ 2 เดือน หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณพื้นที่ชายฝั่งระยอง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (พีทีทีจีซี) พยายามเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาภายใต้แนวคิด “Better Samed เราไปเที่ยวเสม็ดกันเถอะ” บอกเล่าเรื่องราวทะเลและชายฝั่งเกาะเสม็ดฟื้นคืนกลับมาสวยงามดังเดิมแล้ว แถมยังยืนยันอาหารทะเลปลอดภัย พร้อมชวนคนไทยกลับไปเที่ยวเกาะเสม็ดอีกครั้ง...

“ผมยืนยันว่าสัตว์ทะเลยังไม่กลับมา คุณอาจมองเห็นชายหาดสวยงามน้ำใสเหมือนเดิม แต่ถ้าลองขุดทรายดูจะมีคราบน้ำมันเหลืออยู่ ปลายังตาย กุ้งตาบอด หอยหายไป ปัญหาพวกนี้ยังไม่หมด ชาวประมงจับสัตว์น้ำไม่ได้มาหลายเดือน ออกเรือไปก็ขาดทุน แต่ต้องเสี่ยงเผื่อจะโชคดี ปตท.เบี่ยงเบนความจริงบอกว่าไม่มีปัญหา เมื่อบอกว่าไม่มีปัญหาก็แสดงว่าไม่ต้องแก้ไขอะไร ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท.แล้ว มีแต่ตัวเลขโกหก ชาวประมงเขาเชื่อสิ่งที่เห็นจริงๆ ทุกวันมากกว่า” จตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากการทำประมง ระบายความรู้สึก…

“ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดยังเดือดร้อน บางคนไม่ได้ค่าชดเชย ส่วนกลุ่มที่ได้ก็เพียงรายละไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทั้งที่เกิดผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่หาดแม่รำพึง หาดบ้านเพ หาดแม่พิมพ์ อ่าวไข่จนถึงอ่าวมะขามป้อม พบคราบน้ำมันรั่วไหลตลอดแนวชายฝั่ง นักวิชาการและเอ็นจีโอให้ข้อมูลว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปอย่างน้อย 5 ปี ไม่ใช่แค่ 1-2 เดือน จึงอยากให้ผู้ก่อมลพิษยอมรับว่าในพื้นที่ยังคงมีปัญหาและส่งตัวแทนมาพูดคุยกันเพื่อหาทางช่วยกันแก้ปัญหา” ตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากการทำประมงชายฝั่งทะเลระยองเรียกร้อง”

“ความไม่รับผิดชอบ” ของบริษัทในสายตาของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำมันรั่วนั้น ขัดแย้งกับหลักความรับผิดชอบต่อสังคมใน UN Global Compact มาตรฐานสากลชุดแรกๆ ที่มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ถือกำเนิดในปี 1999 โดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำลังพยายาม “แปลง” หลักการเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติให้ได้มากที่สุด เชื้อเชิญผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ของธุรกิจ อาทิ ผู้บริโภค คู่ค้า ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมกันติดตามตรวจสอบว่า บริษัทต่างๆ ที่ลงนามรับหลักการ UN Global Compact ไปนั้น “ทำจริง” มากน้อยเพียงใด

หลักการใน UN Global Compact สามข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมคือข้อ 7-9 มีเนื้อหาต่อไปนี้

หลักการข้อ 7 : สนับสนุนวิถี “กันไว้ก่อนดีกว่าแก้” ต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม (support a precautionary approach to environmental challenges)

หลักการข้อ 8 : ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (undertake initiatives to promote greater environmental responsibility)

หลักการข้อ 9 : สนับสนุนการพัฒนาและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (encourage the development and diffusion of environmentally friendly technologies)

กรณีน้ำมันรั่วปี 2556 ของพีทีทีจีซีชี้ว่าบริษัทไม่ได้ทำตามหลักการข้อ 7 “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันสะท้อนความไม่พร้อมของบริษัทอย่างชัดเจน ทั้งที่ ปตท. มีประสบการณ์ราคาแพงมาแล้วเมื่อครั้งที่น้ำมันรั่วปี 2552 ที่ออสเตรเลีย ตัวอย่างของความไม่พร้อมเช่น การที่บริษัทมีทุ่นไม่พอ ต้องรอรับความช่วยเหลือจากสิงคโปร์ ฯลฯ

น่าเสียดายที่รายงานของคณะกรรมการสอบสวนที่รัฐแต่งตั้งไม่ได้ประเมินระดับความพร้อมของบริษัทต่อเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด ระบุแต่เพียงว่า การโปรยสารเคมีทางอากาศ “ใช้เวลาดำเนินการล่าช้า” แต่ก็มองว่า “บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีที่สุด โดยใช้เวลาไม่นาน” (ข่าวไทยรัฐ, 14 ส.ค. 2556, http://www.thairath.co.th/content/eco/363440) และจนถึงบัดนี้ประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งผู้เขียนด้วยที่เข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระ ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนของหลัก UN Global Compact ข้อ 8 คือ “ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ท่าทีและพฤติกรรมของบริษัทก็ชี้ชัดว่าไม่ได้ทำตามหลักการนี้เช่นกัน เช่น การโบ้ยให้ผู้เสียหายคุยกับราชการแทนที่จะคุยกับบริษัทโดยตรง หรือการกำหนดตัวเลข “30,000 บาทต่อหัว” เป็นค่าชดเชยอย่างไม่มีที่มาที่ไป รวมถึงการที่ยังไม่ได้มีมาตรการแสดงความรับผิดชอบในระยะยาวบางเรื่องที่จำเป็น เช่น สุขภาพของทหารเรือ เจ้าหน้าที่ของบริษัท และบุคลากรจากหน่วยงานอื่นนับพันคนที่ร่วมปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันบนเกาะเสม็ด รวมถึงคำพูดอันน่าตกใจของผู้บริหารว่า คราบน้ำมันเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เว็บไซต์ของพีทีทีจีซีประกาศว่า บริษัท “...เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ UN Global Compact ที่ Advanced Level ...เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ปฏิบัติตามเกณฑ์ขั้นสูงสุดของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ”

ระดับ Advanced Level ของ UN Global Compact ยังเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจไม่ต่างจากขั้นต่ำกว่าของข้อตกลงนี้ แต่บริษัทที่อ้างว่าตัวเองทำได้ระดับนี้จะต้องสามารถพิสูจน์ว่า ได้ “บูรณาการ” หลักการสิบข้อของ UN Global Compact เข้าไปในเนื้องาน ในการประกอบธุรกิจของบริษัท ซึ่งส่วนสำคัญของแผนปฏิบัติการได้แก่ การสร้างกลไกที่ฝ่ายต่างๆ ของบริษัทได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบ การมีนโยบายและขั้นตอนการจัดการที่ยืดหยุ่น สามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสในระดับองค์กรและระดับธุรกิจ ตรวจสอบติดตามว่าบริษัทสามารถระบุผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง การมีระบบติดตามและวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยใช้ตัวชี้วัดที่มีมาตรฐาน

เมื่อประมวลวิธีการปิดบังข้อมูล พฤติกรรมและกระบวนการของพีทีทีจีซี ต่อกรณีน้ำมันรั่วปี 2556 ก็น่าจะชัดเจนว่า บริษัทยังไม่ได้ “รับผิดชอบต่อสังคม” อย่างแท้จริง อีกทั้งพฤติกรรมของบริษัทในกรณีนี้ยังช่วยเตือนใจเราว่า มาตรฐานโดยสมัครใจทั้งระดับสากลและระดับประเทศ ตลอดจนรางวัลซีเอสอาร์ต่างๆ นานานั้น ไม่อาจสร้างการยอมรับที่แท้จริงจากสังคมได้ ตราบใดที่ทัศนคติของผู้บริหารยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังมองไม่เห็น “เหตุผลทางธุรกิจ” ของความยั่งยืน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทเรียน PTTGC ความรับผิดชอบต่อสังคม แท้จริง

view