สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ได้หรือ? ส่วย ...ส่งนาย

แก้ได้หรือ? 'ส่วย'...ส่งนาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เห็นอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ลงเฟซบุ๊ค "Thaksin Shinawatra" ตอนหนึ่งว่า

"วันก่อนได้คุยกับท่าน ผบ.ตร.ผมก็บอกว่า ผมได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ขายของทั้งหลายในเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต มีหน่วยงานทั้งหลายในตำรวจและหน่วยงานภายนอกเดินเก็บส่วยกันมากจนเป็น cost ของผู้ประกอบการ และแน่นอนก็จะผ่านไปยังผู้บริโภค

ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้จัดการปัญหาเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้ายออกไปอย่างสิ้นเชิง ก็ยังไม่ง่ายเพราะนิสัยที่ชอบเก็บส่วย ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ขอให้ช่วยกันจัดการด่วน ! ท่านก็บอกว่าท่านนายกฯได้สั่งการมาแล้วครับ ผมเลยหวังว่าทุกอย่างก็คงจะดีขึ้นครับ"

อ่านแรกๆ ก็ดูดี ที่เป็นห่วงเป็นใยการเรียกเก็บ "ส่วย" แต่ที่น่าแปลกใจ ทำไม? ประเทศไทยมันถึงมีการเรียกเก็บ "ส่วย" กันยิ่งใหญ่ ขนาดที่อดีตนายกฯ ต้องออกมาเตือนกันข้ามประเทศอย่างนั้นหรือ

จริงๆ เรื่องการเรียกเก็บ "ส่วย" ไม่ได้แพร่หลายแค่ในวงการตำรวจ แต่เกือบทุกวงการมีทั้งนั้น ตั้งแต่จัดซื้อจัดจ้าง การโยกย้ายทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ การขนส่ง จิปาถะ เรื่องอย่างนี้ ไม่ต้องถามอดีตนายกฯหรอก ประชาชนตาดำๆ ก็รู้กันดีว่า ประเทศนี้ "ส่วย" แรงแค่ไหน

น่าประหลาดใจว่า ทำไมผู้รับผิดชอบ ถึงปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เพิ่มขึ้น ยิ่งรณรงค์ก็ยิ่งทวีความรุนแรง นั่นแสดงว่าผู้มีอำนาจ "ปากว่าตาขยิบ" หรือไม่เอาจริงเอาจัง ในการจัดการเรื่องอย่างนี้ หรือว่า "ส่วย" ที่ได้รับ มีการส่งต่อเป็นทอดๆ

หลายครั้งที่มีการประมูลงานเกิดขึ้น หลายครั้งที่มีการตั้งด่านสกัดจับ มักจะมีคนพูดเสมอว่า ถูก "รีดไถ" ยิ่งเป็นงานประมูลโครงการใหญ่ อัตราการเรียกเก็บ นับวันเปอร์เซ็นต์จะสูงขึ้น บางโครงการ มีเสียงบ่นว่า เรียกสูงเกินไป ลองถามผู้เข้าประมูลงานกับหน่วยงานรัฐดูว่า โดนกันไปกี่สิบเปอร์เซ็นต์ บ้างก็อ้างว่าต้องจ่าย "ผู้ใหญ่" บ้างก็บอกว่ามีหลายส่วนเกี่ยวข้อง พฤติกรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมานาน กระจายไปเกือบทุกวงการ

ระบบ "ส่วย" บ้านเรา เดินไปตรงไหนก็เจอ ไม่ต้องถึงขั้น ต้องให้อดีตนายกฯ ฝากผ่านมาจากแดนไกล

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เพราะไม่มีหน่วยงานใด หรือผู้มีอำนาจ หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ต่างหาก สังคมไทยวันนี้จึงมีแต่เรียก "เก็บใต้โต๊ะ" มากกว่าช่วยกัน

ฉะนั้นไม่แปลกใจว่า ต่อให้คนแดนไกลจะเตือนให้ลด "ส่วย" สักแค่ไหน ก็ได้แค่เป็นเสียงปรามเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีกระบวนการ "ส่งนาย" ระบบส่วยและใต้โต๊ะ ก็คงไม่หายไปจากประเทศไทยแน่นอน

ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยังต้องออกมารณรงค์เชิญชวนประชาชน "เดิน-วิ่ง-ปั่น ต้านโกง" ที่จริง องค์กรนี้ก็รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันมาเป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนความแรงของคอร์รัปชันมันหนักหนาสาหัส

2 ประเด็น ที่องค์กรนี้ กำลังตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เอ็นจีวี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) คือ วิธีการประมูล ที่แบ่งออกเป็น 8 สัญญา และประมูลพร้อมกัน รวมทั้งการแยกประมูลค่าซ่อมบำรุงภายหลัง

โดยเสนอวิธีป้องกันปัญหา ให้รวมการประมูลจัดซื้อรถและซ่อมบำรุงไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้รถและค่าซ่อมที่ต่ำที่สุด เพราะเกรงว่า การแยกประมูลจะทำให้มีจุดเสี่ยงในการทุจริต เนื่องจากค่าซ่อมตรวจสอบยาก อาจเกิดกรณี ซื้อรถถูกแต่ค่าซ่อมแพงได้ อีกทั้งเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น

ส่วน ราคากลาง มีข้อเสนอว่า ต้องเป็นราคาที่แจกแจงรายละเอียดได้ว่าเป็นราคาคัทซี ราคาโครงสร้างรถ ราคาระบบเบรก เท่าไร ทำให้สามารถตรวจสอบราคาที่เหมาะสมได้ เป็นวิธีการป้องกันทุจริตที่ดี และเชื่อว่า การแจกแจงราคา ยังเป็นการดำเนินงานตามกฎหมาย

ทั้งหมดที่ว่านี้ หากรัฐบาลเชื่อมั่นว่าสิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเสนอมา มีเหตุมีผล ก็น่าจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการใหม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ ก็น่าจะเป็นข้อทดสอบความจริงใจของรัฐบาล ในการป้องกันทุจริต

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังมีความเชื่อว่า ถ้าภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอเหล่านี้ได้ ก็น่าจะนำไปใช้กับรูปแบบโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทต่อไปได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้ได้หรือ ส่วยส่งนาย

view