สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข้ายุคอเมริกันฝันสลาย ? โดย : ดร.ไสว บุญมา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เหตุการณ์ใหญ่ในอเมริกาในช่วงสัปดาห์นี้ได้แก่การงัดข้อกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารซึ่งนำไปสู่การปิดสำนักงานของรัฐบาลกลางเป็นบางส่วน

การงัดข้อกันอาจมองได้จากหลายระดับ อาทิเช่น ในระดับอุดมการณ์ ฝ่ายบริหารนำโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของพรรคเดโมแครตต้องการให้รัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้นรวมทั้งการสนับสนุนสวัสดิการของประชาชนผ่านการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทางฝ่ายนิติบัญญัติ พรรครีพับลิกันมีเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎรและพรรคเดโมแครตมีเสียงส่วนมากในวุฒิสภา พรรครีพับลิกันต้องการให้รัฐบาลลดบทบาทลงซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้จ่ายและการเก็บภาษีลงด้วยโดยเฉพาะภาษีคนรวยซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของตน

เนื่องจากวันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันเริ่มปีงบประมาณใหม่และกฎหมายงบประมาณจะต้องผ่านทั้งสองสภา พรรครีพับลิกันจึงใช้เสียงส่วนมากในสภาผู้แทนฯ ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณที่แทรกการลดบทบาทของรัฐบาลในด้านการประกันสุขภาพเข้าไปด้วย การประกันสุขภาพเป็นงานชิ้นสำคัญที่บารัก โอบามาให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะทำ ฉะนั้น เรื่องนี้จึงนำไปสู่การท้าชนจากฝ่ายรีพับลิกันโดยตรง กลยุทธ์แนวนี้มิใช่ของใหม่ พรรคการเมืองเคยใช้งัดข้อกันมาแล้วส่งผลให้รัฐบาลหยุดงานไปถึง 17 ครั้งตั้งแต่ปี 2519 ครั้งหลังสุดเกิดเมื่อปี 2538 ซึ่งรัฐบาลต้องหยุดงานถึง 21 วัน

เรื่องการท้าชนอาจมองจากระดับบุคคลก็ได้ นั่นคือ นักการเมืองบางคนต้องการแจ้งเกิดตัวเองในระดับชาติเพราะหวังว่าในวันหนึ่งข้างหน้าตนจะเป็นที่สนใจจนถึงขั้นได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อาจเป็นในปี 2559 หรือหลังจากนั้นสำหรับสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ยังอายุน้อย การออกมาท้าชนกับประธานาธิบดีมีโอกาสออกสื่ออย่างกว้างขวางเป็นเวลาติดต่อกันแม้การกระทำเช่นนั้นจะเสี่ยงมากก็ตาม

เฉกเช่นที่เป็นมาเมื่อครั้งก่อนๆ หลังจากเวลาผ่านไปและนักการเมืองคิดว่าพวกเขาได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็จะหันหน้ามาตกลงกัน ผู้รับเคราะห์คือประชาชนโดยเฉพาะพนักงานของรัฐที่ต้องถูกพักงาน พวกเขาเหล่านั้นอาจมีรายได้ไม่สูงนัก การถูกพักงานจึงสร้างปัญหาให้กับพวกเขาทันที การรับเคราะห์ครั้งนี้ซ้ำเติมสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอเมริกันชั้นกลางและชั้นที่มีรายได้น้อยมาเป็นเวลานานนับทศวรรษแล้ว นั่นคือ รายได้ของพวกเขาไม่เพิ่มขึ้นไปตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายในหลายๆ กรณีกลับลดลง ทั้งนี้ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นไปตกอยู่ในมือคนรวย ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสำมะโนประชากรและการวิจัยต่างๆ อาจยกมาเป็นตัวอย่างได้ ดังนี้

เมื่อปีที่แล้ว รายได้ของชายอเมริกันที่ทำงานเต็มเวลามีจุดกึ่งกลางอยู่ที่ 49,000 ดอลลาร์ต่อปี รายได้นี้แทบไปต่างกับรายได้เช่นเดียวกันของปี 2513 ซึ่งอยู่ที่ 47,000 ดอลลาร์หลังจากหักค่าเงินเฟ้อออกแล้ว เมื่อรายได้ของฝ่ายชายแทบไม่เพิ่มขึ้นในขณะที่สังคมกดดันให้ต้องใช้จ่ายมากขึ้น หญิงอเมริกันจึงออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้นจนตอนนี้มีจำนวนเกือบเท่าผู้ชายแล้ว ย้อนไปเมื่อ 2513 หญิงอเมริกันที่ออกไปทำงานนอกบ้านมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของชาย ส่วนรายได้ของหญิงเพิ่มจาก 28,000 ดอลลาร์ต่อปีไปอยู่ที่ 38,000 ดอลลาร์ แม้หญิงจะออกไปทำงานมากขึ้น แต่ชาวอเมริกันถึง 46.5 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรของประเทศยังมีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพจึงถูกจัดว่าเป็นประชาชนยากจน อัตรานี้เพิ่มขึ้นจาก 12.5% เมื่อ 5 ปีก่อนและเป็นอัตราเดียวกันกับเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาเมื่อประธานาธิบดีจอห์นสัน เริ่มโครงการทำสงครามกับความยากจน

การมีรายได้ไม่พอใช้จ่ายทำให้ชาวอเมริกันเป็นหนี้สินกันมากและขาดทรัพย์สินที่ออมไว้เพื่อการใช้จ่ายในยามชรา โดยทั่วไปครอบครัวอเมริกันมีเงินออมเพียง 18,000 ดอลลาร์เมื่อถึงเวลาเกษียณจากงาน ฉะนั้น พวกเขาจึงต้องพึ่งกองทุนสวัสดิการสังคม แต่ตอนนี้กองทุนนั้นเริ่มมีปัญหาจำพวกชักหน้าแทบไม่ถึงหลังแล้ว ด้วยเหตุนี้ชาวอเมริกันจำนวนมากจึงเกษียณไม่ได้ หรือต้องกลับออกไปทำงานอีกครั้งส่งผลให้ตอนนี้ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีเกือบ 1 ใน 3 หรือกว่า 7 ล้านคนยังทำงานกันอยู่ จำนวนนี้เพิ่มจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาถึง 67%

ด้วยเหตุเหล่านี้จึงมีนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าชาวอเมริกันกำลังฝันสลาย ประโยคนี้เป็นการเล่นคำจากเรื่อง American Dream หรือ “ฝันอเมริกัน” ที่ชาวอเมริกันมักอ้างกันว่าเป็นวิถีชีวิตในฝันของพวกเขา ความฝันนั้นมักให้นิยามกันว่า ความสามารถในการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระและมีรายได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยการมีบ้านของตนเองเป็นแกน ณ วันนี้ ชาวอเมริกันเพียง 2 ใน 3 ครอบครัวเท่านั้นที่มีบ้านเป็นของตนเอง ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ กว่า 25% ของเจ้าของบ้านในตอนนี้เป็นหนี้มากกว่าราคาของบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารเสียอีก

ทั้งที่สถานการณ์ภายในมีแนวโน้มไปในทางลบมาเป็นเวลานาน แต่รัฐบาลอเมริกันยังส่งทหารไปรุกรานในส่วนต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ชาวอเมริกันบางคนมองว่าประเทศของตนกำลังสร้างปัญหาที่จะพาไปสู่ความล่มสลาย การมองในแนวนี้นอกจากจะมีในหนังสือชื่อ Are We Rome? ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีในเรื่อง The Rise and Fall of the Great Powers ของ Paul Kennedy และเรื่อง Day of Empire ของ Amy Chua อีกด้วย (สองเล่มแรกมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org) ในระยะยาวไม่มีอะไรอยู่ได้ค้ำฟ้า อเมริกาต้องจะล่มสลายแน่ แต่ไม่ต้องมองยาวถึงขนาดนั้น อเมริกาก็ยังมีปัญหาที่ท้าทายมาก ฉะนั้น หนุ่มสาวไทยที่ฝันจะไปก่อร่างสร้างตัวที่นั่นดังที่รุ่นก่อนทำกันจึงน่าจะพิจารณาให้ดีว่ามีข้อมูลถูกต้องเพียงใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เข้ายุค อเมริกันฝันสลาย ดร.ไสว บุญมา

view