สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.โกร่ง วิพากษ์ นโยบายการเงินการคลังของ สหรัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีนัก เศรษฐศาสตร์ชั้นนำ และมีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก แต่นโยบายการเงินการคลังของอเมริกากลับเป็นนโยบายที่ล้มเหลวมากที่สุดในโลก

สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลมากที่สุดในโลกในเรื่องการกำหนดรูปแบบ กฎระเบียบ กติกา จริยธรรม ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส หลักธรรมาภิบาลให้รัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงินการคลังให้ชาวโลกปฏิบัติ เพราะสหรัฐมีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดนโยบายของธนาคารโลก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ หรือธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนของโลก ประเทศใดหรือบริษัทใหญ่ ๆ จะระดมทุนก็ต้องทำผ่านบริษัทเงินทุนของสหรัฐเท่านั้น สหรัฐจึงเป็นประเทศที่ผูกขาดตลาดทุนของโลก

เมื่อระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด ประเทศต่าง ๆ จึงต้องปฏิบัติตามกฎกติการะเบียบแบบแผนที่องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้กำหนด มิฉะนั้นก็จะถูกลงโทษ

ตัวอย่างเช่น เมื่อประเทศของเราเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือประเทศหลายประเทศในยุโรปเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน ต้องเข้าโครงการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ ก็ต้องปฏิบัติตาม

กฎเกณฑ์ที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารเพื่อชำระเงินระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า กฎบาเซิล 1-2-3 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ คอยบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตาม มิฉะนั้นสหรัฐก็จะคอยเล่นงาน มีประเทศจีนเท่านั้นที่กล้าขัดขืน เมื่อสหรัฐและไอเอ็มเอฟพยายามกดดันให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน หรือเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว พอจีนหอบเงินดอลลาร์ไปซื้อเครื่องบินโดยสารจากสหรัฐ 250 ลำ สหรัฐก็เลยเงียบ ไม่กล้าลงโทษอะไรกับประเทศจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

แต่การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐ กลับไม่เป็นไปอย่างที่ตนสอนและบังคับให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาการขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กฎต่าง ๆ ที่ตนบัญญัติขึ้นตนก็ละเมิดหมด

สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายการขาดดุลการคลัง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด อาศัยว่าดุลบัญชีเงินทุนยังเกินดุลอยู่ เพราะโลกยังหาเงินสกุลอื่นมาแทนเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ ธนาคารกลางและบริษัทใหญ่ ๆ ยังใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอยู่ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร ตลาดสินค้าและตลาดการเงินของโลกยังต้องใช้เงินดอลลาร์อยู่ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ยังพอไปได้ ถ้าเป็นเงินสกุลอื่นป่านนี้ก็คงจะกลายเป็นเศษกระดาษไปนานแล้ว

เมื่อยอดหนี้สาธารณะของอเมริกาพุ่งสูงขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ รัฐสภาอเมริกาก็มีปฏิกิริยา ออกกฎหมายกำหนดเพดานยอดหนี้สาธารณะ หรือนัยหนึ่งควบคุมการกู้ยืมเงินของรัฐบาลจากประชาชน พยายามให้ขึ้นภาษี ลดการใช้จ่ายภาครัฐบาล รัฐบาลต้องลดจำนวนข้าราชการ ลูกจ้าง รวมทั้งปิดหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และเจรจากับรัฐสภาไม่ให้ลดการกู้ยืมลงเร็วเกินไป จนจะเกิดสถานการณ์ทีเรียกว่า "หน้าผาการคลัง" หรือ "Fiscal Cliff" กล่าวคือ รัฐบาลล้มละลายทางการเงิน ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง ไม่มีเงินชำระคืนเงินกู้ หรือไถ่ถอนพันธบัตรของตนจากผู้ถือ ธนาคารกลางของเราเองก็ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันไว้เป็นจำนวนมากเหมือนกัน

เมื่อเข้าตาจนอย่างนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐก็ออกมาตรการทางการเงินที่เรียกโก้ ๆ ว่า คิวอี หรือ Quantitative Easing 1-2-3 ที่จริงก็คือ Open Market Operation นั่นเอง โดยอัดฉีดเงินจากธนาคารกลางมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด ก็เลยซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ของเอกชนที่มีหลักทรัพย์ เช่น ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันด้วย เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยพยุงฐานะของรัฐบาลและบริษัทเอกชนให้เป็นหนี้ธนาคารกลางแทน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนก็คงจะอะลุ้มอล่วยให้ต่ออายุการไถ่ถอนออกไปได้อีก หรือถ้าไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยก็คงจะยอมให้ยืดอายุต่อไปได้อีก เจ้าหนี้รัฐบาลอเมริกันทั้งในและนอกประเทศก็จะได้สบายใจขึ้นได้บ้าง

แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นเหตุให้ดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้น แม้ดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลงบ้าง แต่ก็คงจะลดลงไม่ได้มาก เพราะดอกเบี้ยก็ต่ำสุดอยู่แล้ว จากผลของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 0.01-0.25 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว มาตรการคิวอีจึงเป็นเพียงยาหม่องหรือพาราเซตเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหา อัตราการว่างงานก็ยังสูงอยู่ต่อไป ประสิทธิภาพของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจยังทำงานในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ หรือในระดับที่เครื่องจักรทำงานอย่างเต็มที่ การเพิ่มประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐออกมาให้สัญญาณว่าถึงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องลดจำนวนเงินอัดฉีดเข้าตลาดตามมาตรการคิวอีแล้ว สัญญาณดังกล่าวเป็นการ "ช็อก" ตลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว พอมาถึงปลายเดือนกันยายนกรมการนโยบายการเงินกลับมีมติให้คงปริมาณเงินที่จะอัดฉีดเข้าตลาดไว้ตามเดิม เป็นการ "ช็อก" ตลาดครั้งที่ 2 ครั้งนี้ความเชื่อมั่นและเกียรติภูมิของ ดร.เบน เบอร์นันเก้ รวมทั้งธนาคารกลางของสหรัฐเสียหายอย่างหนัก

ปัญหายังมีต่อไปว่า แล้วธนาคารกลางจะทำอย่างไรต่อไป จะหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว ก็ยังไม่เห็นวี่แวว อัตราการว่างงานก็ยังไม่ลดลง ธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าไปในตลาดเรื่อย ๆ ซึ่งผิดวินัยทางการเงินอย่างยิ่ง คงทำไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องค่อยลดลงและหยุดทำในที่สุด เพราะถ้าธนาคารกลางสหรัฐยังขืนทำไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งถ้าปริมาณเงินดอลลาร์ล้นตลาดโลก กล่าวคือ มีค่ากว่าความต้องการถือเงินดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์รวมทั้งค่าเงินยูโร ค่าเงินปอนด์ ค่าเงินเยน เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการที่ตนผลิตหรือทั่วโลกผลิตได้ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อเพราะปริมาณเงินอย่างรวดเร็ว โดยที่เศรษฐกิจก็ยังซบเซา การว่างงานทั้งในอเมริกาและยุโรปก็ยังสูง

ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกไปทั่ว ประเทศต่าง ๆ ที่มีทุนสำรองเป็นเงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินปอนด์ ก็ควรคิดอ่านเปลี่ยนทุนเหล่านี้เป็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น โครงการฟื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม ระบบสื่อสาร และอื่น ๆ เพราะจะได้ไม่ขาดทุน หรือเสียหาย ถ้าอะไรเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป สหรัฐอเมริกาเมื่อถึงจุดหนึ่งก็คงต้องหยุดอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถึงตอนนั้นก็จะเกิดช็อกอีกครั้งหนึ่ง ความไม่แน่นอนจากธนาคารกลางสหรัฐโดย นายเบน เบอร์นันเก้ ก็จะยังคงอยู่

ขณะนี้ทุกประเทศควรเรียกร้อง "การปฏิรูประบบการค้าและการเงินของโลก" หรือ "World Economic and Financial Order Reform" ใหม่ จะเอาชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกไปแขวนไว้กับการตัดสินใจหรือผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เสียแล้ว

ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า องค์การการค้าโลกก็ดี ไอเอ็มเอฟก็ดี เวทีเศรษฐกิจโลกก็ดี หรือเวทีอื่นควรจะมีประเทศที่มีความกล้ามากพอที่จะเสนอให้มีการปฏิรูประบบการค้าและการเงินของโลกเสียใหม่ ลดอำนาจอิทธิพลของอเมริกาลง ควบคุมให้อเมริกาสร้างวินัยการเงิน การคลังของตนเองให้มากขึ้นและเร็วขึ้น บังคับให้อเมริกาต้องมีความรับผิดชอบต่อชาวโลกให้มากขึ้น มิฉะนั้นก็จะพังกันทั้งโลก ไม่ใช่อเมริกาพูดอะไรก็ถูกไปหมด

อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.โกร่ง วิพากษ์ นโยบายการเงินการคลัง สหรัฐ

view