สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ญาณสังวรสังฆราชาภิถุติ

ญาณสังวรสังฆราชาภิถุติ

จาก โพสต์ทูเดย์

ญาณสังวรสังฆราชาภิถุติ

ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 ขอประทานถวายพระพรให้ทรงเจริญพระชันษายิ่งยืนนาน

สมเด็จพระยิ่งด้วย สุทธิญาณ

พระสังฆราชทรงงาน จรดค่ำ

งามเกียรติแผ่ไพศาล โดดเด่น

พระชันษามากล้ำ สง่าแท้ ประมุขสงฆ์

ประพันธ์โดย...วรธาร ทัดแก้ว

******************

100ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

โดย...วีระศักร จันทร์ส่งแสง เครือข่ายพุทธิกา www.budnet.org

วันที่ 3 ต.ค. 2556 ถือเป็นวาระมหามงคลของพุทธศาสนจักรไทย ด้วยเป็นวันครบรอบ 100 ปีของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ซึ่งตามพระบรมราชโองการสถาปนาว่าเป็น “ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล”

นับแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศาสนจักรไทยมีสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งได้รับพระราชทานสถาปนาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 ขณะเจริญพระชันษา 76 ปี

ถึงบัดนี้ พระองค์เจริญพระชันษาครบ 100 ปี จึงนับได้ว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด และเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย

ในวาระอันเป็นมงคลยิ่งนี้ นอกเหนือจากการร่วมใจกันถวายพระพรแล้ว คงเป็นเรื่องดียิ่งหากบรรดาศาสนิกชนจะได้รับรู้เรียนถึงสิ่งที่เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างทางธรรม ด้วยสิ่งที่ยิ่งกว่าการเจริญพระชนม์ยืนยาวถึงรอบศตวรรษ ก็คือพระจริยาวัตรอันเพียบพร้อมงดงาม พระอัจฉริยภาพ และพระกรณียกิจอีกอเนกอนันต์ที่ทรงปฏิบัติมาตลอดพระชนมชีพ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงถือกำเนิดที่บ้านปากแพรก ใกล้จุดบรรจบแม่น้ำแควน้อย-แควใหญ่ เมืองกาญจนบุรี รับการศึกษาชั้นที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน บรรพชาที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ความเจริญในทางธรรมของสามเณรใหม่เริ่มฉายแววตั้งแต่พรรษาแรก ด้วยการจำกัณฑ์อริยทรัพย์ 7 ประการได้ทั้งกัณฑ์ และคัดลอกทุกคำไว้ในสมุดส่วนตัว ด้วยลายมือตัวบรรจง ซึ่งยังคงได้รับการเก็บรักษามาจนทุกวันนี้

หลวงพ่อดี ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์เห็นท่วงทีความใฝ่ในธรรม ก็เอ่ยปากชวนให้เรียนบาลี โดยส่งไปเรียนต่อที่วัดเสนหา เมืองนครปฐม แล้วไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ กระทั่งได้รับพระราชทานนามฉายาจากสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ว่า “สุวฑฺฒโน”

หลังอุปสมบทในปี 2476 พระมหาเจริญ สุวฑฺฒโน ใช้เวลา 8 ปี ก็จบเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งฝึกเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศสด้วยตนเอง กระทั่งสามารถเปิดห้องเรียนธรรมะที่เรียกว่า ธรรมะคลาส (Dhamma Class) สอนธรรมเป็นภาษาอังกฤษให้แก่ชาวต่างชาติ

ในด้านการปฏิบัติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเจริญ ก็ทรงฝึกปฏิบัติตนแบบพระกรรมฐานในเมือง โดยทรงสำรวมเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอยู่เป็นนิจ ทรงสวดมนต์ทำวัตรไม่เว้น แม้จะมีพระกรณียกิจมากมายเพียงใด ตอนค่ำก็ยังทรงต้องนั่งกรรมฐาน หากยังไม่ได้นั่งกรรมฐาน จะรับสั่งว่า “ยังทำไม่ครบ”

และเมื่อมีโอกาสก็จะเสด็จไปประทับตามสำนักวัดป่า เพื่อกราบพระเถราจารย์ผู้ทรงภูมิธรรม และร่วมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานกับสหธรรมิกของพระองค์อยู่เป็นนิจ

เมื่อทราบว่ามีพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมอยู่ที่ใดจะทรงหาโอกาสเสด็จไปสนทนา ธรรมด้วย แม้เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว วัตรปฏิบัตินี้ก็ยังดำเนินอยู่ดังเดิม

ช่วงหลังออกพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเสด็จวัดป่าเป็นประจำทุกปี จนเป็นที่เล่าต่อกันมาว่า พระอริยะบางรูปได้บอกกับคนกรุงเทพฯ ที่ดั้นด้นไปกราบนมัสการท่านว่าไม่จำเป็นต้องลำบากมาไกลถึงนี่ก็ได้

“หากอยากกราบพระดี ให้ไปกราบสมเด็จฯ วัดบวรฯ”

ในปี 2499 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช พระโศภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และท่านก็ทำหน้าที่พระพี่เลี้ยงได้อย่างเรียบร้อยสมบูรณ์

ต่อมาในปี 2504 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารรูปที่ 6 และในปี 2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้ ซึ่งเป็นราชทินนามพิเศษที่พระราชทานแด่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่า นั้น และนับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชทานสถาปนา พระญาณสังวร (สุก) เมื่อปี 2359 ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระเถระรูปใดได้รับพระราชทานสถาปนาตำแหน่ง สมเด็จพระญาณสังวร ในช่วง 150 กว่าปีที่ผ่านมา

และในปี 2532 สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ก็ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ในวันที่ 21 เม.ย. และยังทรงใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวรเช่นเดิม ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ได้รับพระราชทานราชทินนามพิเศษเฉพาะพระองค์ มิได้ใช้พระนามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณดังที่เคยปฏิบัติสืบกันมา

ความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สมถะ เป็นคุณธรรมที่ทรงถือปฏิบัติมาตลอด แม้เมื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทรงใช้จีวรส่วนพระองค์อย่างคุ้มค่า เมื่อจีวรที่ใช้อยู่เป็นประจำเก่าขาด ลูกศิษย์นำผืนใหม่มาให้ทรงเปลี่ยน ยังทรงเรียกหาผืนเดิม แล้วทรงปะชุนจนนำมาใช้งานได้อีก

เวลาทรงเขียนหนังสือ ดินสอแต่ละแท่งของพระองค์ ทรงใช้จนสั้นจับไม่ได้ ต้องใช้ด้ามสวมต่อ เรื่องฉัน แต่เดิมพระองค์ฉัน 2 มื้อเหมือนพระทั่วไป จนเมื่อได้ไปปฏิบัติกรรมฐานกับพระป่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเปลี่ยนมาฉันมื้อเดียวเช่นเดียวกับพระป่า

เตียงที่พระองค์ทรงใช้บรรทมเป็นเตียงโซฟา ฟูกที่นอนเป็นฟางธรรมดา ซึ่งพระองค์จะบรรทมคืนละประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในท่าตะแคง และบรรทมแบบมีสติ

กุฏิไม่ประดับประดาอะไรให้สวยงาม เน้นความเรียบง่ายที่สุด เคยมีคนพยายามหาข้าวของ เฟอร์นิเจอร์สวยๆ หรูๆ มาถวาย แต่พระองค์ไม่ทรงนิยมสะสมวัตถุ จะใช้แบบธรรมดาๆ และทรงใช้เท่าที่จำเป็น ดังที่ศิษย์ฆราวาสท่านหนึ่งเล่าว่า “ท่านบอกว่า เป็นพระไม่ควรใช้ของหรูหราฟุ่มเฟือย”

ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาทั้งในทางปฏิบัติและปริยัติ ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึงและลึกซึ้ง กับการทรงงานอย่างไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเปล่า ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นพระเปรียญ ทำให้มีงานพระนิพนธ์ในพระองค์นับร้อยๆ ปก ที่ตีพิมพ์เผยแพร่นับแสนฉบับขึ้นไป ได้แก่ ชีวิตนี้น้อยนัก วิธีสร้างบุญบารมี

และเล่มสำคัญๆ อาทิ โสฬสปัญหา ทศบารมี ทศพิธราชธรรม 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเลิศล้ำ ธรรมประดับใจ หลักพุทธศาสนา สัมมาทิฏฐิ

พระลูกศิษย์ก้นกุฏิเล่าถึงพระองค์ว่า ยังไม่เคยเห็นสมเด็จพระสังฆราชทรงหยุดทรงงานแม้แต่วันเดียว เมื่อมีผู้ทูลทักท้วงด้วยความห่วงใยที่ทรงรับนิมนต์โดยไม่ทรงคำนึงถึงพระ วรกายของพระองค์เอง พระองค์จะตรัสกับผู้ทักท้วงว่าจะไปลำเอียงไม่รับงานนั้นงานนี้ไม่ได้ เพราะพระองค์เป็น “พระของประชาชน”

ทั้งหลายนี้เป็นคุณธรรมที่พุทธบริษัทควรได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างและแรง บันดาลใจ เป็นธงชัยให้ดำเนินรอยตาม ในการก้าวไปสู่ความเป็นพุทธบริษัทที่ดีงาม อันมีนิพพานเป็นปลายทาง


บางมุมของ “พระสังฆราช” ที่ชาวพุทธยังไม่รู้

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน

      วันนี้ (3 ตุลาคม) เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทย ล้วนปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี พระองค์ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
       ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนไทยเป็นล้นพ้น ทรงประกอบศาสนกิจเป็นคุณประโยชน์เอนกอนันต์ มิเพียงแต่ชาวพุทธในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปทั่วโลก พระองค์ท่านจึงได้รับการยกย่องจากทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและในต่างประเทศ
       
       พระประวัติชีวิตและผลงานของพระองค์ จึงมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่อยู่มากมาย แต่ก็ยังมีบางมุมในพระประวัติ ที่เชื่อว่าชาวพุทธหลายคนยังอาจจะไม่เคยรับทราบมาก่อน โอกาสนี้ กองบรรณาธิการ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ได้รับความกรุณาจาก พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม มีคุณค่าแก่ชาวพุทธ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบเนื่องต่อไป
       
       อนึ่ง พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ เป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชทรงรับอุปถัมภ์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 ปี ทรงสั่งสอนหลักธรรม และส่งเสริมให้เรียนรู้จนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระ ดร.อนิลมาน รับใช้สมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเจริญวัยในปัจจุบัน จึงเป็นท่านหนึ่งที่ทราบถึงพระประวัติส่วนพระองค์ทุกเรื่องได้เป็นอย่างดี
       
       พระจริยวัตรประจำวัน
       
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงตื่นบรรทมทุกเช้าเวลา 03.30 น. จากนั้นจะทรงนั่งสวดมนต์ภาวนาไปจนถึงเวลา 05.00 น. บทสวดมนต์ที่พระองค์ท่องประจำ มีตั้งแต่สวดพระปาติโมกข์ ท่องพระสูตรและพระคาถาต่างๆ
       
       “ถ้าวันไหนมีกิจกรรมเยอะๆ จะต้องทำ พระองค์จะรับสั่งกับอาตมาว่า...วันนี้สวดยังไม่จบคอร์สเลย...เพราะทรงพระอารมณ์ดี”
       
       หลังจากสวดมนต์เสร็จ พระองค์จะทรงนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งและมั่นคง ต่อไปจนถึง เวลา06.00 น. จากนั้นจึงเสด็จออกจากพระตำหนัก เพื่อรับแขกที่มาเข้าเฝ้าหรือเสด็จบิณฑบาต แม้ตอนที่พระองค์เป็นพระสังฆราชก็ยังเสด็จออกบิณฑบาตเป็นประจำ
       
        “พระสังฆราชทรงพระเมตตามาก หลังจากบิณฑบาตกลับมาทรงเห็นเณรน้อยหลายรูป ที่ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร ส่วนพระองค์ของเต็มบาตรเพราะมีประชาชนมาถวายกันเยอะ พระองค์จะทรงแบ่งอาหารจากบาตรให้แก่เณรด้วย หรือบางทีพระรอบกุฏิที่ไม่ออกบิณฑบาต พระองค์ทรงกลัวว่าพระเหล่านั้นจะไม่มีอาหารฉัน ก็จะทรงแบ่งอาหารในบาตรให้ พร้อมพูดติดตลกว่า แทนที่ลูกศิษย์จะเลี้ยงอุปัชฌาย์ กลายเป็นอุปัชฌาย์เลี้ยงลูกศิษย์แทน”
       
       ในทุกๆ วัน จะมีทั้งแขก ผู้มีชื่อเสียงและเหล่าพุทธศาสนิกชน มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 09.30น. จึงจะเสวยพระกระยาหาร โดยเสวยมื้อเดียวมาตลอด
       
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า แขกที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ บางวันมีจำนวนมากจนบางครั้งขณะที่พระองค์ทรงเสวยก็ยังมีมาเข้าเฝ้า
       
       “วันหนึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นมีแขกมาเข้าเฝ้า ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชกำลังเสวย สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนป้ายบอกว่า ห้ามเข้าเฝ้าจนกว่าจะเสวยเสร็จ...เพราะทรงเห็นว่า พระองค์มีเวลาเสวยเพียงวันละมื้อเท่านั้น”
       
       สมเด็จพระสังฆราชจะบรรทมอีกทีประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเสวยเสร็จ เมื่อตื่นบรรทมแล้วถ้ามีงานนิมนต์ก็จะเสด็จไป หรือถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา พระองค์จะเสด็จไปสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เสด็จไปไหน พระองค์จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่าย ค้นคว้าตำรา ทรงอ่านหนังสือหรือทรงพระนิพนธ์
       
       ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ทรงเปิดพระตำหนักให้ญาติโยมได้เข้าเฝ้าอีกครั้ง จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือ จะทรง
       ค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์งาน หรือทรงเตรียมงานสำหรับวันต่อไป
       
       สมเด็จพระสังฆราชจะเข้าบรรทมทุกวันในเวลา 21.00 น. โดยก่อนบรรทมจะสวดมนต์เจริญภาวนาอีกครั้ง
       
       ทรงเป็นนักสื่อสารมวลชน
       
       หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเคยเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ด้วย โดย พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงเคยขอให้สมเด็จพระสังฆราชจัดรายการวิทยุ ที่สถานี อส. เกี่ยวกับเรื่องธรรมะเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา
       
       “พระองค์จะทรงเขียนบทวิทยุเอง เป็นบทสั้นๆ ประมาณ 10 นาที แล้วทรงอ่านอัดเทปเพื่อนำไปเปิดในรายการ ครั้งหนึ่งสมเด็จย่าทรงให้พระองค์ทรงเขียนเรื่องธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อนำไปออกอากาศ พระองค์จึงทำบทวิทยุเรื่อง “การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่” โดยทำเป็นตอนๆ และในช่วงท้าย พระองค์กทรงนิพนธ์เรื่องจิตตนครขึ้นมา”
       
       นอกจากนี้ พระ ดร.อนิลมาลยังเปิดเผยว่า สมเด็จพระสังฆราชทางเป็นคนทันสมัยมาก เพราะครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน “ศรีสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารของผู้หญิง
       
       ทรงเป็นกวีเอก
       
       อีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นกวีที่เก่งมาก ทรงแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทุกประเภท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างสละสลวย โดยเฉพาะ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชทรงพระนิพนธ์กลอนถวายทุกปี
       
       เมื่อสมัยที่ทรงผนวชเป็นพระใหม่ สมเด็จพระสังฆราชเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473
       
       แต่ครั้นสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ผลปรากฏว่า ทรงสอบตกทั้งๆ ที่ทรงตั้งพระทัยมาก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้มาก พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ทรงระบายความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นกลอน หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงใช้ความผิดหวังเป็นพลังกลับไปสอบใหม่จนจบเปรียญ 9
       
       รับสั่งได้ถึง 4 ภาษา
       
       พุทธศานิกชนมักจะเห็นว่า เหล่าแขกที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย คำถามคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าว่า พระองค์มีพระปรีชามาก ทรงฝึกหัดภาษาต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับสั่งอย่างคล่องแคล่ว และทรงเขียนได้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ จีน นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ทรงอ่านและเขียนได้คล่องคืออักษรขอมโบราณ อักษรพม่า อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี
       
       พระนิพนธ์อันทรงคุณ
       
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา นิยายทั่วไป โดยพระนิพนธ์ล่าสุดเรื่อง “จิตตนคร” โดย พระธีรโพธิ ภิกขุ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพในชื่อ “จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี
       
       “พระนิพนธ์มีมหาศาลมากที่กำลังจัดพิมพ์ขณะนี้ มีถึง 32 ซีรีย์ แต่ละเล่มหนาถึง 500หน้า ซึ่งเป็นธรรมะทุกระดับ”
       
       ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับฟังเทปของสมเด็จพระสังฆราชเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง และทรงสนพระทัยมากจนขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพิมพ์ถวาย โดยในหลวงทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง
       
       ส่ง”พระธรรมทูต”เผยแผ่ศาสนา
       
       สมเด็จพระสังฆราชทรงทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพระศาสนา อย่างกว้างไกล ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีพระไทยและวัดไทยที่ไปเผยแผ่พระพุทธทั่วโลก อันเนื่องมาจากพระดำริที่มองการณ์ไกลของพระองค์นั่นเอง
       
       เมื่อปี พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์แรก ที่ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ ฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ
       
       “ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงริเริ่มฝึกพระ ธรรมทูต โดยเลือกจากพระเณรให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นก็ฝึกให้ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมได้ เพื่อง่ายต่อการส่งไปเผยแพร่ศาสนายังวัดในต่างประเทศ”
       
       จากพระธรรมทูตองค์แรกเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบัน มีพระธรรมทูตที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างวัดทั่วโลกถึง 200 แห่ง และในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี เหล่าพระธรรมทูตก็ได้กลับมาที่วัดบวรฯ เพื่อสัมมนาตรวจสอบจิตวิญญาณแห่งพระธรรมทูตครั้งใหญ่ร่วมกัน
       
       เนื่องในวโรกาสที่ใต้ฝ่าพระบาทเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ขอตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจพระกุศลบารมี ที่ใต้ฝ่าพระบาททรงกระทำบำเพ็ญมา จงอภิบาลรักษาใต้ฝ่าพระบาทให้เสด็จสถิตเป็นบุญยฐานและประทีปธรรมของปวงพุทธ บริษัทตลอดไป
       
       ข่าวโดยทีมข่าว Celeb-Online


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ญาณสังวรสังฆราชาภิถุติ

view