สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สารพัดปัญหา แท็บเหลว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

แนวคิดการแจกคูปองเงินสด 3,000 บาท ให้เด็กซื้อเครื่องแท็บเล็ตเอง แทนหน่วยราชการจัดซื้อเครื่องมาให้กับเด็กชั้น ป.1 และ ม.1 ใช้ สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายแท็บเล็ตของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โพสต์ทูเดย์รวบรวมสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การจัดซื้อ เนื้อหา ความเหมาะสม แจกแจงให้ดูอีกครั้ง

ความเหมาะสม

ตั้งแต่ไอเดียแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 เริ่มขึ้น และถูกประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ คำถามแรกคือเรื่องความเหมาะสม ซึ่งมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีงานวิจัยและเสนอแนะว่าควรจะแจกให้กับเด็กที่อยู่ในชั้นที่โตกว่า ป.1 เพราะการแจกนักเรียนใน ป.1 อาจก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสุขภาพและบุคลิกภาพของนักเรียน ซึ่งอยู่ในวัยที่ซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว

การจัดซื้อ

แม้การจัดซื้อแท็บเล็ตล็อตแรก 8.6 แสนเครื่อง เป็นไปอย่างราบรื่น คณะกรรมการจัดซื้อแท็บเล็ตมีมติเลือก บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ เสนอราคาขายแท็บเล็ตเครื่องละ 81 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,400 บาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการพิจารณา แต่การจัดซื้อครั้งนั้นก็ยังมีความคลุมเครือเรื่องการซื้อผ่านรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือเป็นเพียงบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลจีน เพราะกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยถึงสัญญาจีทูจีและเคยมีการออกมาให้ ข่าวจากกระทรวงไอซีทีว่ารัฐบาลจีนเลือกรายชื่อ 4 บริษัท คือ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคปฯ, ทีแอลซี คอร์เปอเรชัน, ไฮเออร์ เทคโนโลยี และหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ให้ไอซีทีเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น

ขณะที่การจัดซื้อในปี 2556 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานที่จัดซื้อเองทั้งสิ้น 1.6 ล้านเครื่อง ภายใต้วงเงิน 4,600 ล้านบาท สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 นักเรียนชั้น ม.1 และครู โดยเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อเป็นการจัดซื้อแบบ “อีออกชัน” แทน รวมถึงให้แบ่งรูปแบบการจัดซื้อออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซน 1 ป.1 ภาคกลางและภาคใต้ โซน 2 ป.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โซน 3 ม.1 ภาคกลางและภาคใต้ และโซน 4 ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและครู บริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง ชนะการประมูลในโซน 1 และโซน 2 ส่วน บริษัท จัสมิน เทเลคอมซิสเต็มส์ ชนะการประมูลโซน 4 โดยทั้งสองบริษัทได้ทำสัญญาจัดซื้อแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้งสองบริษัทจะต้องจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตงวดแรกภายหลังเซ็นสัญญา 35 วัน

ที่เป็นปัญหาคือ โซน 3 ที่บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชัน (ไทยแลนด์) ชนะการประมูล แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีความเห็นว่าการประมูลของโซน 3 ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันและควรได้ราคาต่ำกว่านี้ สพฐ.จึงยกเลิกการประมูลในโซนนี้ โดยรอผลการอุทธรณ์ที่บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชัน ยื่นต่อกรมบัญชีกลาง

ประเด็นเรื่องนี้ คือ หากการประมูลในโซน 3 กลายเป็นคดีฟ้องร้อง ก็กระทบการจัดซื้อในโซนนี้ที่จะจะล่าช้าตามไปด้วย นักเรียนที่จะได้รับแจกอาจจะต้องรอไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยในระหว่างนี้จะมีปัญหาอื่นซ่อนตัวอยู่ เช่น เรื่องความล้าหลังของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และภาวะสุญญากาศไม่มีอุปกรณ์ให้เด็กในโซนนี้ ซึ่งอาจจะมีการร้องเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำตามมา ฯลฯ

เนื้อหา

หากเปิดแท็บเล็ต ป.1 แล้วพลิกดูเนื้อหาซึ่งยังเป็นระบบออฟไลน์ พบว่า ประกอบด้วยอีบุ๊กที่แปลงเนื้อหาในหนังสือเดิมจาก 5 กลุ่มสาระ และเป็นอีเลิร์นนิง หรือบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีจำนวน 336 บท รวมถึงส่วนที่เป็นแอพพลิเคชันที่เป็นทั้งแบบฝึกหัด แบบทดสอบ เช่น การคัดลายมือ วาดภาพระบายสี ข้อสอบต่างๆ เกมการเรียนรู้ ทั้งหมดประมาณ 50 แอพพลิเคชัน ป.2 ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะแอพพลิเคชันสำหรับการเรียนรู้ ถูกวิจารณ์ว่าค่อนข้างน่าเบื่อ สพฐ.จึงได้จัดประกวดแอพพลิเคชันขึ้น โดยระบุว่าสิ้นสุดระยะเวลาการประกวดไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่การประกวดซึ่งมีการระบุอีกว่า มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมถึง 2,250 ชิ้นงาน ก็เงียบหายไปจนแทบจะไม่เป็นข่าว

ความเป็นเจ้าของ

ขณะที่แท็บเล็ต ป.1 จำนวน 8.6 แสนเครื่องที่แจกไปแล้ว โรงเรียนทั่วประเทศประกาศชัดว่า ให้นักเรียนนำแท็บเล็ตกลับบ้านได้ โดยเรียกประชุมผู้ปกครองเข้ามาทำเอ็มโอยูก่อนเปิดโอกาสให้ยืมเครื่องแท็บ เล็ตกลับบ้านได้ เอ็มโอยูที่โรงเรียนจัดทำขึ้น ระบุว่า ผู้ปกครองที่ยืมแท็บเล็ตจะต้องดูแลเหมือนเป็นทรัพย์สินตัวเอง หากแท็บเล็ตที่ยืมไปเกิดสูญหาย ชำรุด ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาของแท็บเล็ตรวมถึงต้องคืนใน สภาพปกติเมื่อสิ้นสุดการยืม แท็บเล็ต มีสถานะเหมือนเอกสารยืมครุภัณฑ์จากโรงเรียนทั่วๆ ไป แน่นอนที่สุด กรณีนี้ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่กล้าลงชื่อยืมแท็บเล็ตกลับบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย

โรงเรียนต้องดูแลแท็บเล็ตในฐานะที่เป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียนไปจนกว่าจะครบ กำหนด 3 ปี ก่อนที่จะมอบให้เป็นสมบัติของเด็กไปในที่สุด แต่ในระหว่างนี้เอง แท็บเล็ตซึ่งกลายเป็นอุปกรณ์ที่ตกรุ่น เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ปกครองอาจจะไม่ยินดีที่จะจ่ายเงินชดใช้ หรือซ่อมหลังหมดประกัน เพราะมองว่าไม่คุ้มค่า และราคาแท็บเล็ตสเปกเดียวกันราคาจะตกลงหรือราคาถูกกว่าราคาชดใช้ที่แต่ละ โรงเรียนตั้งไว้ในปัจจุบัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สารพัดปัญหา แท็บเหลว

view