สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Regulators ทำงานไหม? ในช่วงของการ Shutdown

Regulators ทำงานไหม? ในช่วงของการ Shutdown

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงสัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา หลายท่านคงได้เห็นถึง ความล้มเหลวของการประนีประนอมในเรื่องงบประมาณของประเทศสหรัฐอเมริกา

ระหว่างพรรคเดโมเครตที่คุมทั้งทำเนียบขาว (White House) และเสียงข้างมากในสภาสูง (วุฒิสภา หรือ US House of Senate) กับ ทางฝั่งรีพับรีกันที่คุมเสียงข้างมากของสภาล่าง (ผู้แทน หรือ US House of Representative) ซึ่งตามกฎหมายที่โน่น (ที่ชื่อว่า Antideficiency Act) ได้ระบุไว้ว่า หากงบประมาณดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาฯ ออกมาได้ทัน Deadline หน่วยงานรัฐบาลกลางที่ไม่ได้มีการจัดเตรียมงบประมาณเอาไว้ ต้องมีการกำหนดแผนให้เจ้าหน้าที่บางส่วนอยู่ใน “สถานะหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน”

การกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Agent) หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า “Shutdown Furlough” ครับ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา การ Shutdown Furlough ของ Federal Agent ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กว่า 800,000 คน ทั่วสหรัฐอเมริกา (จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 2.1 ล้านคน) ไม่ต้องมาทำงานและอดรับเงินเดือน

โดยเปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานที่ต้องหยุดงานไปตามกฎหมายลดหลั่นกันไป ตามความเหมาะสมของหน้าที่งาน อาทิ กระทรวงเกษตร (กลุ่มงาน Risk Management Agency) หยุดงาน 100% NASA หยุดไป 97% กระทรวงพาณิชย์หยุด 87% กระทรวงแรงงาน 82% กระทรวงมหาดไทย 81% กระทรวงการคลัง 80% กระทรวงพลังงาน 69% กระทรวงสาธารณสุข 52% กระทรวงกลาโหม 50% กระทรวงคมนาคม 33% สำนักงานประกันสังคม 29% กระทรวงยุติธรรม 15% หน่วยงาน Homeland Security 14% กระทรวงเกษตร (กลุ่มเรื่อง Food Safety and Inspection Service) 13% เป็นต้น

แต่หากเมื่อมาพิจารณาเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งภาครัฐส่วนใหญ่จะทำหน้าที่กำกับดูแล ที่เรียกกันโดยรวมว่า Financial Regulator นั้น กลับพบกับข้อเท็จจริงและตัวเลขที่ค่อนข้างสับสนและน่าสนใจอยู่บ้างไม่น้อยครับ

โดย Financial Regulator ที่ทุกคนต้องนึกถึง เพราะมีการพูดถึงกันอยู่ทุกวัน ก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ U.S. Federal Reserve System ปรากฏว่า Federal Reserve นี้ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Government Shutdown ในครั้งนี้เลยครับ แต่มิใช่ด้วยเหตุว่า Federal Reserve ได้ตั้งงบประมาณไว้หรือรายได้เป็นของตัวเองนะครับ แต่เนื่องจากว่า Federal Reserve นี้ไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ !!! แต่เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย (ตั้งขึ้นตาม Federal Reserve Act of 1913) จึงทำให้ไม่อยู่ภายในกฎหมาย Antideficiency Act

ถัดมาก็คือ U.S. Securities and Exchange Commission (หรือ U.S. SEC) หรือที่รู้จักในนามของ ก.ล.ต. สหรัฐ (ตั้งขึ้นตาม Securities Exchange Act of 1934 <http://en.wikipedia.org/wiki/Securities_Exchange_Act_of_1934>) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ ปรากฏ SEC ยังคงทำงานอย่างปกติยังไม่ shutdown ครับ (ยังทำงานกัน 100%) เนื่องจาก SEC มีเงินที่สำรองที่เก็บเอาไว้ แต่เนื่องจาก SEC มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่อยู่ภายใต้บังคับ Antideficiency Act ฉะนั้นหากเงินหมดเมื่อไรก็จะเริ่มมีการ Shutdown ครับ

ในขณะที่หน่วยงานน้องคนสุดท้องที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายล่วงหน้าอย่าง US Commodity Futures Trading Commission หรือที่เรียกว่า CFTC ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางภายใต้บังคับ Antideficiency Act กลับได้รับผลกระทบจากการ Shutdown Furlough นี้อย่างจัง โดยปัจจุบัน จากรายงานพบว่าเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่เพียง 28 คนจากเวลาปกติที่มีทั้งหมด 680 คน หรือเป็นสัดส่วนในการ Shutdown Furlough ถึงเกือบ 96 %
CFTC ตั้งขึ้นตาม Commodity Futures Trading Commission Act of 1974 <http://en.wikipedia.org/wiki/Commodity_Futures_Trading_Commission_Act_of_1974> ให้เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายล่วงหน้า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายกันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกตลาดในสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ส่วนยังเป็นสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐ หรือ USDA จึงทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่แรกเริ่มมา

แต่ระยะหลังเมื่อมีการพัฒนาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับสินค้านอกภาคเกษตรมากขึ้น เช่น Currency Futures หรือ FX Futures ในปี 1972 การกำกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในสหรัฐจึงปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

CFTC นี้ทำงานโดย Commissioner 5 คนที่แต่งตั้งจากประธานาธิบดีและต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา (เหมือนกับ SEC ) โดย Bart Chilton 1 ใน 5 ของ CFTC Commissioner เปิดเผยว่าปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ CFTC ประมาณ 50 คน อยู่หน้าจอเพื่อตรวจสอบการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ด้วยเหตุ Shutdown นี้ทำให้มีเจ้าหน้าที่เหลือทำหน้าที่นี้อยู่ประมาณ 5 คนเท่านั้น

ปัจจุบัน การซื้อขายล่วงหน้าในสหรัฐ ถือได้ว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นกลไกในการกำหนดราคาตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ ทองคำ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำตาล กาแฟ ฝ้าย และการที่ผู้กำกับดูแลอย่าง CFTC ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากๆ เนื่องจากหากไม่มีผู้คอยกำกับและตรวจสอบ หากมีการปั่นราคาสินค้าในระหว่างช่วง Shutdown นี้ ย่อมจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ผลิต/ผู้ใช้สินค้าโภคภัณฑ์ดังที่กล่าวมาทั่วโลก เป็นจำนวนไม่น่าต่ำกว่าพันล้านคน

และล่าสุดข้อมูลที่มีค่าอย่างมากสำหรับในหมู่ผู้ลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ที่นักลงทุนเรียกว่า Commitment of Traders หรือ COT ซึ่งปกติ CFTC จะเผยแพร่ทุกวันศุกร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะการถือครองของผู้ลงทุนรายใหญ่ในแต่ละกลุ่ม อาทิ ผู้ประกอบการ (Commercial) ว่ามีการถือครองสัญญาเป็นฝั่ง Short จำนวนเท่าไรและฝั่ง Long จำนวนเท่าไร ก็ไม่มีการรายงานออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 4 ต.ค. 2556)

ก็หวังว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองจะตกลงกันได้โดยเร็วนี้นะครับ เนื่องจากผลกระทบของการงัดข้อในครั้งนี้มีมากมายเหลือเกิน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Regulators ทำงานไหม Shutdown

view