สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจ็บตัวก็ต้องยอม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ “ประชาธิปัตย์” ที่ตัดสินใจทุ่มหมดหน้าตักด้วย “ต้นทุน” ที่สั่งสมมานานกว่า 60 ปี ถึงขั้นสลัดภาพ “จอมหลักการ” ยอมมาเล่นบทป่วน ทั้ง โห่ฮา ขว้างปาเอกสาร ปาเก้าอี้ ไปจนถึงการวางพวงหรีดกลางสภา ก่อนจะเตรียมถอดสูทลงไปเป็นแกนนำมวลชนเปิดเกมคู่ขนานนอกสภา แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ

ทั้งหมดนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่วนเวียนมานั่งเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอีกรอบ ยอมรับว่าแนวทางนี้มีผลกระทบต่อคะแนนนิยมและภาพลักษณ์อยู่บ้าง

“ปัญหาความวุ่นวายในสภาที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าบอบช้ำ เจ็บตัวทุกฝ่าย แต่การเมืองทุกวันเราคิดแต่เรื่องแต้ม เรื่องคะแนน บ้านเมืองถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมวันนี้ถึงเลิกจำนำข้าวไม่ได้ ก็เพราะกลัวเสียคะแนน ผมไม่เชื่อว่าคนระดับอย่างคุณกิตติรัตน์ ไม่รู้ว่ากำลังนำพาประเทศไปทางไหน คุณหยุดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะกลัวเสียแต้ม ถ้าอย่างนั้นตกลงจะเอาแต้มไปเรื่อยๆ แล้วบ้านเมืองไม่มีความถูกต้อง พังทลายลง ผมก็ว่ามันก็ไม่ใช่”อภิสิทธิ์ ขยายความ

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปชป.ค้านทุกเม็ด ใช้ทุกวิธี “อภิสิทธิ์” ตอบสวนทันทีว่า “ไม่จริงครับ ผมไม่เผาบ้านเผาเมือง ไม่เอากองกำลังติดอาวุธไปยิงคน แต่ทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย คุยกันตลอดว่าต้องทำในกติกาที่สามารถทำได้ เพราะถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกติกา พวกผมจะไปทำอะไรได้ ทำไมการอภิปราย 2 ล้านล้าน มันราบรื่น เพราะคุณทำตามกติกา พวกผมแปรญัตติ ผมก็พูดไปก็จบ แต่พอคุณทำผิดกติกาก็เลยเกิดปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่บอกว่าวันนี้จะเดินเข้าสภา เราจะไปป่วนไม่มี ไม่เคยมี มีแต่ตั้งใจว่าจะไปเสนอคำแปรญัตติ จะไปอภิปรายกันอย่างไร”

อย่างเรื่องวางพวงหรีดในการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกที่คิดกันเอง ในพรรคส่วนใหญ่เป็นเสรีชน เราเองยังต้องพูดกันด้วยซ้ำว่าทำอย่างไรจะเข้มงวดวินัยได้มากกว่านี้ แต่ไม่ทำให้เกิดความอึดอัดเพราะคนที่มาส่วนใหญ่เชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่มีซ้ายหันขวาหัน

“ที่ว่าค้านทุกเรื่อง คำพูดนี้ก็โกหก ผมท้าให้ไปเทียบสัดส่วนของกฎหมายที่เราสนับสนุนกับสมัยเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ผมเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยแทบจะไม่เคยสนับสนุนเรื่องที่เราเสนอเข้าสภาเลย แม้แต่ตอนขอไปเจรจากับจีน เรื่องรถไฟความเร็วสูงก็ไม่ลงคะแนนให้เรา แต่ประชาธิปัตย์ลงคะแนนให้รัฐบาลเพื่อไทย ผมว่าเกือบ 90% ของเรื่องที่เข้ามา ที่ว่าค้านทุกเรื่องก็เป็นวาทกรรม ฝ่ายค้านชุดนี้อาจยกมือให้เรื่องต่างๆ ที่จำเป็นของรัฐบาลมากที่สุด แต่เรื่องไหนเราค้าน เราก็ค้านจริง”

ผู้นำฝ่ายค้านอธิบายอีกว่า ปัญหาคือเวลาเกิดความวุ่นวายขึ้นคนก็เห็นภาพความวุ่นวาย แต่ไม่ทราบว่าที่มาของมันคืออะไร เราเรียบร้อยได้ แต่หลายเรื่องก็ยิ่งไปกันใหญ่ ปีที่แล้วถ้าไม่เกิดเรื่อง กฎหมายนิรโทษกรรมก็คงเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไม่ได้ เราไม่ได้บอกว่าที่เราทำมันดีงามถูกต้อง แต่ก็กลายเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายไป เพื่อหยุดยั้งความเลวร้ายที่ยิ่งกว่าที่จะเกิดขึ้นในสังคม

“ผมอยู่มา 20 ปี ท่านชวนอยู่มา 40 ปี ไม่อยากเห็นสถาบันที่เรารักอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่ถามว่าถ้าอย่างนั้นเขาอยากทำอะไรก็ปล่อยเขา ทำไปเลยไม่ทักท้วง แล้วเรากินเงินเดือนชาวบ้าน ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาแล้ว คิดอะไร แปลว่าเสียงข้างมากเห็นคล้อยตามหมดทุกเรื่อง...

....เรามีหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ให้ประชาชนและรัฐบาลได้ยินว่าการท้วงติงและการคัดค้านคืออะไร ถ้าเราคิดแต่เรื่องภาพลักษณ์คะแนนเสียงก็ทำงานได้อีกแบบ แต่เราก็ไม่เป็นธรรมกับประเทศ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ผมก็เตือนลูกพรรคตลอด ต้องพยายามหาทางให้นุ่มนวลที่สุด ทำยังไงก็ได้ ให้นุ่มนวลหน่อย แต่พอเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ก็เห็นได้ชัดว่าท่านประธานสภาไม่มองไม่อะไรเลย ผมว่าเรื่องที่ใหญ่กว่าคือกดบัตรแทนกันไม่ใช่หรือครับ ต้องถือว่าทุจริตเลยนะ ตะโกนถ้อยคำไม่เหมาะสมก็ไม่เหมาะสม แต่ไม่ทุจริตนะ”

อภิสิทธิ์ ยอมรับว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดอาจไม่ทำให้ชนะเลือกตั้ง เพราะเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งมีอีกหลายเงื่อนไข

“บางเรื่องพวกผมทำ พวกผมรู้ว่าอาจจะไม่ได้คะแนน แต่ก็ทำเพื่อรักษาความถูกต้อง เพื่อหยุดยั้งความเลวร้าย ถ้าต้องยอมเจ็บตัวบางทีผมก็ยอม และนี่คือความต่างของประชาธิปัตย์กับทุกพรรคการเมืองในอดีต และผมคิดว่านั่นคือเหตุผลว่าเราอาจจะไม่ได้ชนะเลือกตั้งบ่อย แต่เราอยู่ได้...

...และไม่รู้ว่าไปหวังลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า ที่คิดว่า พอไม่คัดค้านอะไรใครแล้วจะทำให้คนมารัก มันคงไม่ใช่ เพราะที่เขาสนับสนุนประชาธิปัตย์ เพราะเขาอยากเห็นประชาธิปัตย์ปกป้องความถูกต้อง ถ้าประชาธิปัตย์สยบยอมก็จบ ที่เขาสนับสนุนเรามา เพราะประชาชนที่นั่นเขาไม่ยอมสยบต่อการข่มขู่ต่อรอง แบล็กเมล์ หรือการบอกว่าไม่เลือกผมผมไม่พัฒนาให้ เพื่อจะให้ประชาชนก้มหัวให้ เราต้องยอมอย่างนั้นหรืออย่างไร ชาวบ้านเขายังไม่ยอมเลย แล้วเราจะไปยอมได้อย่างไร”

ไม่เฉพาะเพียงแค่ท่าทีของฝ่ายค้านที่เปลี่ยนไป เพราะแม้แต่ลีลาคำพูดของ “อภิสิทธิ์” เองก็ดูจะยกระดับความร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะวลีเด็ด “อีโง่” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จนสะบักสะบอม แต่เจ้าตัวอธิบายเลี่ยงว่าไม่ได้ “แรงขึ้น” แต่ “เข้มข้นขึ้น” พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่พูดนั้น หนึ่ง เป็นความจริง สอง ไม่เคยไปใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมไปว่าอะไร ใคร ตรงไหน ถอดเทปได้ทุกประโยคที่พูด แต่ก็พยายามไปสร้างเป็นเงื่อนไขขึ้นมา

“เรื่องที่รัฐบาลทำ ผมคัดค้านอย่างรุนแรง ก็เป็นเรื่องที่เสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง แล้วถ้าถามผม อารมณ์คนฟังแรงกว่าอารมณ์คนพูดตั้งเยอะ คนที่เขารู้เรื่องว่าจะเกิดอะไรขึ้น การที่คุณพยายามออกกฎหมายเพื่อตัวเองบ้าง การที่คุณพยายามบอกว่าต่อไปนี้กติกาต่อสู้ทางการเมืองใช้อาวุธก็ได้ ทำลายทรัพย์สินก็ได้ ประทุษร้ายก็ได้ ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ ผมว่ามันร้ายแรงมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่แปลกที่อารมณ์คัดค้านก็จะมีความรุนแรงอยู่บ้าง”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า จุดสลบของรัฐบาลเวลานี้อยู่ที่การทำผิดกฎหมายและทุจริต เหมือนกับรัฐบาลส่วนใหญ่ที่หากเจอปัญหากลางทางก็หนีไม่พ้นสองเรื่องนี้ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกรวนหนักเข้าก็อาจจะมีเงื่อนไขเศรษฐกิจเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลทำงานจนครบเทอม 4 ปี เพื่อพิสูจน์ฝีมือว่าครบ 4 ปีแล้ว จะเป็นอย่างที่โฆษณากันหรือไม่ หากเกิดมีการสะดุดจะไปอ้างอีกหมือนที่เคย เชื่อว่ารัฐบาลทักษิณช่วงปลายเริ่มเห็นอะไรเยอะแล้ว แต่พอมีปฏิวัติก็เลยเป็นข้ออ้างที่เขาท่องเป็นคาถาตลอดว่า ถ้าไม่ปฏิวัติจะอย่างนั้นอย่างนี้ จริงบ้าง เท็จบ้าง

ส่วนความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเวทีปฏิรูปประเทศนั้น อภิสิทธิ์ เห็นว่า เพียงแค่ประกาศให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ฝ่ายค้าน รัฐบาล เสื้อทุกสี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคารพกฎหมายและไม่ระรานกัน ให้พื้นที่ทางการเมืองกลับมามีเสรีภาพ ในการใช้สื่อแข่งขันกันเชิงนโยบาย ทำไมประเทศเดินไม่ได้ อะไรจะเป็นปัญหาอุปสรรค

“ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ ไม่มีอะไรที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปไม่ได้ จากที่มันเดินไม่ได้เพราะคุณไม่ยอมเดินตามกติกา ทักษิณกลับมาประเทศไทยไม่ได้เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะรัฐบาล เพราะน้องสาวคุณเป็นนายกฯ แล้ว แต่ที่กลับไม่ได้เพราะคุณอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกฎหมาย ไม่ใช่ตรงข้ามกับรัฐบาล หรือไม่ใช่พรรคการเมือง คุณทำผิดกฎหมายแล้วยังมาสร้างความวุ่นวายขัดแย้งต่อ คุณจะเอาชนะกฎหมาย ว่าที่ทำผิดไปแล้ววันนี้มีอำนาจก็จะเสกสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย มันถึงเกิดความขัดแย้ง ถ้าคุณไม่ทำเรื่องนี้บ้านเมืองก็เดินไปข้างหน้าอยู่”

อภิสิทธิ์ ย้ำว่า ไม่เชื่อที่ประเมินกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาแล้วประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านไปอีกนาน และที่เขาออกมาคัดค้านก็ไม่ใช่เพราะเหตุนี้ แต่ที่ค้านเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดกฎหมาย ต้องอยู่ใต้กฎหมาย

กางแผนถล่มรัฐบาลก่อนถึงศึกซักฟอก

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังที่สุดในกระบวนการตรวจสอบการบริหารงาน รัฐบาล แม้สองครั้งที่ผ่านมาจะทำให้รัฐบาลซวนเซไปบ้างจากเงื่อนงำความไม่โปร่งใสใน การรับจำนำข้าว แต่ทว่ายังไม่อาจน็อกรัฐบาลได้

สำหรับศึกซักฟอกที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ ประเมินว่า หลายประเด็นที่นำเสนอไปในโครงการรับจำนำข้าวชัดเจนมาก มีตัวละครครบถ้วนหมด ซึ่งอยากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งรัดดำเนินการ เพราะแม้อภิปรายเสร็จอย่างไรก็ลงมติแพ้ในสภาอยู่แล้ว

ส่วนอภิปรายเที่ยวนี้นั้น ที่ผ่านมาก็ได้รับข้อมูลทุจริตส่งมายังประชาธิปัตย์ตลอด แต่ว่าการที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตายอาจไม่ง่ายนัก ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม รูปแบบการตรวจสอบรัฐบาลนั้น อีกด้านหนึ่งยังมีการจัดเวทีผ่าความจริงฯ ทุกสัปดาห์ ซึ่งต่อจากนี้จะเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีรูปแบบนำเสนอหลายอย่าง ทั้งแนวคิดการแก้ปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแปลง โครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องสะท้อนให้ประชาชนได้เห็น ไม่ว่าเรื่องที่เพื่อไทยชอบอ้างว่าต่อสู้เพื่อคนยากจน แต่สองปีผ่านไปมีเงินเข้ากระเป๋าธุรกิจใหญ่เพิ่มขึ้น

“อย่างการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ขณะที่ภาษีที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชนไม่มีการขยับ การลงทุนครั้งมโหฬาร 2 ล้านล้านบาท ไม่มีการสานฝันคนอีสานเรื่องแหล่งน้ำเลย รวมทั้งปัญหาใหญ่เวลานี้คือเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ประชาชน กำลังเดือดร้อนอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจ ทั้งของแพง ความฝืดเคือง ในตัวระบบเศรษฐกิจ”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ยังเตรียมใช้โอกาสที่รัฐบาลกำลังจะไปโฆษณาชวนเชื่อเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เข้าไปชี้แจงถึงวิธีการบริหารที่ถูกต้องว่าคุณสามารถบริหารเรื่องนี้ โดยอยู่ในระบบที่มีการควบคุมวินัยการเงินการคลัง ปิดช่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

สำหรับปัญหาที่ถูกมองว่าการสื่อสารของ ปชป. ไปไม่ถึงรากหญ้า อภิสิทธิ์ มองว่า ที่ผ่านมาถูกมองไปในเชิงการเมือง แต่จังหวะเวลานี้จะเห็นว่ามีการใส่เรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นในเวทีผ่าความจริง เนื่องจากรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วฉบับหนึ่ง ขณะที่กฎหมายนิรโทษกรรมท่าทางจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรใน กมธ.

“เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายต่อไปที่จะสะท้อนออกมาให้เห็น ซึ่งที่ผ่านมาในการเลือกตั้งซ่อมก็จะเห็นถึงความไม่พอใจของชาวบ้านที่สะท้อน ออกมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อภิปรายตอนแถลงผลงานรัฐบาลก็อาจจะเป็นในเชิงเทคนิคไปหน่อย แต่เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คงจะต้องย่อยให้สื่อสารง่าย หรือหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อไหร่ก็ต้องมีการตรวจสมุดพกว่าที่คุณ เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ สุดท้ายสิ่งที่ได้กลับมาคืออะไร”

ยกเครื่อง"ประชาธิปัตย์"หวังเป้า17ล้านเสียง

ภารกิจใหญ่ของ “ประชาธิปัตย์” ไม่ได้มีเพียงแค่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังต้อง เตรียมความพร้อมกับการเลือกตั้งที่ ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ล่าสุดความพยายามผลักดันกระบวนการปฏิรูปพรรคที่เวลานี้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็น ร่างมากขึ้น ซึ่งจะต้องรอดูว่านำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลมากน้อยแค่ไหน

อภิสิทธิ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า เตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 8 ต.ค.นี้ จากนั้นก็จะส่งต่อเข้าที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ สส.พรรคพิจารณา ถ้าผ่านความเห็นชอบก็ส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้รับรองโครงสร้างใหม่และใช้ได้เลย

โดยสาระสำคัญมี 3 ระดับ คือ 1.มีองค์กรที่เป็นกรรมการพรรค ซึ่งไม่ใช่กรรมการบริหาร แต่ประกอบไปด้วยตัวแทนของทุกฝ่าย สส. อดีตผู้บริหารของพรรค และคิดไปถึงยุวประชาธิปัตย์ สตรีของพรรค สาขาพรรคท้องถิ่นที่ลงในนามพรรค เหมือนให้เขามาทำหน้าที่เหมือนกำกับดูแลการทำงานของกรรมการบริหารพรรค

2.ขณะที่กรรมการบริหารพรรคก็จะมีความเบ็ดเสร็จกระชับในการขับเคลื่อนที่ รวดเร็วขึ้น และมีโครงสร้างเพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นการรับมือการบริหารพื้นที่ในการเลือก ตั้ง ซึ่งจะมีชุดต่างหากขึ้นมาปฏิบัติการในกลุ่มเขตเลือกตั้งเป็นโซนๆ โดยชุดนี้จะขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค และ 3.การปรับปรุงสำนักงาน

อภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบแต่ละภาคนั้น ทางคณะทำงานปฏิรูปพรรคเสนอมาไม่ให้มี แต่ทางกรรมการบริหารบางท่านเสนออยากให้มีแต่ต้องไม่เหมือนเดิม คืออะไรที่มอบไปที่โซนแล้ว ต้องไปที่โซน รองหัวหน้าจะดูแค่ภาพรวมยุทธศาสตร์

“ส่วนหนึ่งเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างเพราะต้องยอมรับว่าการไป คาดหวังให้คนหนึ่งคนแบกทั้งภาคเป็นไปไม่ได้ อย่างอีสานแค่เขาสามารถรักษาบางพื้นที่อย่างอุบลราชธานี อำนาจเจริญได้ หรือที่ยโสธร ซึ่งเคยได้มานั้น ทำแค่นี้เขาก็สาหัสแล้ว จะไปคาดหวังว่าจะต้องบุกอุดรธานี โคราช บุรีรัมย์ และต้องดูแลพื้นที่เดิมก็คงยาก จึงต้องมาปรับการจัดการตรงนี้”

สำหรับการประเมินคะแนนของพรรค เวลานี้ อภิสิทธิ์ อธิบายว่า จากที่ได้ติดตามมาตลอด แม้จะไม่ลดลง แต่ก็เพิ่มขึ้นไม่เร็วพอ ซึ่งหากจะดูจากการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเราได้คะแนนใกล้เคียงเดิม โดยได้เพิ่มมาสองพื้นที่ แต่ก็ยังไม่พอ ยังต้องเร่งโตขึ้น สำหรับพื้นที่ซึ่งฝ่ายค้านจะไปช่วงชิงมาก็อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง และพื้นที่ชี้ขาดจะเป็นพื้นที่ภาคกลาง

จุดอ่อนอย่างพื้นที่ “อีสาน” อภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า “ไม่ได้หมายความว่าเราไม่พยายามเข้าไป เราเข้าไปแต่โจทย์ยากกว่า โดยอีสานก็ยากกว่าเหนือ เหนือตอนบนยากกว่าเหนือตอนล่าง เหนือตอนล่างยากกว่าภาคกลาง ภาคกลางยากกว่ากรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ยากกว่าภาคใต้ เราไล่เรียงแบบนี้ ขณะที่เขาก็ไล่เรียงมาจากอีกทาง”

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป้าหมายคือต้องทำให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม ปี 2544 ไทยรักไทย 11 ล้านเสียง ปชป. 7 ล้านเสียง 2548 เขาขยับไป 19 ล้านเสียง แต่ ปชป.ยังอยู่ที่ 7 ล้านเสียงเท่าเดิม จนมาปี 2550 ที่ได้ 12 ล้านเสียงเท่ากัน ก่อนที่ 2554 เขาจะกระโดดไป 15 ล้านเสียง และ ปชป.ถอยลงมา 11 ล้านเสียง ซึ่งเป้าต่อไปคือต้องทำให้ได้ 16-17 ล้านเสียง

“หากมองเฉพาะพื้นที่ กทม. แม้ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ถึงจุดที่มีความเสี่ยง เพราะปกติคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนบ่อย พอมาถึงจุดนี้ต้องระวังตัว เราบริหาร กทม.มาเกือบ 10 ปี เราก็ต้องถูกตรวจสอบ ถูกท้าทายมากขึ้นว่า 10 ปี เราจะทำให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ส่วน   สส.เขตที่ยังไม่ได้ก็ไม่ง่าย หรือบางเขตอย่างเขตดอนเมืองของ แทนคุณ จิตต์อิสระ ที่ได้มาก็ไม่ง่ายที่จะรักษา ก็ต้องทำงานกันหนัก เราแข็งขึ้นมาจริง ในรอบ 10 ปี แต่จะแข็งขึ้นเรื่อยไปหรือเปล่าก็ต้องปรับปรุงการทำงาน”

ส่วนจะนำโมเดล กทม.ไปใช้พื้นที่อื่นหรือไม่นั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละพื้นที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะสภาพการแข่งขันแตกต่างกัน อย่างภาคกลางกระแสพรรคไม่ได้เลวร้าย ส่วนภาคเหนือแม้แต่อีสาน คะแนนพรรคที่ได้นั้นไม่เป็นที่หนึ่งก็คือที่สอง บางพื้นที่ไม่ห่างมากด้วย

“แต่ผู้แทนเขต เราแพ้เขาเยอะ ตรงนี้คือจุดหนึ่งที่การปรับปรุงโครงสร้างพรรคต้องมีเขตพื้นที่ที่จะมาตอบ โจทย์ตรงนี้ให้ได้ว่ากระแสหรือเสียงที่รองรับประชาธิปัตย์ที่มีอยู่จะต้อง พลิกมาเป็นจำนวน สส.ให้ได้ อย่างรอบกรุงเทพฯ ทั้งนนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี คะแนนพรรคดีมาก แต่ยังทำได้ไม่มากนัก”

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผ่านมาก็เนื่องจากระบบการจัดการยังไม่แข็งพอ ตัวผู้สมัครที่จะมีพลังไปสู้ยังไม่แข็งพอ อย่าง จ.นครปฐม เราจะไปสู้กับกลุ่ม “สะสมทรัพย์” แม้คะแนนพรรคดี แต่ตัวคนสู้ไม่ได้ แต่เชื่อว่าภาคเหนือตอนล่าง ทั้งพิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย แม้แต่อุตรดิตถ์ ถ้าจัดระบบดีๆ มีลุ้นทุกจังหวัด แต่เหนือขึ้นไปต้องยอมรับว่ายาก

“อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ประชาชน ถ้าเลือกแล้วการเมืองแข่งขันกันโดยสุจริตเสมอภาค พวกผมก็ยอมรับการตัดสิน พวกผมไม่ได้บอกว่าจะต้องชนะ ไม่ว่าจะโกงก็ได้ ซื้อเสียงก็ได้ คุกคาม เอาเงินไปซื้อสื่อก็ได้ ผมไม่ทำ เพราะผมคิดว่าถ้าพวกผมทำแล้วบ้านเมืองนี้จะเหลือการเมืองซักพรรคได้ไหม ที่อยากจะรักษาการเมืองแบบอุดมการณ์ แม้บางครั้งอาจจะเสียเปรียบหรือต้องแพ้ แต่นี่คือความแตกต่าง”

สุดท้ายสำหรับบทบาทหัวหน้าพรรคของตัวเขาว่าจะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปอีกนานแค่ไหน? หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ขึ้น อยู่กับสมาชิกและสถานการณ์ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสร็จก็ได้ลาออกและไม่เข้าพรรคเลย ปล่อยให้ไปตกผลึกกันเองว่าจะเอากันยังไง แต่บังเอิญช่วงนั้นไม่มีใครอาสาตัวเข้ามาทำให้ ต้องกลับเข้ามาทำงานและทำงานเต็มที่ ซึ่งหากพรรคเห็นว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจ็บตัวก็ต้องยอม

view