สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10 ท่ายากการลงทุน (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

คำว่า "ท่ายาก" เริ่มคุ้นหูในวงสนทนาคนใกล้ชิดหรือจากสื่อออนไลน์บ่อยขึ้น แต่หากเป็นคอกีฬายิมนาสติกหรือกีฬากระโดดน้ำแล้ว จะเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะหากเลือกใช้ "ท่ายาก" ซึ่งมีระดับความยากมากกว่า "ท่าปกติ" นักกีฬาจะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่มขึ้นอีกหากทำได้สมบูรณ์แบบ ทำให้มีโอกาสชนะในการแข่งขันมากขึ้น ในทางกลับกัน หากนักกีฬาไม่สามารถทำได้ดังคาด จะถูกตัดคะแนนและอาจทำให้ "พลาด" เหรียญรางวัลได้เช่นกัน การเลือกใช้ท่ายากจึงเหมาะสำหรับนักกีฬาที่มีทักษะผ่านการฝึกฝนอย่างดี และมีความพร้อมสภาพร่างกายขณะแข่งขันด้วย

โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์ www.facebook.com/18thanwa


เป้า หมายของนักลงทุนคือ การได้รับผลตอบตอบแทนที่ดี หรือ "มีกำไร" และต้อง "ไม่ขาดทุน" จากการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาหลีกเลี่ยง "ท่ายาก" ในการลงทุน เพราะอาจเป็นวิธีหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการขาดทุน ท่ายากในการลงทุนมีอะไรบ้าง

ท่าแรก ลงทุนแบบไม่มีหลักการลงทุนแนวทางหรือหลักการลงทุนมีมากมายหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือการใช้ปัจจัยทางเทคนิค แม้แต่ละวิธีจะมีจุดเด่น ข้อด้อยที่แตกต่างกันไป

นักลงทุนที่ต้อง การประสบความสำเร็จจำเป็นต้อง "ตกผลึก" ทางความคิดหลักการลงทุนของตน โดยเรียนรู้จากทั้งความผิดพลาดและกรณีประสบความสำเร็จในอดีต หลักการที่ดีจะต้องเหมาะกับแนวทางการใช้ชีวิตและตรงกับ "จริต" ของตนอีกด้วย

การ ลงทุนตามข่าวลือ อินไซด์ตามเซียนหุ้น แม้จะได้ผลกำไรงามในบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่หลักการลงทุนที่ยั่งยืน เพราะจำเป็นต้อง "พึ่ง" ผู้อื่นอยู่เสมอ หากข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ทันเหตุการณ์อาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ นอกจากนี้การไม่ได้วิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง จะทำให้ไม่กล้าเข้าลงทุนในปริมาณที่มีนัยสำคัญ แม้จะพบกิจการยอดเยี่ยมในราคายุติธรรมก็ตาม

ท่าที่สอง ลงทุนเกินขอบข่ายความรู้ (Circle of Competency) หากเปรียบการลงทุนหุ้นเสมือนการนำเงินในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญของตนเข้าร่วม เป็นหุ้นส่วนธุรกิจแล้ว นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้

เพื่อ เข้าใจทั้งข้อมูลอุตสาหกรรมสภาวะการแข่งขัน โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจ ความเสี่ยง สถานะทางการเงิน ตลอดจนทีมผู้บริหาร ก่อนตัดสินใจลงทุนหลังจากผ่านการวิเคราะห์อย่างดี นักลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยเกี่ยวกับบริษัทที่สนใจลงทุน ได้แก่ แบบฟอร์ม 56-1 รายงานประจำปี งบการเงินรายไตรมาส งาน Opportunity Day ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท เป็นต้น

ในทุกวันทำการจะมีคนเสนอขาย กิจการต่าง ๆ ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อให้เราร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจดังกล่าว เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของเราที่จะตัดสินใจหลีกเลี่ยงและ "ปฏิเสธ" คำเสนอขายเหล่านั้นหากเรายังไม่มั่นใจและเข้าใจธุรกิจนั้นดีเพียงพอ

ท่าที่สาม ลงทุนแบบไม่เคยประเมินมูลค่า การประเมินมูลค่าหุ้นแต่ละวิธีล้วนมีข้อดี ข้อเสีย เนื่องจากมีตัวเลขจากการคาดการณ์มาใช้ในการคำนวณ จึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินมูลค่าหุ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังจำเป็นต้องประเมินมูลค่ากิจการโดยอาจใช้วิธีที่ตน ถนัดและเหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทราบคร่าว ๆ ถึงช่วงราคาที่ถูก ที่เหมาะสม หรือที่แพงของแต่ละกิจการที่เราสนใจ

ช่วง ระดับราคาที่ได้จากการประเมินจะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้นในช่วงราคา ที่ถูกและมีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) และหลีกเลี่ยงการเข้าซื้อหุ้นในช่วงราคาที่แพง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายจากการลงทุนได้

ท่าที่สี่ ลงทุนแบบซื้อขายบ่อยเกินไป แม้นักลงทุนแต่ละคนจะมีหลักการ หรือเงื่อนไขในการซื้อขายหุ้นแตกต่างกัน แต่สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่านั้นมักมีธุรกรรมซื้อขายหุ้นหากพบว่า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างถาวร ราคาหุ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน หรือเมื่อพบกิจการที่ยอดเยี่ยมกว่าในราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัยสูงกว่า

ข้อ เสียของการซื้อขายบ่อยครั้งคือค่าคอมมิสชั่นซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมต่ำ ลง แม้ไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ในการซื้อขายกับ

ผล ตอบแทนการลงทุน แต่หากต้องติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด ต้องสูญเสียเวลาและขาดสมาธิในแต่ละวัน และอาจมีอารมณ์แปรปรวนตามภาวะตลาดแล้ว น่าจะถือว่าเป็นการขาดทุนทางอ้อมอย่างหนึ่ง

ท่าที่ห้า ลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนหุ้น 4-8 ตัว เพื่อการบริหารความเสี่ยงและเผื่อความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น แม้จะมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของกิจการและการวิเคราะห์ของตน แต่การถือหุ้นเพียง 1-2 ตัวก็เป็นการเสี่ยงเกินไป หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น" นักลงทุนที่ประสบการณ์ไม่มากนัก จึงควรหลีกเลี่ยง "ท่ายาก" นี้เช่นกัน

การถือหุ้นจำนวนมากเกินไปแม้ จะช่วยกระจายความเสี่ยงแต่อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง นอกจากนี้การถือหุ้น 15-20 ตัวขึ้นไป อาจทำให้ไม่มีเวลาศึกษารายละเอียด

และติดตามกิจการอย่างใกล้ชิด ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งด้วย

ในตอนหน้า เราจะดูกันว่าอีก 5 ท่ายากที่เหลือมีอะไรบ้าง โปรดติดตามนะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10 ท่ายาก การลงทุน

view