สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อำพน บนสังเวียนแบงก์ชาติ ไม่อิงการเมือง ลุยแผนขับเคลื่อน ศก.

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ

อาจเป็นเพราะเขาคือข้าราชการอายุน้อยที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงมากว่า 9 ปี อาจเป็นเพราะบุคลิกฉับไว ปรับตัวทำงานเข้ากับฝ่ายการเมืองได้ทุกพรรค ทุกกระทรวง เขาจึงมีชื่ออยู่ในโผทุกครั้ง ในฤดูกาลโยกย้าย

ชีวิตข้าราชการระดับซี 11 ของ "ดร.อำพน กิตติอำพน" สวมหมวกเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) วิ่งนอก-ออกในทุกวงประชุมในทำเนียบรัฐบาล เพราะใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี มาถึง 6 คน ไล่ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในข้าราชการที่หลังอิงฝาอยู่กับฝ่ายการเมือง

กระทั่งในปี 2556 เขาได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็น "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" ข้อกล่าวหารับใช้การเมือง จึงเวียนมาโจมตีเขาอีกครั้ง

"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ดร.อำพน" ในวันที่เขาเปิดห้องทำงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้คำกล่าวหาข้างต้น พร้อมขีดเส้น-วาดฝันกลไกการทำงานกับหมวกใบใหม่

- การดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดพร้อมกับการเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือว่าทับซ้อนกันหรือไม่

ต้อง ยึดถือข้อกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ข้อจริยธรรมที่ต้องดำเนินการคืออะไร ตามกฎหมายถือว่าไม่ทับซ้อน แต่เรื่องนี้ผมต้องใช้จริยธรรมในการตัดสินใจ แล้วต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

- หมายความว่ายังไม่ตัดสินใจที่จะลาออกจาก กนง.

มัน มีเหตุผล เพราะในกฎหมายระบุไว้ว่า องค์ประกอบคณะกรรมการมีทั้งหมด 7 คน การที่ใครคนหนึ่งลาออก จะทำให้ กนง.ไม่สามารถประชุมได้ และขั้นตอนการเสนอคนใหม่ ทางผู้ว่าการ ธปท.เองก็แจ้งว่ายังไม่พร้อม เมื่อยังไม่พร้อม แล้วผมลาออก หากเกิดวิกฤตขึ้นมาจำเป็นต้องเรียกประชุมด่วนจะทำอย่างไร ถ้าผมลาออกก่อน ใครเสียหาย

ในคณะกรรมการเรามองอยู่แล้วว่าการดำรงตำแหน่งเช่นนี้ไม่ ขัดต่อกฎหมาย แต่ผมเองที่ชี้ว่า มันไม่ควร มันดูไม่เหมาะสม ที่จะเป็นประธานบอร์ดด้วย และไปนั่งอยู่ใน กนง.ด้วย เรื่องนี้ก็วนกลับมาว่าจะต้องอ้างกฎหมายหรืออ้างจริยธรรม ก็เลยหยุดตรงที่ว่า ผมจะยังไม่ลาออก ก็อยู่ในดุลพินิจของผมว่า ผมควรจะดำเนินการอย่างไร ให้มันออกมาแล้วยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบขององค์กรนี้

- การควบตำแหน่งเลขาฯ ครม.ที่อยู่ใกล้ชิดฝ่ายการเมือง จะถูกกล่าวหาว่าส่งมาแทรกแซงการทำงานของ ธปท.ที่เป็นองค์กรอิสระหรือไม่

ผม เป็นข้าราชการ ถ้าดูบุคคลสาธารณะโดยทั่วไป ทั้งเอกชนและอดีตข้าราชการ ผมถามว่าอะไรคือเส้นที่แบ่งว่า คนนี้โดนครอบงำ คนนี้ไม่โดนครอบงำ มันเป็นความเห็นโดยส่วนตัวหรือเป็นข้อกำหนดโดยข้อกฎหมาย หรือคุณดูจากข้อประพฤติในการทำงาน

- อะไรคือสิ่งที่ทำให้ท่านถูกตั้งคำถามว่าถูกฝ่ายการเมืองครอบงำมาโดยตลอด


ผม ถูกตั้งคำถามนี้มาเป็นเวลานาน แต่ตอนหลังมันชักจะลาม ซึ่งผมจะต้องยืนหยัดต่อสู้ให้กับข้าราชการ ว่าเราต้องทำงานโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หน้าที่เราคือการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบ ถ้าเป็นตำรวจเขาเขียนชัดเจนเลยว่าให้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แต่เป็นข้าราชการก็ต้องดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

ผมก็ต้อง ปกป้องการเป็นข้าราชการประจำ เพราะผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังยึดหลักอุดมการณ์ และผมยังยึดถือหลักการเดิมในการปฏิบัติราชการตั้งแต่ 32 ปีที่แล้ว ผมมักอบรมรุ่นน้องเสมอว่า ถ้าอยากร่ำรวยเป็นอาเสี่ยต้องไปทำงานเอกชน ที่นี่ไม่มีอะไรตอบแทนให้เราร่ำรวย ถ้าอยากดังก็ไปฝึกร้องเพลงจะได้ดังแบบนักร้องหรือไปเล่นละครแบบดารา ถามว่าผมจะโดนการเมืองครอบงำหรือไม่ การเมืองสั่งให้ผมไปทำนู่นทำนี่หรือไม่ แล้วที่ผมเป็น กนง.มา 8 ปี ผมก็คงโดนนายกฯ 6 คนสั่งให้เพิ่มดอกเบี้ยลดดอกเบี้ยมาตลอดแล้วสิ

- การดำเนินงานในฐานะประธานบอร์ด ธปท.ในยุคของท่านจะมีนโยบายอย่างไร

หลัก ของกฎหมาย ธปท. กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจนว่ามี 3 ส่วนที่สำคัญ 1.การดำเนินนโยบายด้านการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ และสถาบันการเงินของประเทศ เป็นอำนาจอิสระของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ซึ่งประธานไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแย้งมติ ทำได้แต่เพียงให้ข้อสังเกตในเชิงวิชาการ

2.อำนาจที่กำกับดูแลใน เรื่องบริหารบุคคล งบประมาณ ฉะนั้นผมก็มีหน้าที่แต่งตั้งคน ประเมินผลคน ปรับโครงสร้างบุคลากร และเห็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานธุรการ และ 3.ข้อกฎหมายได้เขียนไว้อย่างครอบคลุมว่า ประธานมีหน้าที่โดยรวมในการกำกับดูแลการทำงานของ ธปท. ซึ่งผมตีความว่า หัวใจสำคัญที่สุดคือ การสร้างความเชื่อมั่นของสถาบัน ที่จะต้องดำรงความเป็นธนาคารกลางเอาไว้ มีอิสระในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

ถามว่าอะไรคือความ เชื่อมั่น ขอให้ไปเปิดหนังสือทรัพยศาสตร์ของท่านพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค พ.ศ. 2405-2479) ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึง 6 ปี ท่านพูดไว้ว่า ทรัพย์มี 3 อย่าง อันแรกคือแก้วแหวนเงินทอง อันที่สองคือสติปัญญา และอันที่สามคือเรื่องของความเชื่อมั่น

ท่านบอกว่าพันธบัตรจะเป็น กระดาษทันที ถ้าความเชื่อมั่นหมดไป ทำไมพันธบัตรในกลุ่มอียูถึงเป็นกระดาษ เพราะความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของกรีซ สเปน ในเรื่องหนี้สาธารณะมันเกินไปกว่าที่คนจะคำนวณได้ว่าจะมีอะไรมาทดแทน จึงทำให้ความเชื่อมั่นตกลงอย่างรวดเร็ว

- ธปท.ในยุคปัจจุบันถือว่ามีความเชื่อมั่นเพียงพอหรือไม่

ปัจจุบัน ถือว่ามีมากครับ แต่ก็ต้องเข้าไปดูเรื่อง Governance ในอีกหลายส่วนให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ตอนนี้ภาคเอกชนก็รณรงค์เรื่องความโปร่งใส ฉะนั้นกรรมการ ธปท. ที่ถือเป็นองค์กรอิสระ ทุกคนก็ควรจะต้องทำงานด้วยความโปร่งใส ก็ควรจะแสดงบัญชีทรัพย์สิน เช่นเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการหรือกรรมกรรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อันนี้ถือเป็นการแสดงเจตจำนงขั้นต้น

- ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ถึงปีหน้า ธปท.ที่มีบทบาทในการกำกับนโยบายการเงินควรดำเนินมาตรการอย่างไร

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปยังเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขณะที่การปรับลดสวัสดิการของประเทศยุโรปใต้ก็ยังไม่มีความจริงจัง มีแต่การขอความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มขึ้น ด้านสหรัฐอเมริกายังคงพึ่งพาการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งยังมีปัญหาการว่างงานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่จีนเองก็อยู่ระหว่างแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเกิดจากการเติบโตของการลงทุนที่รวดเร็วเกินไป ส่วนญี่ปุ่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ใช้ได้ดีในระยะสั้นเท่านั้น

เมื่อ สถานการณ์เป็นเช่นนี้ เงินก็จะไหลเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์พวกทองคำและน้ำมัน รวมทั้งเงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นโอกาสที่เงินจะไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยก็มี เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Safe Haven ของนักลงทุน แม้เราจะมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือความขัดแย้งระหว่างประธานบอร์ดกับผู้ ว่าการ ธปท. แบงก์ชาติ แต่เราไม่เคยปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมการส่งออก และไม่เคยลิดรอนสิทธิ์นักลงทุนมีแต่แนวโน้มที่จะให้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

- ขณะเดียวกัน ธปท.มักประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด จะบริหารจัดการอย่างไร

การ ขาดทุนมันมีเหตุผล ถ้าเราดำเนินการเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่ต้องรับผิดชอบต่อเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจ เราก็ทำกำไรได้ตลอดเวลา เวลาบาทอ่อนฉันซื้อ บาทแข็งฉันขาย ไม่ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราก็กำไรอยู่ดี เพราะเรามีสิทธิ์ในการออกพันธบัตร แต่เมื่อเรามีหน้าที่นี้ก็ต้องรับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจ การดำเนินการนโยบายการเงินต้องมีความเชื่อมั่น ที่สำคัญที่สุดเราต้องโปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของประเทศ

- คิดอย่างไรเมื่อมีการเสนอให้นำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว


ที่ จริงเรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปถึงสมัย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน ก็มีการพูดกันว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเบ็ดเสร็จมีประมาณ 160-170 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็มีคนบอกว่ามีทุนสำรองอยู่ที่ 80 ล้านเหรียญก็พอแล้ว จึงมีแนวความคิดที่จะนำเงินทุนสำรองมาใช้หมุนเวียนในประเทศ แต่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เราต้องเอาเงินไปฝากไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง ปรากฏว่าตอนที่เราเขียนกฎหมายอย่างนี้ เราคิดว่าเงินสกุลดอลลาร์ ยูโร หรือเยน จะเป็นพันธบัตรที่แข็งแกร่ง แต่ตั้งแต่วิกฤตปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เราเริ่มเห็นแล้วว่า เงินสกุลเหล่านั้นชักจะไม่ไหว ผมยังเคยมีความคิดว่าจะหยิบเงินสกุลหยวนขึ้นมาดูบ้าง แต่นักเศรษฐศาสตร์ฝั่งตะวันตกก็ยังไม่เชื่อในระบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเรามองแต่โมเดลเศรษฐกิจของตะวันตกมากเกินไปหรือไม่

- การบริหารกองทุนสำรองฯ อาจเป็นในลักษณะกองทุน

ก็ เป็นลักษณะของการเอาเงินส่วนเหลือมาบริหาร แทนที่จะฝากไว้ให้มั่นคงกับที่เดิม ก็ควรหาทางเลือกที่มั่นคงกว่าเดิม อย่างไรเงินก็ไม่ไปไหน แถมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของเราด้วยใช่ไหม ก็ต้องมาดูกันต่อว่า การทำเป็นกองทุนลักษณะนี้ ทำได้หรือไม่ มันดีหรือไม่ ก็มีกฎอยู่แค่ 3 ข้อ หนึ่งเสี่ยงมากหรือน้อยกว่าเดิม สองมันดีกว่าเดิม และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ธปท.หรือไม่ และสามจะทำได้หรือไม่ และทำอย่างไร

เมื่อหลักการเราเห็นตรงกัน ก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนที่จะศึกษาว่า ควรออกกฎเกณฑ์อย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง และเราก็ขีดเส้นกันแล้วว่า ห้ามยุ่งกับทุนซึ่งมีผู้เจตจำนงแสดงไว้ว่าเพื่อเป็นทุนสำรองเด็ดขาด ยกตัวอย่างเวลารัฐเวนคืนที่ดิน กฎหมายยังกำหนดเลยว่า ทำเฉพาะที่เป็นเจตนารมณ์ของการเวนคืน เช่นเดียวกัน เงินทุนใดที่ผู้บริจาคเข้ามาแสดงเจตจำนงชัดเจน ห้ามแตะเด็ดขาด ขีดเส้นใต้ไว้ ผมก็ลูกศิษย์เหมือนกัน

- วัตถุประสงค์หลักคือทำกองทุนเพื่อให้รัฐบาลกู้เงิน

ก็ เป็นเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งหมดเป็นหลักเกณฑ์ที่กำลังดูอยู่ แต่หลักการคิดว่ามีเงินส่วนเหลือแน่นอน สัดส่วนขนาดไหนผมก็ว่ามีพอสมควร แต่ไม่อยากพูดตัวเลข เขาก็ต้องไปดูหลักเกณฑ์กันก่อน

ขณะนี้เราเห็น แล้วว่าเวลากระทรวงการคลังต้องการจะลงทุนอะไร ก็ต้องไปกู้เวิลด์แบงก์ อย่างกรณีโครงการไทยเข้มแข็ง อย่างกระทรวงคมนาคม จะทำรถไฟก็ต้องกู้ The Overseas Economic Cooperation Fund (OECF) และถามว่าเราเอาเงินสำรองไปฝากไว้ที่เขา แล้วก็ทำเรื่องกู้เงินเขามาใช้ หลักการนี้เห็นแล้วว่า ไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องคงเงินทุนสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ส่วนหนึ่ง

ทีนี้ ธปท.บอกว่ากฎหมายกำหนดให้นำเงินไปฝากตรงนู้น ถ้าเห็นตรงกันว่าฝากตรงนู้นจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกวัน เราก็ถามว่าทำไมไม่ออกพันธบัตรเป็นของเรา แทนที่จะไปกู้ต่างประเทศ ธปท.ก็มาถือพันธบัตรของไทยเองได้หรือไม่ ก็ต้องมาดูว่าหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร ไม่ใช่กู้เพื่อไปจ่ายเงินเดือนรัฐ แบบนี้ทำไม่ได้ แต่กู้เพื่อการลงทุนและเห็นผลตอบแทนชัดเจนก็ให้ไปกำหนดซะให้เรียบร้อย

- กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จพร้อมกับการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้น

การ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เราไม่ได้ใช้เงินในปีเดียวทั้งหมด กว่าจะเริ่มโครงการก็ปี 2558 และผมว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะมีความคืบหน้า ก่อนที่ผมจะหมดวาระนะในอีก 1 ปี 10 เดือนนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อำพน บนสังเวียน แบงก์ชาติ ไม่อิงการเมือง ลุยแผน ขับเคลื่อนศก.

view