สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวทางปฏิรูประบบบำนาญไทย

แนวทางปฏิรูประบบบำนาญไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ภาวะสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นกระแสที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

ภาวะสังคมผู้สูงวัยมีผลอย่างมากต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ระบบบำนาญเป็นเครื่องมือที่ทั่วโลกใช้เป็นเกราะป้องกันปัญหาความยากจนในผู้สูงวัย สร้างอำนาจซื้อและทำให้เกิดการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ระบบบำนาญจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดทอนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอันสืบเนื่องจากภาวะสังคมผู้สูงวัยได้

ธนาคารโลกในฐานะผู้นำความคิดเรื่องระบบบำนาญได้เสนอแนวคิดของลักษณะ ระบบบำนาญที่ดี ว่าเป็นระบบบำนาญที่มีความเพียงพอ (Adequacy) ครอบคลุม (Coverage) และยั่งยืน (Sustainability) ความเพียงพอหมายถึงว่าต้องให้อัตราผลประโยชน์หลังเกษียณที่สูงพอแก่การยังชีพและรักษาคุณภาพชีวิตหลังเกษียณไว้ได้ เป็นอัตราผลประโยชน์ที่ปรับตัวตามภาวะเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากอายุขัยหลังเกษียณที่อาจยืนยาวขึ้น

ธนาคารโลกได้แนะนำอัตราผลประโยชน์ทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ 70% หมายความว่า หากเรามีรายได้ก่อนเกษียณ 100 บาท เราควรจะมีรายได้หลังเกษียณที่ 70 บาท เป็นต้น เรื่องความครอบคลุมนี้ หมายถึงว่า ระบบบำนาญเข้าถึงประชากรของประเทศในอัตราส่วนมากเพียงใด ตามหลักสากล ประเทศที่มีระบบบำนาญดีควรมีการเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของสังคม

สำหรับเรื่องความยั่งยืนหมายความว่า เป็นระบบบำนาญที่ภาครัฐและหรือเอกชนสามารถแบกรับข้อผูกพันทางการเงินเพื่อการเกษียณได้และไม่เกินกำลัง เช่น ไม่ใช่สัญญาบำนาญจากรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลา กลับไม่มีเงินจะจ่ายจริง เป็นต้น

หากเราใช้เกณฑ์ของธนาคารโลกมาวัดความแข็งแรงของระบบบำนาญไทยแล้ว จะพบว่าน่าตกใจอยู่ไม่น้อย ระบบบำนาญไทยประกอบด้วยบำนาญภาคราชการ เอกชนและภาคประชาชนทั่วไป แต่ดูจะมีเพียงแรงงานประเภทข้าราชการเท่านั้นที่มีความเพียงพอ ครอบคลุมและยั่งยืน ส่วนระบบบำนาญภาคเอกชนและภาคประชาชนยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอีกมาก ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ บริษัท Allianz Global Investors บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลก ได้ประเมินความยั่งยืนของระบบบำนาญประเทศต่างๆ 44 ประเทศทั่วโลกด้วย Pension Sustainability Index และพบว่า ระบบบำนาญของไทยมีความจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปโดยด่วนเป็นอันดับที่สี่ของประเทศที่อยู่ภายใต้การจัดอันดับทั้งหมด ตามหลังประเทศกรีซ อินเดีย และจีน

ในมุมมองของกบข. ประเทศไทยควรดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญในสองเรื่องหลักคือ การจัดตั้งคณะกรรมการระบบบำนาญแห่งชาติ (National Social Security Committee) และการทำให้ทักษะการจัดการทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นวาระแห่งชาติ

อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนระบบการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และมีการกำกับดูแลที่ไม่เป็นเอกภาพ แต่ปัญหาที่ประเทศไทยประสบอยู่ก็เป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด การปฏิรูประบบบำนาญในต่างประเทศจึงเริ่มด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการระบบบำนาญแห่งชาติ (National Social Security Committee) ขึ้น คณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างกระทรวง ทบวงกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบบำนาญเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่สอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกัน คณะกรรมการฯจะทำหน้าที่ออกแบบโครงสร้างระบบบำนาญของประเทศ กำหนดนโยบายการบริหารจัดการกองทุน งานทะเบียน การวัดมูลค่าหลักทรัพย์ และอื่นๆเพื่อให้ระบบบำนาญมีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกเหนือจากการมีคณะกรรมการระบบบำนาญแห่งชาติแล้ว การให้ทักษะการจัดการทางการเงินแก่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญมาก และกำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนในทุกภาคส่วนมีความรู้ขั้นต้นในการบริหารจัดการเงินออมเพื่อการเกษียณได้ด้วยตนเอง ในกรณีตัวอย่างของประเทศนิวซีแลนด์ มีการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยแผนยุทธศาสตร์ห้าด้านทำให้ประชาชนเข้าใจความเสี่ยงของภาวะสังคมผู้สูงวัย (Longevity) เห็นความสำคัญของการออมและการลงทุนเพื่อความมั่นคงในยามเกษียณ

กบข. เชื่อว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปฏิรูประบบบำนาญ โดยระบบบำนาญที่มั่นคง แข็งแรงจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตหลังเกษียณให้แก่คนไทยในทุกภาคส่วน ท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่รุมเร้าไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี ปัจจัยท้าทายของการปฏิรูปนั้น อยู่ที่การได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ การดำเนินการปฏิรูปจะต้องเข้าใจองคาพยพทั้งหมดของการปฏิรูป และต้องดำเนินการอย่างมุ่งมั่นและเป็นขั้นเป็นตอนจึงจะสัมฤทธิผล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวทางปฏิรูป ระบบบำนาญไทย

view