สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชงตั้งศาลจราจรให้ใบสั่งไม่เสียค่าปรับเจอดี

จาก โพสต์ทูเดย์

ชงตั้งศาลจราจรให้ใบสั่งไม่เสียค่าปรับเจอดี!

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

นับเป็นแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์มากโข เมื่อ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ที่รับผิดชอบงานด้านจราจรเมืองกรุง มีแนวคิดพัฒนาแก้ไขระบบการจราจร ปี 2557 โดยเฉพาะประเด็นการตั้งศาลจราจรขึ้นมา เพราะทุกวันนี้ “ผู้ขับขี่” เริ่มจะไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยอมไปเสียค่าปรับตามใบสั่ง ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งศาลเพื่อตัดสินคดีจราจรเป็นการเฉพาะ

แนวคิดดังกล่าวมาพร้อมความเห็นและคำถามต่างๆ ในสังคมว่าจะทำได้จริงหรือ ในเมื่อตำรวจก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญของการจราจร ทั้งการเรียกรับผลประโยชน์ มีเบี้ยไบ้รายทาง

เจอคำถามที่เป็นแรงสะท้อนกลับมา การชี้แจง เพื่อให้สังคมเข้าใจคงหนีไม่พ้นเจ้าของแนวคิด โดย พล.ต.ต.อดุลย์ ยืนยันหนักแน่นว่า “ศาลจราจรกรุงเทพมหานคร” เป็นแนวคิดที่ดี และต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมให้ได้ในเร็ววันนี้

“เพราะผู้ขับขี่ทุกวันนี้ไม่กลัวตำรวจ แต่กลัวศาลมากกว่า อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายจราจรของตำรวจมีความอ่อนแอมาก เมื่อคนไม่กลัวทุกอย่างก็ไร้วินัย อีกอย่างโทษของ พ.ร.บ.จราจรทางบกมันน้อย คนไม่กลัว” พล.ต.ต.อดุลย์ เล่าถึงที่มาของเหตุผลที่จำเป็นต้องมีศาลจราจร พร้อมชูตัวเลขว่า ทุกวันนี้หลังออกใบสั่งไปแล้ว มีคนมาเสียค่าปรับเพียงแค่ 25% ของจำนวนใบสั่งทั้งหมด ส่วนที่เหลือไร้ความสนใจ

พล.ต.ต.อดุลย์ บอกอีกว่า หากมีศาลจราจรเมื่อมีการออกใบสั่งผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรแล้ว ก็จะเปิดช่องทางให้ไปชำระค่าปรับได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสแห่งต่างๆ ทั้งไปรษณีย์ หรือร้านสะดวกซื้อ ภายในกรอบระยะเวลา 7 วัน หากเกินกำหนด นั่นแสดงถึงว่าผู้กระทำผิดปล่อยปละละเลย ตำรวจก็จะส่งเรื่องไปศาลจราจรเพื่อเรียกตัวมาปรับให้หนักกว่าเดิม รวมถึงต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วย

“เช่น ปรับ 300 บาท แต่ไม่ยอมมาจ่าย ก็ต้อง ขึ้นศาลจราจรทันที และต้องเสียค่าปรับเพิ่มประมาณ 1,000-2,000 บาท ส่วนคดีทางศาลจราจรก็จะคัดแยกเอง เช่น ขับรถชนคนตายก็ต้องเป็นคดีจราจร เพราะการขับรถถือว่าประมาท แต่หากตั้งใจไปชนก็ต้องเป็นคดีอาญา พยายามฆ่าไป การจัดการก็ไม่ยาก ก็ให้   ผู้พิพากษาศาลอาญามาทำหน้าที่ตัดสินศาลจราจรด้วย”

พล.ต.ต.อดุลย์ อธิบายอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมส่งแนวทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้พิจารณา คาดว่าหากมีการอนุมัติแล้วก็คงใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือนที่จะตั้งศาลจราจรได้ และเชื่อได้ว่ากระบวนการยุติธรรม หรือศาล ก็น่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะปัญหาจราจรจะลดน้อยลงและคนก็มีวินัยมากขึ้น เพราะเชื่อฟังศาล เกรงกลัวต่อศาล รวมถึงปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลายเหมือนลูกโซ่ เมื่อคนเคารพวินัยท้องถนน การจราจรก็จะดีตามมา

“มันต้องเล่นกันแบบนี้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าคนไทยเมื่อไปขับรถยังต่างประเทศวินัยดีเยี่ยมเลย กฎหมายบ้านเขาบอกห้ามอะไรคนไทยก็ปฏิบัติตามหมด แต่พอมาเมืองไทยวินัยดังกล่าวกลับหายไป ยิ่งฝ่าไฟแดงได้   ยิ่งเก่ง ยิ่งเกเรบนท้องถนนยิ่งดูเท่ ซึ่งเป็นความคิด   ที่ผิดๆ ดังนั้นตำรวจก็ต้องมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ สร้างวินัยให้คนกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น”

ความหวังของ พล.ต.ต.อดุลย์ หากมีศาลจราจรขึ้นมาได้จริงๆ กรุงเทพมหานครจะเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ได้ทำตาม ที่สำคัญจะลดภาพลักษณ์ตำรวจนอกรีดที่รีดไถออกไปได้ด้วย มีใบสั่งก็ต้องบันทึกเข้าระบบเพื่อให้เสียค่าปรับ จะไปฉีกทิ้งแล้วรับเงินโดยตรง  ก็ไม่ได้ อีกอย่างการบังคับใช้กฎหมายจราจรก็เข้มแข็งขึ้น มีความเป็นสากลเหมือนต่างประเทศ

ต้องจับตาดูว่าศาลจราจร จะมาเป็นไม้เด็ดเพื่อบังคับใช้ในสังคมกรุงเทพมหานครได้หรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลจราจร ใบสั่ง ไม่เสียค่าปรับ เจอดี

view