สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

40ปี14ตุลาฯการต่อสู้ที่ยังไม่ชนะ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สุภชาติ เล็บนาค/ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ถูกนำกลับมาพูดถึงกันมากอีกครั้งในช่วงนี้ เนื่องจากวีรกรรมของนักศึกษา ประชาชน ที่จับมือกันโค่นรัฐบาลเผด็จการทหารในครั้งนั้น กำลังจะมีอายุครบ 40 ปี ในอีกไม่กี่วัน ขณะเดียวกันงานรำลึกครบ 40 ปี 14 ตุลาฯ ก็เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะปีนี้ “คนเดือนตุลาฯ” แยกกันจัดรำลึกเป็น 2 งาน โดยระบุว่าไม่สามารถร่วมกันได้ เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันมากเกินไป

โพสต์ทูเดย์ รำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วยการสัมภาษณ์ตัวละครที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เพื่อย้อนเวลากลับไปดูว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ คงเหลือผลกระทบอะไรจาก 14 ตุลาฯ อยู่บ้าง โดยเริ่มต้นจาก “อนุช อาภาภิรม” อดีตบรรณาธิการวารสารชัยพฤกษ์ และชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ หนึ่งในแกนนำนักศึกษาปัญญาชนหัวก้าวหน้าในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันอนุชเป็นหัวหน้าโครงการวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

อนุช เล่าย้อนกลับไปถึงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นพร้อมกับหลายขบวนการในสหรัฐ ที่ชัดที่สุดคือ 1.ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามค่อนข้างรุนแรง ตรงกับการประท้วงต่อต้านจักรวรรดินิยมสหรัฐในไทย 2.ที่สหรัฐคนผิวดำต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย ขณะที่ของไทยต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนในการมีรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องการให้ทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญ และ 3.ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในตะวันตก ได้สร้างอุดมการณ์ “ซ้ายใหม่” (New Left) พร้อมๆ กับที่ไทยเริ่มมีการขยายตัวของแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ประกอบกับนักศึกษาที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ปัญญาชน” ไม่เคยได้รับโอกาสจากรัฐบาลเผด็จการทหารได้พูดหรือทำในสิ่งที่คิด จึงเป็นเหตุให้นักศึกษาคือตัวนำในการโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร แต่กระนั้นเอง ผลลัพธ์ของ 14 ตุลาฯ ไม่ได้ทำลายสิ่งที่เรียกว่า “ระบบอำมาตย์” หรือระบบที่ข้าราชการเป็นใหญ่ โดยมีกองทัพเป็นแกนกลางได้เบ็ดเสร็จ เพียงแต่ทำให้ระบบอำมาตย์ปรับตัว ด้วยการให้โอกาสประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เรื่อยมา

“หลัง 14 ตุลาฯ เราได้เห็นรัฐบาลไทยเปิดความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาก่อน เนื่องจากจีนมีสถานะเป็นคอมมิวนิสต์ เราได้เห็นนโยบาย 66/23 ที่ให้โอกาสแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ขณะเดียวกันระบบอำมาตย์ก็สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพอสมควร ด้วยการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมเคมี หรืออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ คนไทยจึงยอมรับว่าระบบอำมาตย์พอใช้ได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้นาน”

ทว่า ระบบราชการยังคงอยู่ที่เดิม ไม่ได้แตกต่างจากก่อน 14 ตุลาฯ ห้วงเวลาที่ระบบอำมาตย์มาล้มเหลวจริงๆ นั้น อนุช บอกว่า เกิดขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ซึ่งระบบอำมาตย์ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และไม่สามารถหาวิธีแก้ไข ได้ จึงเป็นจังหวะก้าวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ขึ้นสู่อำนาจแทน และใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ ทำให้ระบบทักษิณยังคงอยู่ที่เดิม ส่วนระบบอำมาตย์ก็ถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการปะทะขึ้นหลายครั้ง และถึงจุดพีกสุดในเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ซึ่งหลังจากนี้ อนุช บอกว่า หากศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งสองกลุ่มก็คงจะสู้ๆ พักๆ กันต่อไปเรื่อยๆ เพราะล้วนมีพลังด้วยกันทั้งคู่ จะหยุดก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสู้กันต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์เท่า นั้น

ผลลัพธ์ 14 ตุลาฯ

ขณะที่ขบวนการนักศึกษาไทย หรือสิ่งที่เรียกว่า “คนเดือนตุลาฯ” ก็สิ้นสุดลงเมื่อปี 2524 พร้อมๆ กับการยุติบทบาทของ พคท. การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ไม่มีบทบาทอีกต่อไป เหลือเพียงการเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็น และไม่มีการปฏิบัติการอะไรที่มีลักษณะสำคัญในที่สุด “คนเดือนตุลาฯ” ก็แตกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่กับอำมาตย์ อีกส่วนอยู่กับเสื้อแดง

ผ่านมา 40 ปี สังคมไทยพลิกจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลายครั้งหลายครา จนหลายครั้งถูกมองว่า การรำลึก 14 ตุลาฯ เป็นเหมือนเพียงแค่งาน “เซ็งเม้ง” คือ จัดรำลึกทุกปีแล้วก็จบไป

อย่างไรก็ตาม อนุช ยังเชื่อว่าแม้ขบวนของนักศึกษาและคนเดือนตุลาฯ จะตายไปแล้ว แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้และแรงส่งยังคงมีอยู่ ได้แก่

1.การต่อต้านเผด็จการ หรือการรวมศูนย์อำนาจ ยังเกิดขึ้นอยู่ ทหาร หรือ ระบบอำมาตย์ ไม่สามารถปกครองเพียงฝ่ายเดียวได้แล้ว แม้จะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหลายครั้งหลังจากนั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลทหารต้องเร่งทำก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และคืนอำนาจให้กับประชาชน

2.การต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม หรือต่อต้านระบบทุน ก็ยังพูดกันตั้งแต่หลัง 14 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง ก็ยังคงชูจุดยืนเรื่องต่อต้านทุนสามานย์ ซึ่งดูแล้วก็คือทุนโลกาภิวัตน์ มีสหรัฐเป็นตัวแทน สะท้อนให้เห็นว่าคนเดือนตุลาฯ ที่เป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ ก็ยังคงรักษาระบบบางอย่างของคนเดือนตุลาฯ ไว้ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าเนื้อหาเท็จจริงแค่ไหน แต่อย่างน้อยมีการกล่าวซ้ำ

ส่วนผลลัพธ์สุดท้าย ได้แก่ 3.ขบวนการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งขณะนี้ก้าวหน้ามาก และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ได้ลามมาถึงรากหญ้า ไม่ใช่นักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา เพียงอย่างเดียว เมื่อรากหญ้าเป็นแกนนำ ก็สามารถรวมมวลชนได้มากขึ้น

อนุช บอกว่า ประวัติศาสตร์ที่เป็นมา ชาวรากหญ้ามีแนวโน้มสนับสนุนทุนโลกาภิวัตน์โดยเหตุผลหลายๆ อย่าง 1.เขาได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ เนื่องจากโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้เขาทำมาหากิน สังเกตได้จากแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ปี 2524 มาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันนโยบายหลายๆ อย่างของระบบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น แปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือกองทุนต่างๆ ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจ แต่ก็ยังเกิดการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เพื่อกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีก ซึ่งระบบอำมาตย์มองข้ามชาวรากหญ้าไป คิดแต่ว่ายังโง่อยู่ ไปไม่ถึงไหน ด้วยเหตุนี้ ระบบอำมาตย์จึงสูญเสียความเชื่อใจจากชาวรากหญ้า ทำให้เขายังคงหันไปคบกับระบบทักษิณแทนที่ปัจจุบัน คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งถ้าระบบอำมาตย์ยังไม่ปรับตัวก็จะสูญเสียสถานะไปเรื่อยๆ

ส่วนคำถามที่ว่า พลังนักศึกษาหายไปไหนนั้น เขาบอกว่า เมื่อปี 2516 นักศึกษาเองไม่ได้ตั้งใจเป็นแกนนำ แต่เพราะนักศึกษาขณะนั้นเป็นความคาดหวังของสังคม แต่ขณะนี้ชาวรากหญ้าก็มีความรู้ และรู้สึกกับความเป็นธรรมด้วยตัวเอง ส่วนนักศึกษาก็ไม่ได้หาย เพียงแต่ถูกกลืนไป ไม่สามารถชี้นำได้แล้ว เพราะประสบการณ์บทเรียนน้อยกว่า

“ปัญหาส่วนใหญ่มันไปอยู่กับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้ ราคาพืชผลเกษตร ฯลฯ แต่ของนักศึกษาไม่ได้มีปัญหาอะไร ตอน 14 ตุลาฯ เขาอาจจะมีปัญหา อยากพูดแล้วไม่ได้พูด แต่ตอนนี้จะพูดอะไรก็พูดได้ ฉะนั้นอย่าไปตำหนินักศึกษา”

หลักไมล์ที่ 3 ประชาธิปไตยไทย

อนุช บอกว่า สิ่งที่ควรระลึกถึงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.เจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของผู้คน ไม่ให้อำนาจปกครองไปอยู่ในคนหยิบมือเดียว ตอนนี้รัฐบาลมาจากรัฐประหารไม่ได้แล้ว 2.ระลึกถึงคนที่เสียชีวิตไป ทั้งกลางถนน ทั้งจากการขว้างระเบิด หรือการลอบสังหารในสถานที่ต่างๆ 3.การระลึกว่าการเคลื่อนไหวที่ดำรงอยู่ได้ต่อยอดจาก 14 ตุลาฯ ยังไงบ้าง

“สมมติว่าหลักไมล์ที่ 1 อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 หลักไมล์ที่ 2 อยู่ที่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 น่าสนใจว่าทั้งสองเหตุการณ์ห่างกัน 40 ปี ตอนนี้ก็ถึงหลักไมล์ที่ 3 แล้วว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร ให้เหมาะสม เราก็ต้องระลึกเพื่อเก็บรักษาบทเรียนใน 14 ตุลาฯ และย้อนกลับไปถึงหลักไมล์แรกเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ว่าประวัติศาสตร์เป็นยังไง และเดินหน้าต่อไปยังไง ไม่ให้บ้านเมืองบอบช้ำ”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 40ปี14ตุลาฯ การต่อสู้ที่ยังไม่ชนะ

view