สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีน : หัวรถจักรสายบูรพาภิวัฒน์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

ถึงแม้ว่าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศจีนเกิดการชะลอตัว และกลายเป็นความกังวลของนักธุรกิจบ้าง แต่ไม่ทันไร จีนก็สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาผงาดเป็น "พี่ใหญ่" ในเอเชียอีกครั้ง

โดย ดร.สารสิน วีระผล รอง กก.ผจก.ใหญ่บริการเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

"จีน" ไม่เพียงแต่เป็นโรงงานของโลก แต่ในวันนี้ จีนได้เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นนักลงทุนใหญ่สุดของโลก เพราะมีทั้งเม็ดเงินและเทคโนโลยีทันสมัย ก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เป็นผู้สร้างพลังทางเศรษฐกิจแก่เอเชีย โดยผงาดขึ้นเป็น หัวรถจักรขบวนใหญ่ที่สุดในบูรพาภิวัฒน์ ยุคปัจจุบันนับจากนี้ต่อไปเงินทุนของจีนจะไหลเทไปยังทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกอย่างต่อเนื่องไปหลายทศวรรษ สิ่งท้าทายสำหรับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย คือ การสร้างพันธกิจใหม่ (New Mission) ของบูรพาภิวัฒน์ เพื่อให้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ในยุคใหม่ ซึ่งจะเป็น พลังสำคัญ ในการทำให้เอเชียผงาดขึ้นมาอีกครั้ง


โดยเฉพาะประเทศไทย หากไม่ปรับเปลี่ยนหัวรถจักรให้ไปได้กับจีน ก็อาจจะตกขบวนรถสายบูรพาภิวัฒน์นี้ก็เป็นได้ การสร้างพันธกิจใหม่แห่งบูรพาภิวัฒน์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือผู้นำและความพร้อมของคน


ประการแรก "ผู้นำ" ทุกประเทศในเอเชียจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการผลักดันประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกับกระแสบูรพาภิวัฒน์ ผู้นำประเทศจะต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้ชัดเจน มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมต่อการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีให้ เกิดประโยชน์สูงสุด

ประการที่สอง "คน" หรือความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันโลกมีโอกาสรออยู่ และต้องการคนที่มีคุณสมบัติพร้อม แต่ในโลกจริงของธุรกิจไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดต่อการอยู่รอดขององค์กรในยุคโลกาภิวัตน์อยู่ที่การ เตรียมพร้อมของคน

แต่ปัจจุบันพบว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างรู้สึก ว่า "งาน" กับ "คุณสมบัติ" ของคนทำงานไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงเรื่องการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจและท้าทายต่อระบบการศึกษาซึ่งเป็น ระบบสำคัญของสังคมในการพัฒนาคน นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กกล่าวว่า ต่อไปนี้ ถ้ามีลูกมีหลานจะไม่ส่งให้เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว จะส่งไปเรียนด้านวิชาชีพ เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยสิ้นเปลืองและไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนเรียนถึง 4 ปี จบมาแล้วก็ยังหางานทำยาก ในขณะที่จบด้านวิชาชีพ เช่น ช่างไฟ ช่างประปา สามารถหางานทำได้ทันที

มองกลับมาที่ประเทศไทย การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในโลกตะวันออกภายใต้ บูรพาภิวัฒน์รอบใหม่ ต้องยอมรับว่า "สถาบันการศึกษา" มีบทบาทสำคัญมากในการผลิตบุคลากรออกมาให้รองรับกับงานภายใต้การผงาดขึ้นของ เอเชียครั้งนี้ ระบบการเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทางออกในการสร้างคน

แต่ ทางออกที่น่าสนใจ คือพัฒนาระบบการเรียนการสอนในลักษณะ Dual Track คือเรียนไปด้วยเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานไปด้วย คือการปฏิบัติงานจริงไปด้วย เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการและสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยเน้นหลักสูตรการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการเรียนปฏิบัติ หรือฝึกงานตรงกับสาขาวิชาที่เรียนจริง ๆ (Work Based Learning)

ยก ตัวอย่าง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บมจ.ซีพี ออลล์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างคนให้กับภาคธุรกิจ ป้อนคนให้กับธุรกิจของตัวเอง และยังมีหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ อีกหลายองค์กรที่ได้ปฏิบัติสร้างหน่วยงานผลิตบุคลากรเช่นเดียวกัน

ดัง นั้น เมื่อมองดูภาพรวมของเศรษฐกิจเอเชียแล้วจะเห็นว่า "หัวรถจักร" ของประเทศไทยจะเป็นแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะมีคำถามว่าไทยจะตกขบวนหรือไม่ ?

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้อง เปลี่ยนหัวรถจักรให้เข้ากันได้กับหัวขบวนใหญ่อย่างจีน เพราะรถไฟขบวนนี้จะนำไทยให้ก้าวไปถึงรถไฟขบวนโลก เพราะมิเช่นนั้นเชื่อได้ว่าประเทศไทยจะต้องตกขบวนอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จีน หัวรถจักร สายบูรพาภิวัฒน์

view