สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหา อีไอเอ อสังหาฯ ตรรก อยู่ที่ความถูกต้อง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ระยะนี้ได้ยินเสียงร้องเรียนจาก ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอนโดมิเนียม เข้ามาหลากหลายแง่มุม

นอกจากเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง ที่กลายเป็นประเด็น "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" อยู่หลายสัปดาห์ มาล่าสุดประเด็นร้องเรียนเปลี่ยนฟากมาเป็นฝั่งผู้ประกอบการบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญหาการทำตลาดหรือการขาย แต่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของขั้นตอนกฎหมาย

โดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องการยื่นขออนุญาต รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่วันนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าพัฒนาโครงการ เนื่องจากขั้นตอนการขออนุญาตอีไอเอ กลายเป็นปัจจัยที่ไม่อาจกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ จากปกติที่การยื่นทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะใช้เวลาตอบกรอบปกติคือ 45 วัน ควรจะได้คำตอบว่า ผ่านการอนุมัติ ซึ่งวิธีการที่ทำ มีผู้เกี่ยวข้องหน้าเดิมๆ ในขั้นตอนการขออนุญาตตามกฎหมายอยู่แล้ว คือ ผู้ประกอบการ - บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม - คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ผู้พิจารณาอนุมัติ

จาก 3 ภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการแต่ละรายก็ล้วนทำโครงการมาแล้วมากกว่า 1 โครงการทั้งสิ้น ถือเป็นคนหน้าเดิม ประสบการณ์เดิมในการทำเรื่องนี้ กลุ่มที่สองคือ บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาผู้ทำรายงานอีไอเอดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ว่ามีคุณสมบัติจัดทำรายงานอีไอเอดังกล่าวได้ เรียกว่าต้องมีไลเซ่นส์ การเป็นบริษัทผู้ทำรายงาน ซึ่งมีอยู่ราว 20 บริษัท มีจำนวนเท่านี้มาตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ยังคงไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอน 20 บริษัทนี้ย่อมต้องเป็น "ผู้เชี่ยวชาญการทำรายงานอีไอเอ" อยู่แล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเวลากว่า 10 ปีย่อมทำรายงานมานับไม่ถ้วน!... ดังนั้น เรื่องประสบการณ์แทบไม่ต้องถามถึง

2 กลุ่มแรกคือฝ่ายที่ต้องทำรายงาน เพื่อขออนุญาตจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาคที่ 3 ผู้พิจารณาและอนุมัติรายงานว่าผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการนี้มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลไปบ้าง ตามกรอบกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่กว่า 90% ยังคงเป็นบุคคลเดิม ดังนั้น ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการพิจารณาแบบรายงานอีไอเอ ย่อมมีมากที่สุดเช่นกัน

ในเมื่อ 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ เรื่องการจัดทำอีไอเอ และการพิจารณาอีไอเอ มาตลอดเวลามากกว่า 10 ปี แต่ทำไม จนถึงปัจจุบันจึงยังมีปัญหา ซ้ำรอยเดิมเรื่องความล่าช้าของการพิจารณา เพราะตรรกของการทำอะไรก็แล้วแต่ สำหรับผู้มีประสบการณ์ ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า อะไรทำได้ หรืออะไรทำไม่ได้

ทำไมฝ่ายผู้ทำรายงาน 2 กลุ่มแรก คือผู้ประกอบการอสังหาฯ และบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาฯ ในเมื่อรู้อยู่แล้วอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ แน่นอนย่อมเลือกทำให้สิ่งที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าในมุมคนทำธุรกิจ ไม่ต้องการให้งานสะดุดเรื่องเวลา เพราะนั่นหมายถึงความสูญเสียย่อมตามมา หากระยะเวลาที่กำหนดไว้ ไม่เป็นไปตามนั้น

ดังนั้น ตรรกของผู้ประกอบการและบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาฯ จึงน่าจะเป็นความพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เพื่อให้ผ่านการพิจารณาโดยเร็วที่สุด ไม่มีเหตุผลที่จะละเลยรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้งานใหญ่ต้องเสียหาย

ขณะที่ ตรรกของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก็มีจุดยืนว่าต้องพิจารณาทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ด้วยข้อกฎหมายบางข้อ ระบุให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ กลายเป็นมาตรฐานที่ไม่ใช่เส้นตรงหรือเปล่า? ทำให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบ เหมือน 20 ปีของการทำเรื่องนี้มา ไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ใดๆ เลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหา อีไอเออสังหาฯ ตรรก ความถูกต้อง

view