สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสานผลประโยชน์ไทยในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู

ประสานผลประโยชน์ไทยในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




น่ายินดีที่ได้เห็นการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟ ที เอ ระหว่างไทยและอียู รอบที่ 2 ที่มีขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 16-20 ก.ย.2556

เดินหน้าไปด้วยดี ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน กลุ่มประชาสังคม ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยทั่วไปเกี่ยวกับการปกป้องผลประโยชน์ของไทยในการเจรจาเอฟ ที เอ กับอียู ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าสำคัญและยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลก หลังจากการเจรจาเอฟ ที เอ รอบแรกมีขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556

หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้แก่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู ได้แก่ นาย Joao Aguiar Machado ตำแหน่ง Deputy Director-General จาก DG Trade หรือกระทรวงการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป (ซึ่งมีอำนาจในการเจรจาแทนอียูและประเทศสมาชิก 27 ประเทศ) กล่าวได้ว่าทั้งฝ่ายไทยและอียูต่างก็มีทีมเจรจาที่มีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญในการเจรจาเอฟ ที เอ มาแล้วหลากหลายเวที จึงทำให้การเจรจาเอฟ ที เอ ครั้งนี้เดินไปได้ด้วยดี

การเจรจารอบที่ 2 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การค้าด้านสินค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด (ของสินค้า) การค้าภาคบริการ การลงทุน สัมปทานโดยภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแก้ไขปัญหาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งฝ่ายไทยและอียูได้สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับท่าทีและร่างข้อเสนอในประเด็นหลักๆ ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีการเจรจาแบบลงรายละเอียดตามร่างข้อเสนอดังกล่าวมากขึ้นในการเจรจารอบต่อไป

พูดถึงฝ่ายอียู อียูเป็นองค์กรใหญ่ที่มีความพิเศษ ทำงานเสมือนเครื่องจักรใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีผลประโยชน์หลากหลายที่ได้รับการเรียกร้องให้ต้องประนีประนอมก่อนกำหนดเป็นท่าทีร่วมกันของอียูสำหรับเอฟ ที เอ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก 27 ประเทศ รวมทั้งผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และประชาสังคมในยุโรปแต่ละประเทศซึ่งมีความแตกต่างกันมาก แต่อียูก็มีคณะเจรจาที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมาก โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์และเตรียมข้อมูลสนับสนุน (โดยเฉพาะเกี่ยวกับคู่เจรจา คือฝ่ายไทย) ที่ครบถ้วนและลึกซึ้งมาก แม้หลายครั้งประเด็นที่ฝ่ายอียูนำเสนออาจที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในเชิงกฎหมายและเชิงเทคนิค เพราะต้องกำหนดตามกรอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของอียู แต่อียูก็สามารถสอดแทรกประเด็นการปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ของอียูไว้ในหัวข้อต่างๆ ในเอฟ ที เอ ได้อย่างแนบเนียน อียูจึงถือเป็นคู่เจรจาที่เก่งกาจแบบไม่ธรรมดา

อียูมีการศึกษา ปรึกษาหารือ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในยุโรปเกี่ยวกับผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในประเด็นที่ใช้กำหนดท่าทีและยุทธศาสตร์ในการเจรจาของอียูมาอย่างดี อย่างไรก็ดี การศึกษาและทำความเข้าใจท่าทีของอียูนั้นไม่ได้ยาก เนื่องจากอียูมีความโปร่งใสมาก และมักกำหนดท่าทีคล้ายคลึงกันในเอฟ ที เอ ที่อียูเคยเจรจามาแล้วกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาทิ เอฟ ที เอ ระหว่างอียูกับเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และที่กำลังเจรจากับเวียดนาม เป็นต้น แต่แน่นอนหากประเทศไทยเรียกร้องในประเด็นที่สำคัญกับประเทศไทยมากหรือน้อยเป็นพิเศษก็อาจได้ผลประโยชน์มากหรือน้อยตามน้ำหนักและความสำเร็จของการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบต่างตอบแทนในสาขาที่อียูสนใจ

สำหรับไทย ดูเหมือนว่าภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประมง กุ้ง ปลา หรือปลาหมึก ผัก และผลไม้เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปอียู และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่การเจรจาเอฟ ที เอ น่าจะมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือช่วยรักษา เปิดตลาด และเยียวยาผลกระทบที่ไทยจะได้รับการจากถูกตัดสิทธิ GSP แต่ต้องยอมรับว่าการเจรจากับอียูเพื่อเปิดตลาดและลดมาตรการกีดกันทางการค้าในสาขาเกษตรและอาหารน่าจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะอียูมีท่าทีปกป้องและอุดหนุนภาคการเกษตรของตนอยู่มาก นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐานและข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของสินค้าเกษตรและอาหารที่เข้มงวด และมีข้อกำหนดอื่นๆ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ และแรงงาน ของอียูและภาคเอกชนอียูที่สูงมาก ที่หากไทยปฏิบัติตามไม่ได้อาจกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ทำให้สินค้าไทยเสียโอกาสในการเข้าตลาดอียูไปได้ นอกจากนั้น อย่าลืมว่ายังมีสินค้าของอียูหลายตัวที่อียูต้องการเปิดตลาดไทยเช่นกัน อาทิ เนื้อวัว ไวน์ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมจะแลกผลประโยชน์สำหรับการเปิดตลาดสาขาดังกล่าวมากน้อยเพียงไร

ภาคเกษตรคงไม่ใช่สาขาเดียวที่ไทยต้องการเปิดตลาดอียู ผลประโยชน์ของไทยในอียูยังมีอีกมากมายที่ต้องให้ภาคธุรกิจและเอกชนไทยแต่ละสาขาค้นหา แม้ภาครัฐไทยทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในอียูโดยรวม มีหน้าที่หลักในการสร้างกรอบและบรรยากาศทางการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเจรจาทางการค้า การเจรจาเพื่อปกป้องสิทธิพิเศษต่างๆ ของไทย แต่พอลงลึกถึงผลประโยชน์ของทางธุรกิจและอุตสาหกรรมรายสาขา หรือผลประโยชน์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยตรง คงเกินขอบข่ายหน้าที่ของภาครัฐ แต่ภาคธุรกิจต้องช่วยเหลือตนเอง และต้องนำเสนอข้อเรียกร้องของตนต่อภาครัฐเพื่อทำการประนีประนอมและกำหนดท่าทีเพื่อนำไปเจรจาต่อไป

การเจรจาในสาขาภาคการบริการก็เป็นประเด็นที่อียูให้ความสำคัญในการเปิดตลาดในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการธนาคาร การประกันภัย โทรคมนาคม หรือการบริการทางธุรกิจอื่นๆ ไทยยังมีระดับการเปิดเสรีให้ผู้ให้บริการต่างชาติเข้าไปในระดับที่แตกต่างกัน (ซึ่งควรจะเป็นไปตามพันธกรณีที่ไทยมีไว้ใน WTO) ในขณะที่อียูกำลังเร่งเดินหน้าการเปิดเสรีภาคบริการผ่านเวทีระหว่างประเทศและการเจรจาความตกลงอื่นๆ จึงน่าสนใจว่าในอียูจะรวมการเจรจาภาคบริการไว้ในการเจรจาเอฟ ที เอ ในรูปแบบไหน และอียูจะผลักดันการเปิดเสรีภาคบริการกับไทยไปในทิศทางใด ทั้งนี้ ไทยและอียูจึงควรหาโอกาสพูดคุยเพื่อหาประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายในการเปิดเสรีภาคบริการ เพราะเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการคงเป็นเรื่องหนึ่งที่อียูให้ความสำคัญในการเจรจาเอฟ ที เอ ระหว่างสองฝ่ายเป็นแน่

สำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นประเด็นที่อียูผลักดัน และสร้างความห่วงกังวลและที่กำลังเป็นที่จับตาของภาคประชาสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยา ข้อมูลจากอียูเปิดเผยว่า ไทยและอียูได้ตกลงว่าจะหาทางแก้ปัญหาที่สามารถบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาไปได้พร้อมๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น อียูเปิดเผยว่าทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการเจรจาหัวข้อที่มีความทะเยอทะยาน อย่างเช่น เรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนหากมองดีๆ และใช้ประโยชน์ดีๆ อาจเป็นประโยชน์สำหรับไทยเองในระยะยาว อาทิ สินค้าข้าวไทย และผ้าไหมไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในยุโรป และการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็เป็นหลักการสากลที่ส่งเสริมประโยชน์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศที่นำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ไทยจึงควรมองและทบทวนประเด็นดังกล่าวทั้งในแง่บวกและแง่ลบ และพิจารณาดูว่าผลประโยชน์สูงสุดในระยะยาวของไทยจะได้มาได้อย่างไร

เรื่องความร่วมมือเชิงเทคนิคและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ กับอียูก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายไทยควรให้ความสำคัญและเร่งค้นหาความต้องการของไทยเองว่าต้องการเรียกร้องความร่วมมือเชิงเทคนิคด้านไหนจากฝ่ายอียู เนื่องจากอียูมีงบประมาณมากมายที่กำหนดไว้เฉพาะสำหรับการให้ความช่วยเหลือในด้านความร่วมมือเชิงเทคนิค หากเป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และที่สำคัญ ในการเจรจาเอฟ ที เอ รอบที่ 2 ฝ่ายไทยและอียูได้ตกลงกันว่าจะมีการสร้างความร่วมมือเชิงเทคนิคต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ที่กำหนดไว้ในเอฟ ที เอ ฝ่ายไทยจึงต้องทำการบ้านมากหน่อยจะได้เรียกร้องจากอียูได้ตรงตามความต้องการและเป็นผลประโยชน์มากที่สุด

การเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียูรอบต่อไปที่จะมีขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนธันวาคม 2556 โดยทั้งสองฝ่ายต่างหวังว่าการเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียูนี้จะเดินหน้าและเจรจาสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ไม่น่าเกิน 2 ปีเพื่อเดินหน้าการประสานผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและอียู ทั้งในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ไม่ให้ช้าไปกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ เอฟ ที เอ ได้ปรับใช้ไปแล้ว

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสานผลประโยชน์ไทย การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู

view